กรดฟีโนไฟบริก (Fenofibric acid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากรดฟีโนไฟบริก (Fenofibric acid) เป็นยาที่นำมาใช้รักษาภาวะไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูง อีกทั้งช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดที่ดีที่ชื่อว่า “เฮชดีแอล (HDL cholesterol)” ให้กับร่างกาย การใช้ยานี้ต้องสอดคล้องกับการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ บางกรณีอาจใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยากลุ่มสแตติน (Statins) เพื่อป้องกันอาการของโรคหัวใจกับผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจอีกด้วย

ก่อนการใช้ยานี้แพทย์จะต้องซักถามข้อมูลประวัติทางสุขภาพ ประวัติการใช้ยา หรือการแพ้ยาต่างๆของผู้ป่วยซึ่งรวมกรดฟีโนไฟบริกด้วย ยังมีข้อห้ามใช้ที่ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจและต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบเสมอเมื่อมีการตรวจรักษาเช่น ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพเรื่องถุงน้ำดี ปัญหาของตับ เช่น มีภาวะตับแข็ง เป็นโรคไตขั้นรุนแรง หรือหากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ห้ามใช้ยากรดฟีโนไฟบริก หรือแม้แต่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบและใช้ปรับแนวทางการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้นเช่น ผู้ป่วยติดสุราหรือมีการดื่มสุราทุกวัน หรือเป็นผู้ที่บริโภคอาหารประเภทไขมันสูงอยู่เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดผิดปกติได้ทั้งสิ้น

หลังการตรวจคัดกรองผู้ป่วยและมีการสั่งจ่ายยากรดฟีโนไฟบริกแล้ว แพทย์มักจะกำกับให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • รับประทานยานี้ให้ตรงเวลา
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับสุขภาพสม่ำเสมอ
  • ควบคุมและจำกัดอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มระดับไขมันในเลือด
  • หากพบอาการทางกล้ามเนื้อเช่น ปวดกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่สูงอายุ ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดโดยเร็วเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • กรณีแพ้ยานี้ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/โรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษา หากระดับไขมันในเลือดเข้าสู่ภาวะปกติแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยานี้

สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของการใช้ยากรดฟีโนไฟบริกอาจจะเกิดหรือไม่เกิดกับผู้ป่วยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายและการตอบสนองต่อยาในแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันไป อาการข้างเคียงที่โดดเด่นและพบเห็นได้บ่อยหลังจากที่ใช้ยานี้ได้แก่ ปวดหลัง ปวดศีรษะ

อนึ่ง ยาลดไขมันในเลือดต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดรับประทาน หรือเพิ่มระยะเวลาในการรับประทาน หรือหาซื้อยามารับประทานเอง ด้วยอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาผิดขนาดจนอวัยวะภายในได้รับความเสียหายติดตามมา

กรดฟีโนไฟบริกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

กรดฟีโนไฟบริก

ยากรดฟีโนไฟบริกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง

กรดฟีโนไฟบริกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากรดฟีโนไฟบริกมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Lipoprotein lipase (เอนไซม์ย่อยไขมัน) และลดการผลิต Apoprotein C-III (สารที่เป็นส่วนประกอบของไขมัน) ส่งผลให้เกิดการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และส่งเสริมการเผาผลาญไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีคือ “แอลดีแอล (LDL cholesterol)” นอกจากนี้ยังเกิดการสร้างไขมันดีเช่น ”เฮชดีแอล(HDL cholesterol)” เพิ่มมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

กรดฟีโนไฟบริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากรดฟีโนไฟบริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 45, 67, 135 และ 200 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 35, 105 และ 160 มิลลิกรัม/เม็ด

กรดฟีโนไฟบริกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยากรดฟีโนไฟบริกมีขนาดรับประทานเช่น

ก.สำหรับภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Primary hyperlipidemia):

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 135 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหาร

ข.สำหรับภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 45 - 135 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหาร

*อนึ่ง

  • ในเด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตอาจเริ่มต้นที่ขนาด 35 มิลลิกรัมวันละครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดฟีโนไฟบริก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยากรดฟีโนไฟบริกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทุกชนิดตรงเวลารวมถึงยากรดฟีโนไฟบริก

หากลืมรับประทานยากรดฟีโนไฟบริกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

กรดฟีโนไฟบริกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากรดฟีโนไฟบริกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • อาการข้างเคียงที่พบบ่อย: เช่น ปวดตามร่างกาย หนาวสั่น ไอ อึดอัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หูอื้อ มีไข้ ปวดศีรษะ เสียงแหบ คัดจมูก เจ็บคอ
  • อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย: เช่น ปวดกระเพาะปัสสาวะ ตาพร่า ไอมีเสมหะ ท้องเสีย ปัสสาวะมีสีคล้ายเลือด ปวดแสบขณะถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปวดข้อ เบื่ออาหาร ปวดตามแขน- ขา ปวดกล้ามเนื้อ บางครั้งอาจเป็นตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน หายใจถี่ เหงื่อออกมาก แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้กรดฟีโนไฟบริกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากรดฟีโนไฟบริกเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามเคี้ยวหรือบดยานี้ก่อนรับประทาน ให้กลืนยานี้พร้อมน้ำดื่มสะอาด
  • หากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยานี้เช่น มีผื่นคัน หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะมี สีเข้มจัด ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดฟีโนไฟบริกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กรดฟีโนไฟบริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากรดฟีโนไฟบริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยาลดไขมัน Atorvastatin, Lovastatin, Simvastatin สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะตับวาย หรือบางกรณีเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายติดตามมา อาจทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยา Warfarin และ Dicumarol สามารถทำให้มีภาวะเลือดออกง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยาต้านไวรัสเช่น Zidovudine อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือมีภาวะกล้ามเนื้อลายสลายจนเป็นสาเหตุให้ไตวายและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากรดฟีโนไฟบริกร่วมกับยา Colchicine ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะของไตและระบบกล้ามเนื้อของร่างกายผิดปกติโดยเฉพาะกับผู้ป่วยสูงอายุ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษากรดฟีโนไฟบริกอย่างไร?

ควรเก็บยากรดฟีโนไฟบริกที่อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บ ยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กรดฟีโนไฟบริกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดฟีโนไฟบริกทีจำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Feno TG (ฟีโน ทีจี) Troikaa Parenterals Pvt. Ltd
Finate (ฟิเนท) Franco Indian Remedies
Fenacor (ฟีนาคอร์) Taj Pharmaceuticals Ltd
Fibricor (ไฟบริคอร์) Mutual Pharmaceutical Company, Inc.
Lipicard (ลิปิคาร์ด) USV Limited
MYLAN CF (มายแลน ซีเอฟ) Mylan Pharmaceuticals Inc.
Trilipix (ทริลิพิกซ์) Abbott Laboratories

บรรณานุกรม

1.http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/fenofibric-acid-oral-route/proper-use/drg-20072494 [2015,Sept26]
2.http://www.drugs.com/cdi/fenofibric-acid.html [2015,Sept26]
3.http://www.drugs.com/imprints/mylan-cf-135-mylan-cf-135-21291.html[2015,Sept26]
4.http://www.rxlist.com/fibricor-drug/clinical-pharmacology.htm [2015,Sept26]
5.http://www.drugs.com/drug-interactions/fenofibric-acid-index.html?filter=3&generic_only=[2015,Sept26]
6.http://www.drugs.com/drug-interactions/colcrys-with-fenofibric-acid-728-13960-3096-0.html [2015,Sept26]
7.http://www.drugs.com/imprints/a-45-13701.html [2015,Sept26]
8.http://www.drugs.com/imprints/ar788-15180.html [2015,Sept26]
9.http://www.medindia.net/drug-price/fenofibric-acid.htm [2015,Sept26]