หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน คุณสมบัติของศาสตราจารย์

หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน คุณสมบัติของศาสตราจารย์

ศาสตราจารย์ คือ ตำแหน่งวิชาการที่ใช้เรียกนำหน้าผู้ที่ทำหน้าที่ด้านการเรียนการสอนที่มีความรู้ ความชำนาญ มีผลงานวิจัย แต่งตำรา หนังสือ จนเป็นที่ยอมรับและผ่านเกณฑ์การประเมินของสถาบันด้านการศึกษา ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งใครได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์นั้น ต้องยอมรับว่ามีความสุดยอดด้านวิชาการ การวิจัย เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในแวดวงวิชาการ ซึ่งในแต่ละสถาบัน แต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีศาสตราจารย์ไม่มาก ใครเป็นศาสตราจารย์นั้น ต้องเรียกว่าสุดยอดมากๆ ช่วงหลังมานี้ผมเองมีข้อสังเกตว่ามีศาสตราจารย์มากขึ้นอย่างมาก ผมมาคิดว่าถ้าคนที่เป็นศาสตราจารย์นั้นต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง เลยใช้คำว่า PROFESSOR มาพิจารณา จึงได้ข้อสรุปว่า คุณสมบัติของศาสตราจารย์นั้น ประกอบด้วย

  1. P : Professional ผู้ที่ทำงานแบบมืออาชีพ และสร้างสรร ต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถดี ทำงานที่เป็นนวัตกรรม สร้างองค์ความรู้ที่ไม่มีใครคิดได้มาก่อน หรือเป็น pioneer ด้านนั้นๆ เลย มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการพัฒนา นำความก้าวหน้าสู่วงการด้านนั้น
  2. R : Responsibility ผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อครอบครัว ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ เพราะท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถที่จะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้อย่างมาก ดังนั้นถ้าศาสตราจารย์มีความรู้ ความสามารถสูง จึงต้องมีความรับผิดชอบอย่างดีมากต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และส่วนรวมด้วยเสมอ
  3. O : Organization ผู้ที่ทำเพื่อประโยชน์ขององค์กร และส่วนรวม ก็เพราะศาสตราจารย์นั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถ จึงต้องทำประโยชน์ให้กับองค์กร เพื่อที่จะได้นำพาองค์กรไปในทิศทางที่เหมาะสม ก่อให้เกิดประโยชน์ ก่อให้เกิดความสุข ความเจริญกับส่วนรวม
  4. F : Foundation ผู้สร้าง ริเริ่มสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศ ส่วนรวม ศาสตราจารย์นั้นต้องค้นพบและเป็นผู้สร้างสิ่งใหม่ให้กับประเทศหรือนานาชาติ
  5. E : Empowerment ผู้ส่งเสริมและถ่ายทอดความสามารถให้คนในสังคมนำไปใช้ได้ ศาสตราจารย์ต้องมีทักษะในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีนั้นต่อคนอื่นๆ ในองค์กร ในสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างวงกว้างและยั่งยืน
  6. S : Spiritual ผู้ที่ทำงานด้วยหัวใจ ทุ่มเท จริงใจ จิตวิญญาณการทำงานด้วยใจนำมากกว่าการทำงานเฉพาะตามข้อกำหนด เพราะการทำให้คนอื่นๆ ดู ให้คนอื่นๆ ได้เรียนนั้นย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการทำเพียงหน้าที่อย่างเดียว
  7. S : Social devote ผู้ที่มีจิตสาธารณะ ทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างมีความสุข การที่ศาสตราจารย์แต่ละท่านนั้นมีความรู้ ความสามารถที่สูงมาก การนำความรู้ ความสามารถที่มีนั้นมาทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมนั้นย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างดี ทำให้สังคมมีความสุข
  8. O : Opportunity ผู้ที่สร้างโอกาส และมองทุกปัญหาคือโอกาส ด้วยความรู้ ความสามารถของศาสตราจารย์ย่อมมองหาโอกาสได้ตลอดเวลา ได้ทุกสถานการณ์ สมารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส สร้างองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ดีต่อส่วนรวมได้
  9. R : Re-form ผู้ที่นำมาซึ่งการพัฒนา และปฏิรูป ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ต่อประเทศ เพราะศาสตราจารย์นั้นได้ค้นพบและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ย่อมนำสิ่งที่ค้นพบ นวัตกรรมต่างๆ มาพัฒนา ปฏิรูปสังคม ชุมชนให้มีการพัฒนาไปในทางที่เหมาะสม

 

ศาสตราจารย์จึงมิใช่เพียงแค่มีผลงานวิจัยจำนวนมากเผยแพร่ในวารสารนานาชาติ มีการแต่งตำรามากมายหลายเล่ม แต่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้เกิดกับสังคม ไม่มีจิตสาธารณะ ผมว่าท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ที่สมบูรณ์