กระดานสุขภาพ

มีเพศสัมพันธุ์หลังกินยาคุมฉุกเฉิน
Anonymous

10 พฤศจิกายน 2560 14:58:45 #1

อ่านในเว็บไซต์หนึ่งคะเค้าบอกว่า การมีเพศสัมพันธ์ซ้ำหลังกินยาคุมฉุกเฉิน ทำให้มีโอกาสท้องสุงกว่าเดิมอีก 4 เท่า จริงไหมคะ
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 42 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.48 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Oshi*****u

10 พฤศจิกายน 2560 20:14:50 #2

ไม่จริงครับ ไปได้ยินมาจากไหน ยาคุมจะไปทำให้ผนังช่องคลอดไม่เหมาะกับการตั้งครรณ์ครับ นั่นคือลดโอกาสการผสมพันธุ์ติด

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

16 พฤศจิกายน 2560 16:35:49 #3

เรียน คุณ abf65,

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก่อนนะครับ ว่าในทางการแพทย์นั้น ใช้ต่อเมื่อไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดตามปกติได้ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือ เมื่อถุงยางอนามัยฉีกขาด รั่วซึม (จากการใช้งานไม่ถูกต้อง เช่นเก็บในที่ร้อน ชื้น เก็บเป็นเวลานาน / เลือกขนาดไม่ถูกต้อง หลวมหรือคับเกินไป ไม่ได้บีบกระเปาะเก็บอสุจิที่ส่วนปลายของถุงยางอนามัย // ไม่ได้ถอดถุงยางก่อนที่อวัยวะเพศจะอ่อนตัว หรือไม่ได้ใช้กระดาษชำระพันรอบโคนก่อนถอดถุงยางออก)

ไม่แนะนำให้ใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับชนิดปกติ คือ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์) และมีฮอร์โมนค่อนข้างสูง คือ 1500 ไมโครกรัม (ชนิดปกติ 50-75 ไมโครกรัม)

กลไกการออกฤทธิ์ ประกอบด้วยหลัก ๆ 3 ประการ คือ

  • 1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียวขึ้น เพื่อลดโอกาสที่อสุจิจะผ่านเข้าไปพบกับอสุจิ
  • 2. ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวน้อยลงหรือช้าลง เพื่อลดโอกาสที่ไข่จะเดินทางมาพบกับตัวอสุจิ
  • 3. หรือหากมีการผสมของไข่กับอสุจิ ตัวยาก็จะทำให้เยื่อบุผนังมดลูกบางลง เพื่อลดโอกาสที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไปได้

วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง ควรรับประทานช้าสุด ไม่เกิน 48 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หากยิ่งเว้นช่วงนาน อัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

1. รับประทานยา 1 เม็ด ทันที จากนั้นอีก 12 ชั่วโมง รับประทานยาเม็ดที่สอง

  • ข้อดี - อาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียนจะน้อยกว่าวิธีที่ 2 และหากมีเพศสัมพันธ์อีกหลังจากรับประทานยาเม็ดแรก แต่ยังไม่ถึงเวลารับประทานยาเม็ดที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มอีก
  • ข้อเสีย - มักลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง หรืออาจรับประทานยาล่าช้าเกินกว่า 12 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์

2. รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที หลังจากมีเพศสัมพันธ์

  • ข้อดี - ไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมรับประทานยา และระดับยาในเลือดสูงขึ้นทันที
  • ข้อเสีย - เนื่องจากระดับยาในเลือดสูงขึ้นทันที จึงพบอาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนสูงกว่าวิธีแรก และหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ภายหลังรับประทานยาแล้ว ต้องใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัยแทน ไม่ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินชุดที่ 2 ซ้ำอีก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา - เวียนศีรษะ มึนงง คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง ประจำเดือนผิดปกติ (มาช้าหรือไม่มาตามปกติ) เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือน
ข้อควรระวังพิเศษ - ไม่ควรรับประทานยาเกินกว่า 2 ชุดต่อเดือน เนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์ข้อที่ 2 ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก จนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากตกเลือดในช่องท้องได้

จากข้อมูลที่ให้นั้น คงตอบไม่ได้มากว่าอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้น 4 เท่าหรือไม่ เท่าที่มีการเก็บข้อมูล คือ 8-15 เปอร์เซ็นต์เทียบกับอัตราปกติ เพราะมีหลายปัจจัยต้องพิจารณาร่วมด้วย เช่น รับประทานยาด้วยวิธีใด มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่กำลังมีไข่ตกหรือไม่ รับประทานยาได้อย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น

กรณีคุณยังไม่ได้แต่งงานและจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ อาจใช้การรับประทานยาคุมกำเนิด เพื่อการคุมกำเนิดและการปรับรอบประจำเดือน หรืออาจใช้การสวมถุงยางอนามัยจะเหมาะสมกว่านะครับ เพราะนอกจากช่วยเรื่องการคุมกำเนิดแล้วยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด เริม ตับอักเสบชนิดบี / ซี หรือหากโชคร้ายสุด คือไวรัส เอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด และยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง และหูดหงอนไก่ / มะเร็งองคชาติในเพศชายอีกด้วย

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าไม่ทันการ เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือเกิดอันตรายจากการใช้ยาได้

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

การคุมกำเนิด (Contraception)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์

ยาที่ลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม