กระดานสุขภาพ

ยาคุมฉุกเฉิน
Anonymous

26 พฤศจิกายน 2557 12:34:43 #1

อยากทราบว่าถ้า กินยาคุมฉุกเฉิน จะมีสาเหตุให้ ประจำเดือนเลื่อนอยากทราบว่าเลื่อนกี่วันครับ

อายุ: 20 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 80 กก. ส่วนสูง: 180ซม. ดัชนีมวลกาย : 24.69 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

27 พฤศจิกายน 2557 16:27:42 #2

Dear Khun f02b6,

ก่อนอื่นขอแจ้งถึงข้อมูลเกี่ยวกับยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก่อนนะครับ

- ยานี้ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ เมื่อฉุกเฉินหรือเมื่อวิธีการคุมกำเนิดปกติไม่สามารถทำได้หรือผิดพลาด เช่น เมื่อถูกข่มขืน หรือเมื่อใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง ทำให้ปริแตกหรือฉีกขาด

- กลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์ มีหลัก ๆ 3 กลไกคือ

-- ทำให้มูกที่ปากช่องคลอด มีความข้นเหนียวเพิ่มมากขึ้น ลดโอกาสที่ตัวอสุจิจะเข้าไปผสมกับไข่

-- ทำให้ท่อนำไข่บีบตัวช้าลง ลดโอกาสที่ไข่จะมาพบกับตัวอสุจิ

-- ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีสภาพไม่เหมาะสมกับกับการฝังตัวของตัวอ่อน ถ้ามีการผสมของไข่กับตัวอสุจิ

- โอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ประมาณ 8-15 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่นิยมใช้เป็นทางเลือกแรกในการคุมกำเนิด รวมถึงมีผลเสียต่อสุขภาพของฝ่ายหญิงซึ่งจะกล่าวถึงในภายหลัง

- การรับประทานยาที่ถูกต้อง มีได้ 2 แบบ คือ

-- รับประทานยา 1 เม็ดทันที แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมงของการมีเพศสัมพันธ์ จากนั้นรับประทานยาอีก 1 เม็ด เว้นห่างจากยาเม็ดแรก 12 ชั่วโมง ข้อดีคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียนค่อนข้างน้อย แต่ข้อเสียคือมักลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง หรือรับประทานล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการตั้้งครรภ์

-- รับประทานยาพร้อมกัน 2 เม็ดทันที ภายใน 72 ชั่วโมงของการมีเพศสัมพันธ์ ข้อดีคือ ไม่ต้องกลัวลืมรับประทานยาเม็ดที่สอง ข้อเสีย มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดมวนแน่นท้องมากกว่าแบบแรก

- อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย : เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวน แน่นท้อง เลือดประจำเดือนมาผิดปกติ

-- โดยจะมีเลือดออกหลังจากรับประทานยาประมาณ 5-7 วัน แต่เป็นจากฤทธิ์ของตัวยา ไม่ใช่เลือดประจำเดือนตามปกติ

-- ซึ่งเลือดประจำเดือนมักจะมาช้ากว่ากำหนดเดิม ประมาณ 7-14 วัน หากเกินจากนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภาวะการตั้งครรภ์

- ข้อควรระวังพิเศษ : จากข้อมูลบริษัทยา ไม่ควรรับประทานยาเกิน 2 กล่องต่อเดือน เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท่อนำไข่) เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการตกเลือดในช่องท้อง แต่จากข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่าสตรีที่ได้รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน "มากเกินกว่า 3 ครั้ง ตลอดชีวิต" จะมีอัตราเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งต่ออวัยวะต่าง ๆมากกว่าสตรีที่ไม่เคยได้รับยาคุมกำเนิดมาก่อน หรือเคยรับประทานยาคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากตัวยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมน 1500 ไมโครกรัม เทียบกับยาคุมกำเนิดปกติ ประมาณ 50-75 ไมโครกรัมเท่านั้น
อวัยวะที่มักพบมะเร็งสูงกว่า เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก/รังไข่ หรือมะเร็งตับ เป็นต้น

- ข้อแนะนำเพิ่มเติม : หากคุณยังไม่ได้แต่งงาน และต้องการคุมกำเนิด ควรใช้วิธีการสวมถุงยางอนามัย เนื่องจากช่วยในการคุมกำเนิดแล้วยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัพมันธ์อีกด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส แผลริมอ่อน พยาธิในช่องคลอด หูดหงอนไก่ เริม ไวรัสตับอักเสบ บีหรือ ซี หรือที่เลวร้ายสุดคือ เอชไอวี ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด

นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไวรัส เอชพีวี ที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง และมะเร็งองคชาติในเพศชาย
หรือหากแต่งงานแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อคัดเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับแฟนของคุณ เนื่องจากในบางรายไม่สามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่ การคุมกำเนิด (Contraception) และ ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill) แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา สูตินรีแพทย์