กระดานสุขภาพ

ทานยาคุมฉุกเฉินติดต่อกัน2ครั้ง จะเป็นอันตรายกับตัวเรามากมั้ยคะ
Anonymous

16 พฤษภาคม 2558 10:26:47 #1

สอบถามเกี่ยวกันอันตรายจากยาคุมฉุกเฉินค่ะ คือประจำเดือนมาวันที่ 1-6 แล้ววันที่ 7 ได้ทานยาคุมฉุกเฉินไป (รอบนี้ไม่ได้บอกกับฝ่ายแฟนว่าทานไปเพราะฝ่ายเราเองที่กังวลเลยซื้อมาทานเอง) แล้ววันที่8 ก็เกิดเหตุฉุกเฉินเลยได้ทานยาคุมฉุกเฉินไปอีก ซึ่งได้ทานยาคุมฉุกเฉินติดต่อกันสองแผงในวันถัดกัน แล้ววันที่14 ก็มีประจำเดือนมาอีกค่ะ อยากทราบเกี่ยวกับประจำเดือนของเดือนหน้าว่าจะเลื่อนไปอีกนานมั้ยคะ และจะส่งผลต่อมดลูกของเรารึป่าวคะ

ทั้งหมดรวมสองครั้งนี้ทานไปแล้ว4ครั้งค่ะ จะมีอันตรายอะไรกับผลระยะยาวมั้ยค่ะ แล้วจะมีวิธีไหนที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการทานยาคุมฉุกเฉินบ้างคะ (เคยอ่านกระทู้เก่าที่คุณหมอเคยตอบ มีทานพวกแคลเซียมอะค่ะ)

 

ขอบคุณค่ะ

อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.37 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

21 พฤษภาคม 2558 02:45:05 #2

เรียน คุณ 3ab4a,

จากที่คุณให้ข้อมูลมา เลือดที่ออกมาในวันที่ 14 นั้น ไม่ใช่เลือดประจำเดือนตามปกตินะครับ เป็นเลือดที่เกิดจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเท่านั้น

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้น หลัก ๆมี 3 กลไก คือ

  1. ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ลดโอกาสที่ตัวอสุจิจะผ่านเข้าไปพบกับไข่
  2. ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวช้าลง ลดโอกาสที่ไข่จะเดินทางมาพบกับตัวอสุจิ
  3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาหรือบางกว่าปกติ เพื่อลดโอกาสที่ตัวอ่อน (หากมีการผสมของไข่กับอสุจิ) จะมาฝังตัวและเจริญเติบโตเป็นทารก

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนั้นทางการแพทย์ ใช้ต่อเมื่อเกิดเหตุที่ไม่สามารถใช้วิธีการคุมกำเนิดตามปกติได้ เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือเมื่อถุงยางอนามัยฉีกขาด รั่วซึม เนื่องจากการใช้ไม่ถูกต้อง

ไม่แนะนำให้ใช้แทนการคุมกำเนิดตามปกติ เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมนเพศสูง (1500 ไมโครกรัม) เทียบกับชนิดปกติ 50-75 ไมโครกรัม และมีอัตราเสี่ยงในการตั้งครรภ์ค่อนข้างสูง 8-15 เปอร์เซ็นต์

โดยทั่วไปการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 1 กล่องจะทำให้รอบประจำเดือนคลาดเคลื่อนจากเดิมประมาณ 7-14 วัน แต่เนื่องจากคุณรับประทานยา 2 กล่องติดกัน จึงคาดเดาได้ยากว่าจะคลาดเคลื่อนมากกว่าเดิมหรือไม่ หรือจะคลาดเคลื่อนเพียง 7-14 วัน เหมือนกับการรับประทานยาเพียง 1 กล่อง

จากข้อมูลของบริษัทยา ไม่ควรรับประทานยาเกิน 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการตกเลือดในช่องท้อง สาเหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก (กลไกข้อที่ 2) แต่จากการศึกษาวิจัย พบว่าสตรีที่ได้รับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มากเกินกว่า 3 ครั้ง ตลอดชีวิต จะมีอัตราเสี่ียงในการเกิดมะเร็งต่ออวัยวะต่าง ๆสูงกว่าสตรีที่ไม่เคยได้รับยาคุมกำเนิด หรือสตรีที่ได้รับยาคุมกำเนิดปกติ เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก/รังไข่ มะเร็งตับ เป็นต้น
หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน ไม่มีความจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ วิธีการสวมถุงยางอนามัยจะเหมาะสมมากกว่านะครับ นอกจากป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด เริม ตับอักเสบชนิดบีหรือซี หรือโชคร้ายสุด คือไวรัสเอชไอวีที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด

นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไวรัสเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นใหเกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง หรือหูดหงอนไก่/มะเร็งองคชาติในเพศชายด้วย

ส่วนวิธีการหลีกเลี่ยง ให้ปฏิบัติตามหลักพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งเรื่องอาหาร อากาศ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ขับถ่ายให้เป็นเวลา

  • อาหาร เน้นผักสด ผลไม้ ที่มีรสไม่หวานจัด "ผักครึ่งนึง อย่างอืนครึ่งนึง" โปรตีนเน้นชนิดย่อยง่าย ไขมันต่ำ เช่นปลาทะเล เนื้อไก่ ไม่เอาหนัง เน้นวิธีการนึ่ง ต้ม อบ มากกว่าทอด นอกจากนี้ปลาทะเลยังให้กรดไขมันจำเป็น โอเมก้า 3, 6 และ 9
  • อากาศ หากมีโอกาส ออกไปที่สวนสาธารณะ เดินหรือวิ่งจ็อกกิ้ง นอกจากช่วยให้ได้อากาศบริสุทธิ์ยังได้ออกกำลังกายอีกด้วย
  • ออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ห้าวันต่อสัปดาห์ นอกจากช่วยให้เลือดไหลเวียนดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง ยังช่วยขับของเสียออกทางเหงื่ออีกด้วย และช่วยให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข "เอนดอร์ฟิน" ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กะปรี้กะเปร่า
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรเข้านอนดึกเกินกว่า 23.00 น. เนื่องจากช่วงเวลา 01.00-02.00 น. จะเป็นช่วงที่ต่อมใต้สมองมีการหลั่งฮอร์โมน Growth Hormone ที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย รวมถึงคอลลาเจนและอีลาสตินที่ผิวด้วย ป้องกันไม่ให้เหี่ยวย่นง่าย หากนอนดึกบ่อย ๆจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด มีการหลั่งสารแห่งความเครียด "คอร์ติซอล" ที่เป็นฮอร์โมนจำพวกสเตียรอยด์ ที่มีคุณสมบัติเก็บกักสารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น น้ำตาล (ทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน) เกลือโซเดียม ที่จำเป็นต่อการนำกระแสประสาท แต่ทำให้เกิดการดึงน้ำ จึงทำให้ร่างกายบวมน้ำ ไขมันเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน แต่เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด หยุดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ อาจทำให้ภาวะประจำเดือนผิดปกติ หรือในบางรายพบว่าทำให้ไม่มีไข่ตก หรือไม่มีประจำเดือน แคลเซียม ทำให้เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น

ส่วนที่รับประทานยาไปแล้ว คงแก้ไขอะไรไม่ได้ ได้แต่ดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง "ก่อน" เริ่มต้นใช้ยา ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากบางครั้งปัญหาจากการใช้ยาที่เกิดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนถึงแก่ชีวิตได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

การคุมกำเนิด (Contraception) โดย แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา (สูตินรีแพทย์)