กรดแอลจินิก (Alginic acid) หรือ กาวิสคอน (Gaviscon)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- กรดแอลจินิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- กรดแอลจินิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดแอลจินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดแอลจินิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กรดแอลจินิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดแอลจินิกอย่างไร?
- กรดแอลจินิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดแอลจินิกอย่างไร?
- กรดแอลจินิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) ยาอลัมมิล (Alum milk)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimentary system)
- โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคของกระเพาะอาหาร (Stomach disease)
บทนำ
กรดแอลจินิก (Alginic acid) ประกอบไปด้วยโมเลกุลของน้ำตาลมาจับเรียงตัวกันเป็นสายโซ่ยาว (Anionic polysaccharide) อาจเรียกในชื่ออื่นอีก เช่น แอลจิน (Algin) หรือแอลจิเนต (Alginate) พบได้มากในสาหร่ายสีน้ำตาล
กรดแอลจินิก ถูกนำมาแปรรูปเป็นเกลือของสารประกอบมีชื่อเรียกว่า โซเดียมแอลจิเนต(Sodium alginate) และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมทอผ้า และผลิตภัณฑ์ยา
จากคุณลักษณะที่กรดแอลจินิกสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเป็นเจลหรือฟิล์มบางๆ จึงถูกนำ มาผลิตเป็นยารักษาภาวะ/โรคกรดไหลย้อน ซึ่งในบ้านเราสามารถพบเห็นกรดแอลจินิกเป็นส่วน ผสมในรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำชนิดรับประทาน โดยมีส่วนผสมร่วมกับตัวยาลดกรดอื่น เช่น อะลู มิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) แมก นีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium carbonate) และโซเดียมคาร์บอเนต (Sodium carbonate) เป็นต้น ซึ่งยาชื่อการค้าที่มีกรดแอลจินิกเป็นส่วนประกอบ ที่เป็นที่รู้จักกันคือยากาวิสคอน (Gavis con)
อย่างไรก็ตาม ยาที่มีส่วนผสมของกรดแอลจินิก จัดอยู่ในทั้งหมวดยาอันตราย และยาไม่อันตราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนของบริษัทยา การรับประทานยาที่ถูกต้องตรงตามอาการของโรค จึงควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์
กรดแอลจินิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
กรดแอลจินิกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาและป้องกันภาวะ/โรคกรดไหลย้อน (GERD)
- บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากภาวะกรดไหลย้อน
กรดแอลจินิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กรดแอลจินิกมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยหลังรับประทานยาที่มีส่วนผสมของกรดแอลจินิก พบว่าจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างของกรดแอลจินิกเป็นเจลและปกคลุมบริเวณกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันมิให้กรดไหลย้อนกลับเข้ามาที่หลอดอาหาร ส่วนยาลดกรดที่ผสมร่วมกันจะทำหน้าที่ลดความเป็นกรดในน้ำย่อย จึงทำให้มีฤทธิ์รักษาอาการกรดไหลย้อนตามสรรพคุณ
กรดแอลจินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
กรดแอลจินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย :
- รูปแบบยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาลดกรด โดยมีส่วนประกอบของกรดแอลจินิก ขนาด 200 และ 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน
กรดแอลจินิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากสูตรตำรับยาที่มีส่วนผสมของกรดแอลจินิก มียาลดกรดที่แตกต่างกันดังนั้น ขนาดการรับประทานควรต้องเป็นไปตาม ฉลากยา/ เอกสารกำกับยาของแต่ละบริษัท แพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดการรับประทานได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม ทั้งนี้รวมถึงการใช้ยาเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดแอลจินิก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยากรดแอลจินิก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆหรืออาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากรดแอลจินิก สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
กรดแอลจินิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
กรดแอลจินิกที่เป็นส่วนประกอบของยาชนิดต่างๆ สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผล ข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการสะอึก (สะอึก2)
- ปวดท้อง
- แน่นท้อง
มีข้อควรระวังการใช้กรดแอลจินิกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้กรดแอลจินิก เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้กรดแอลจินิก
- ห้ามใช้ยานี้ระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณเกลือโซเดียม (อาหารเค็ม/เกลือแกง) ด้วย บางสูตรตำรับยา กรดแอลจินิกจะถูกเตรียมอยู่ในรูปสารประกอบของเกลือโซเดียม
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุก ชนิด (รวมกรดแอลจินิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้ คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กรดแอลจินิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยลักษณะโครงสร้างของกรดแอลจินิกที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาใดๆ แต่มักจะเกิดจากยาอื่นที่เป็นยาประกอบร่วมกับกรดแอลจินิก
อย่างไรก็ตามหากพบความผิดปกติ เช่น มีอาการเหมือนแพ้ยาของการรับประทานยาอื่นร่วมกับยาที่มีกรดแอลจินิกเป็นส่วนประกอบ ให้หยุดการใช้ยาและรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
ควรเก็บรักษากรดแอลจินิกอย่างไร
สามารถเก็บยาที่มีกรดแอลจินิกเป็นส่วนประกอบ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
กรดแอลจินิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาที่มีส่วนประกอบกรดแอลจินิก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Algycon (อัลไกคอน) | American Taiwan Biopharm |
Gaviscon (กาวิสคอน) | Reckitt Benckiser |
Gaviscon Dual Action | Reckitt Benckiser |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Alginic_acid [2020,Feb22]
2. http://www.mims.com/USA/drug/info/alginic%20acid/?type=full&mtype=generic#Dosage [2020,Feb22]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Algycon/?type=brief [2020,Feb22]
4. http://www.druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=37&drugName=Alginic%20Acid&type=12 [2020,Feb22]
5. http://www.drugs.com/inactive/alginic-acid-5.html [2020,Feb22]