กระดานสุขภาพ

ถุงยางอนามัยกับการตั้งครรภ์
Anonymous

24 มิถุนายน 2557 08:20:29 #1

ประจำเดือนสองเดือนล่าสุดมาวันที่ 7 พ.ค. 57 และ 31 พ.ค. 57 แต่โดยปกติประจำเดือนมาค่อนข้างตรงเวลาคือ ทุก 28-29 วัน มีในบางเดือนเท่านั้นที่มาช้าหรือเร็วกว่านิดหน่อย มีเพศสัมพันธ์วันที่ 14 มิ.ย.57 โดยใช้ถุงยางอนามัยก่อนสอดใส่ หลังจากหลั่งแล้วได้นำถุงยางอนามัยไปใส่น้ำก็ไม่พบว่ามีการรั่วหรือฉีกขาด 1 สัปดาห์หลังมีเพศสัมพันธ์มีอาการปวดท้องน้อยเป็นบางครั้ง เมื่อวานและวันนี้ (23และ24 มิ.ย.) มีเลือดออกจากช่องคลอดกระปิดกระปอยเป็นสีแดงจางๆ และปริมาณน้อย ซึ่งลักษณะไม่เหมือนกับเลือดประจำเดือนปกติ

เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน แต่เป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อน ตอนนี้กังวลว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ และมีโอกาสเท่าใดที่ใช้ถุงยางอนามัยแล้วยังมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้

อายุ: 24 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 62 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 25.81 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ.เกียรติศักดิ์ คงวัฒนกุล

(สูติ-นรีแพทย์)

25 มิถุนายน 2557 04:20:53 #2

หมอขอให้ข้อมูลตามนี้นะครับ หากทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี สวมใส่ก่อนสอดใส่อวัยวะเพศทุกครั้ง ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องตั้งครรภ์ครับ ส่วนคำว่า เลือดล้างหน้าเด็กนั้น (Implantation bleeding) ในทางการแพทย์คือ เลือดที่ออกจากการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฎิสนธิของอสุจิและไข่ บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ในช่วงหลังตกไข่ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ หลังประจำเดือนรอบสุดท้ายประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นเลือดออกจางๆ ปริมาณเล็กน้อย อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ผิดปกติอะไรครับ แต่ปัญหาอาจทำให้สับสนว่า เป็นเลือดประจำเดือนที่มาผิดปกติหรือไม่ ซึ่งการแยกอาจดูจากลักษณะเลือดออก หรือ อาจตรวจปัสสวะในช่วงวันที่ประจำเดือนขาดไปประมาณข่วง 4 สัปดาห์หลังประจำเดือนรอบสุดท้าย หากเป็นผลบวกหรือตั้งครรภ์ ก็ถือว่าเป็น เลือดล้างหน้าเด็กครับ

ส่วนลักษณะประจำเดือนที่ผิดปกตินั้น สาเหตุส่วนใหญ่ในช่วงอายุนี้มักเกิดจากมีสาเหตุบางประการที่ทำให้มีทำให้ไข่ไม่ตก หรือ ตกไม่สม่ำเสมอ เช่น ภาวะเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่เป็นเวลา นอนดึกติดต่อกัน น้ำหนักเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หรือ กำลังลดน้ำหนัก ออกกำลังกายแบบหักโหมมากเกินไป ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือ พร่องฮอร์โมน ทานยาหรือสารบางอย่างที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน เช่น ยาสตรีต่างๆ ยาขับเลือด เป็นต้นครับ หากสาเหตุต่างๆนี้หายไปหรือดีขึ้น อาการประจำเดือนก็จะกลับมาปกติ แต่หากไม่ได้มีสาเหตุอย่างที่หมอกล่าวไป และอาการกะปริดกะปรอยไม่ดีขึ้น มาไม่เป็นรอบก็ควรมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุจะดีกว่าครับ