กรดบอริก (Boric acid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 มิถุนายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- กรดบอริกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- กรดบอริกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดบอริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดบอริกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมป้ายตา/หยอดตาควรทำอย่างไร?
- กรดบอริกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดบอริกอย่างไร?
- กรดบอริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดบอริกอย่างไร?
- กรดบอริกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
บทนำ
ยากรดบอริก (Boric acid) หรือในชื่ออื่นๆอีก เช่น Hydrogen borate, Boracic acid, Orthoboric acid หรือ Acidum boricum กรดชนิดนี้พบมากตามธรรมชาติแถบพื้นที่ของเขตภู เขาไฟ อีกทั้งยังพบในน้ำเค็ม ในต้นพืช และผลของต้นพืช ลักษณะของกรดบอริกจะเป็นของ แข็งแบบผงผลึก การนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์จะมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภท ของผลิตภัณฑ์กล่าวคือ ความบริสุทธิ์และเปอร์เซ็นต์ของสิ่งปนเปื้อนในกรดบอริกที่นำไปใช้กับอุตสาหกรรมยา ยาฆ่าแมลง การปรับสภาพกรด - ด่างในสระว่ายน้ำ หรืองานเกี่ยวกับปฏิกรณ์นิว เคลียร์ จะมีความแตกต่างกันออกไป
ด้วยกรดบอริกมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรียได้ระดับหนึ่ง จึงเหมาะ ที่จะนำกรดบอริกมาทำเภสัชภัณฑ์ในรูปแบบของยาหยอดตาและยาล้างตา ในต่างประเทศจะมีรูปแบบของยาขี้ผึ้งป้ายตาเพิ่มขึ้นมา
กรณีที่ร่างกายได้รับกรดบอริกโดยการรับประทานหรือสูดดมเข้าทางเดินหายใจเป็นปริมาณ มาก จะก่อให้เกิดความผิดปกติของร่างกายเช่น เกิดการทำลายไต หรือเกิดภาวะไตวาย
นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองให้กรดบอริกกับสัตว์ทดลองพบว่า กรดชนิดนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลอง จึงถือเป็นข้อระวังที่จะใช้กรดนี้ในลักษณะ ของยารับประทาน
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุกรดบอริกลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และได้กำหนดวัตถุประสงค์การใช้เพื่อเป็นยาหยอดหูและยาล้างตา
การจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาของกรดบอริกควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำและคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
กรดบอริกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยากรดบอริกมีสรรพคุณดังนี้เช่น
- ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและของเชื้อราในรูปแบบของยาหยอดตาและยาป้ายตา
- ใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำยาล้างตา
กรดบอริกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดบอริกคือ ตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย โดยรบกวนกระบวนการทางชีวภาพของเชื้อโรค จนเชื้อโรคเสียสมดุลของการดำรงชีวิต และตายลงในที่สุด
กรดบอริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากรดบอริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น
- ยาขี้ผึ้งป้ายตาที่มีความเข้มข้น 10%
ข. ยาหยอดตาที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น
- Benzalkonium Cl 50% 0.2 มิลลิกรัม + Boric acid 13 มิลลิกรัม + Sodium borate 3.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- Phenylephrine hydrochloride 0.12% + Boric acid 1.2% + Sodium borate 0.2% + Sodium chloride 0.26%
ค. ยาล้างตาที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น
- Boric acid 2% + Sodium borate 0.5% + Allantoin 0.05% + Chlorobutanol 0.02% + Salicylic acid 0.025% + Zinc sulfate 0.004% + Witch hazel distilled 12.95%
- Boric acid 1.24 กรัม + Sodium borate 0.02 กรัม + Sodium chloride 0.29 กรัม /100 มิลลิลิตร
- Boric acid 2 กรัม + Sodium borate 0.5 กรัม + Chlorobutanol 20 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
ง. โลชั่นทารักษาการอักเสบของผิวหนังที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น Boric acid 0.8% + Phenol 4% + Resorcinol 8%
กรดบอริกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยากรดบอริกมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาขึ้นกับอาการของโรค ดังนั้นการใช้ยาและวิธีบริหารยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการบริหารยานี้สำหรับป้องกันและต่อต้านการติดเชื้อที่ตาในระดับที่มีความรุนแรงต่ำดังนี้เช่น
- ผู้ใหญ่: ใช้ขี้ผึ้งที่มีความเข้มข้นของกรดบอริก 10% ป้ายบริเวณด้านในของเปลือกตา/หนังตาส่วนล่างวันละ 1 - 2 ครั้ง
*อนึ่ง ความถี่และปริมาณการใช้ยากรดบอริกในการรักษาการติดเชื้อไม่รุนแรงที่ตาย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับตัวยาและปริมาณสารสำคัญของแต่ละสูตรตำรับยา
เด็ก: ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงขนาดยานี้ที่ใช้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ:
ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดบอริก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากรดบอริกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมป้ายตา/หยอดตาควรทำอย่างไร?
หากลืมป้ายตา/หยอดตาด้วยยากรดบอริก สามารถป้ายตา/หยอดตาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลา ใกล้เคียงกับการป้ายตา/หยอดตาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
กรดบอริกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากรดบอริกในรูปแบบของยาหยอดตา/ยาป้ายตา/ยาล้างตาสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประ สงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น อาจมีอาการแสบ คัน ระคายเคืองในตา การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน เกิดตาแดง และมีน้ำตาออกมาก
มีข้อควรระวังการใช้กรดบอริกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากรดบอริกดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้รับประทานทั้งในรูปแบบยาหยอดตา ยาล้างตา และขี้ผึ้งป้ายตา
- การใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- หากใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ ประเมินอาการโรคและการรักษาอีกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดบอริกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดัง นั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กรดบอริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากยากรดบอริกในรูปแบบที่เป็นยาหยอดตา/ล้างตา/ป้ายตา จัดเป็นยาใช้ภายนอกเฉพาะที่จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษากรดบอริกอย่างไร?
ควรเก็บยากรดบอริกภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
กรดบอริกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดบอริกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Castellani’s Paint (แคสเทสลานิส เพนท์) | ICM Pharma |
Eye Mo Plain (อาย โม เพลน) | GlaxoSmithKline |
Eye-Gene (อาย-จีน) | LF Asia |
Eye-Gene Soft (อาย-จีน ซอฟท์) | LF Asia |
Mano Eye Drops (มาโน อาย ดร็อปส์) | March Pharma |
Optal Olan's Eye Lotion (ออฟตัล โอลาน อาย โลชั่น) | Olan-Kemed |
Opplin (ออฟลิน) | Thai Nakorn Patana |
Opsil (ออฟซิล) | Actavis |
Optic (ออฟติก) | T P Drug |
Visotone (ไวโซโทน) | British Dispensary (L.P.) |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Boric_acid#Medical [2015,May30]
- https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=boric+acid [2015,May30]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=boric+acid [2015,May30]
- http://www.mims.com/USA/drug/info/boric%20acid/boric%20acid?type=full&mtype=generic [2015,May30]
- http://www.drugs.com/sfx/boric-acid-ophthalmic-side-effects.html [2015,May30]