กระดานสุขภาพ

ยาคุมฉุกเฉิน
Anonymous

20 พฤศจิกายน 2560 08:13:56 #1

อ่านเจอมาในกระทู้คะ มีหลายคนกินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง ทั้งๆที่กินภายใน6ชมบ้าง8ชมบ้าง การกินยาคุมฉุกเฉินแล้วจะไม่ท้อง ประสิทธิภาพประมาณ 85% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการกินและระยะของการตกไข่ คือถ้ากินยาคุมฉุกเฉินในช่วงทีไข่ยังไม่ตกก็จะปลอดภัยใช่มั้ยคะะ อยากทราบว่าทำไมกินยาคุมฉุกเฉิกแล้วยังท้องคะ
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 43 กก. ส่วนสูง: 150ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.11 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

23 พฤศจิกายน 2560 12:06:11 #2

เรียน คุณ abf65,

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาคุมกำเนิดชนิดฉุกเฉินว่าเป็นยาที่ใช้ต่อเมื่อไม่สามารถใช้การวางแผนคุมกำเนิดตามปกติได้ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือถุงยางอนามัยฉีกขาด รั่วซึม* ซึ่งเกิดได้ยากมากๆ เนื่องจากเป็นเครื่องมือแพทย์ต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพและความทนทานก่อนการวางจำหน่ายทุกล็อตการผลิต (จากการเลือกซื้อ - เล็กไปหรือใหญ่ไป / การเก็บรักษา - ไม่เก็บในที่ร้อน ชื้นหรือถูกกดทับเป็นเวลานาน / การเปิดซอง - ไม่ใช้ของมีคม เช่น มีด กรรไกร ฟันกัด / การสวมใส่ต้องสวมขณะอวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่ และบีบไล่อากาศตรงปลายกระเปาะเก็บอสุจิ เพื่อลดโอกาสที่ลมจะดันให้ถุงยางแตก เลือกใช้สารหล่อลื่นที่เป็นสูตรน้ำเท่านั้น ไม่ใช้ครีม โลชั่น วาสลีน เพราะจะทำให้ฉีกขาดได้ง่ายเมื่อมีการเสียดสี / การถอดออกต้องก่อนที่อวัยวะเพศชายจะอ่อนตัวลง และควรใช้กระดาษชำระพันรอบปลายโคนถุงยางอนามัยก่อนถอด)

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่มีการนำมาใช้แทนยาคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับชนิดปกติ คือ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ และ ปริมาณฮอร์โมนค่อนข้างสูง คือ 1500 ไมโครกรัม เทียบกับชนิดปกติ 50-75 ไมโครกรัม

กลไกการออกฤทธิ์ หลัก ๆ คือ 3 ประการ คือ

  • 1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียวเพ่ิมขึ้น เพื่อลดโอกาสที่อสุจิจะไปพบกับไข่
  • 2. ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวน้อยหรือช้าลง เพื่อลดโอกาสที่ไข่จะมาพบกับอสุจิ
  • 3. ทำให้เยื่อบุผนังมดลูกบางลง เพื่อให้ไม่เหมาะกับการมาฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไป (หากมีการผสมของไข่กับตัวอสุจิ)

การรับประทานยาที่ถูกต้อง ควรรับประทานยาทันทีหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไม่เกิน 48 ชั่่วโมง มีได้ 2 แบบ คือ

1. รับประทานยา 1 เม็ด หลังจากนั้นอีก 12 ชั่วโมงให้รับประทานยาเม็ดที่สอง

  • ข้อดี - อาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนน้อยกว่าวิธีที่สอง และหากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีกก่อนรับประทานยาเม็ดที่สอง ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มอีก
  • ข้อเสีย - มักลืมรับประทานยา หรือรับประทานยาล่าช้ากว่า 12 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้

2. รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที

  • ข้อดี - ระดับยาสูงขึ้นทันที และไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมรับประทานยา
  • ข้อเสีย - อาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน สูงกว่าวิธีแรก และหากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีกหลังจากรับประทานยา ให้ใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัย ไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิดเพิ่มอีก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา - เวียนศีรษะ มึนงง คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องอืด ประจำเดือนผิดปกติ (มาช้าหรือไม่มาตามปกติ) เลือดออกกะปริบกะปรอย

ข้อควรระวังพิเศษ - ห้ามรับประทานยาเกินกว่า 2 ชุดต่อเดือน เนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการตกเลิอดในช่องท้อง เหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก (จากกลไกที่ 2)

หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน และไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ การใช้ถุงยางอนามัยจะเหมาะสมมากกว่านะครับ เพราะนอกจากจะช่วยในการคุมกำเนิดแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด ไวรัสเริม ไวรัสตับอักเสบชนิด บี/ซี หรือโชคร้ายสุด คือ ไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด และยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV - human Papillomavirus) ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง หรือ หูดหงอนไก่ / มะเร็งองคชาติในเพศชาย

กลับมาที่คำถามของคุณ ตามกลไกการออกฤทธิ์ หากไม่ได้เป็นช่วงที่มีไข่ตก อัตราเสี่ยงก็จะน้อยลงครับ แต่เนื่องจากแต่ละบุคคลมีการทำงานของร่างกายแตกต่างกัน มากบ้าง น้อยบ้าง ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น อาจมีไข่ตกมากกว่า 1 ฟองต่อเดือน หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีปฏิกิริยาระหว่างกัน "ยาตีกัน" จนทำให้ลดระดับยาคุมกำเนิดได้ หากต้องการวางแผนคุมกำเนิด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าไม่ทันการ เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือเกิดอันตรายจากการใช้ยาไม่ถูกต้องได้

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

 

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

การคุมกำเนิด (Contraception)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์

ยาที่ลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม