กระดานสุขภาพ

ผมติดเชื้อ ไวรัส EBV
Sako*****e

25 กุมภาพันธ์ 2560 07:15:40 #1

ผมออยากรู้ว่าอันตรายไหมครับ หมอที่วินิจฉัยผมท่านไม่ได้บอกรายละเอียดมากมายนัก ท่านแนะนำให้หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ท แต่ผมอ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ผมอยากจะทราบว่า มีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน เพราะมันรักษาไม่หาย 

อายุ: 23 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 71 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 24.57 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

7 มีนาคม 2560 04:31:06 #2

การติดเชื้อไวรัส เอ็บสไตบาร์ หรือย่อว่า อีบีวี (Epstein-Barr virus: EBV) เป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง โดยที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปรากฏ หรือในบางคนอาจแสดงอาการของ “โรคโมโนนิวคลีโอซิส หรือ ย่อว่า โรคโมโน (Infectious mononucleosis หรือย่อว่า Mono) หรืออีกชื่อ คือ Kissing disease (โรคติดต่อจากการจูบปาก)” การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อไวรัสก็จะแอบแฝงอยู่กับบุคคลนั้นไปตลอดชีวิตโดยไม่ทำให้เกิดอาการ แต่มีโอกาสแพร่สู่คนอื่นได้เรื่อยๆ จากเชื้อที่ออกมาปนอยู่ในน้ำลาย การติดเชื้อชนิดนี้จึงเกิดขึ้นได้กว้างขวางทั่วโลก ในบางคนที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย เชื้ออาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆได้หลายโรค รวมถึงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกทั้งนี้ มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันโรคนี้ แต่ยังไม่เป็นที่แนะนำให้ใช้แพร่ หลาย

จากสถิติ พบการติดเชื้อชนิดนี้ได้ทั่วโลก การติดเชื้อครั้งแรกส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยพบว่าในเด็กอายุ 5 ปี มีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ถึง 50% และเมื่ออายุ 25 ปี พบ ว่ามีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ไปแล้ว 90-95% ยิ่งในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งการดูแลสุขอนามัยไม่ดี เช่น ประเทศในแอฟริกา มากกว่า 95% ของเด็กอายุ 3 ขวบ มีการติดเชื้อนี้แล้ว สำหรับการ ศึกษาในประเทศไทย ก็พบว่าเด็กอายุ 15 ปี มีการติดเชื้อแล้วมากกว่า 90%

พยาธิสภาพที่ทำให้เกิดโรคเมื่อติดเชื้อไวรัสอีบีวี คือ เมื่อได้รับเชื้อจากทางน้ำลายเป็นครั้งแรก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่เซลล์เยื่อบุผิวของเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก แล้วไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวน แล้วลุกลามเข้าสู่เซลล์เยื่อบุข้างเคียง และเพิ่มจำนวนต่อไปเรื่อยๆ และอาจเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดขาวของระบบน้ำเหลืองที่อยู่ใต้เยื่อบุช่องปาก รวมทั้งอาจเข้าสู่เซลล์ของต่อมน้ำลายได้ด้วย ซึ่งเมื่อแบ่งตัวได้ปริมาณมากแล้ว เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด เชื้อก็จะเดิน ทางต่อไปยัง ตับ ม้าม และเนื้อเยื่อระบบน้ำเหลืองต่างๆที่อยู่ทั่วๆร่างกาย รวมทั้งเข้าไปอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิด B lymphocyte ในการติดเชื้อครั้งแรกนี้เอง ที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคที่เรียกว่า “Infectious mononucleosis หรืออีกชื่อคือ โรค Mono/โรคโมโน หรืออีกชื่อคือ โรค Kissing disease (โรคติดต่อจากการจูบปาก)” แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การติดเชื้อมัก จะไม่มีอาการใดๆปรากฏ โดยเฉพาะหากการติดเชื้อครั้งแรกเกิดขึ้นในเด็ก
ทั้งนี้ ร่างกายจะพยายามกำจัดเชื้อไวรัส โดยการส่งเม็ดเลือดขาว ชนิด T lymphocyte มาทำลายเซลล์ที่มีเชื้อไวรัส ส่วนเชื้อไวรัสที่ยังไม่ถูกทำลาย จะหยุดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน แล้วเก็บเฉพาะสารพันธุกรรม (Gene/จีน/ยีน) ที่สำคัญบางตัวให้อยู่ในรูปลักษณะวงกลม ซึ่งเรียกว่า “Episome” ซึ่งจะเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด B lymphocyte หรือเซลล์เยื่อบุผิวในช่องปาก ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดขาว ชนิด T lymphocyte เข้าไปทำลายยีนของไวรัสได้ ไวรัสที่อยู่ในรูปแบบนี้เรียกว่าอยู่ใน “ระยะแอบแฝง (Latency)” เมื่อเซลล์ของร่างกายมีการแบ่งตัว เพื่อทดแทนเซลล์ที่ตายลง ยีนของไวรัสซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์เหล่านั้นก็จะถูกแบ่งตามไปด้วย ทำให้ยีนของไวรัส ยังคงอยู่ในร่างกายไปได้ตลอดชีวิตของเรา

เมื่อมีปัจจัยบางอย่าง ซึ่งยังไม่ทราบชัดเจน มากระตุ้นยีนของไวรัสที่อยู่ในระยะแอบแฝง ยีนจะเปลี่ยนรูปมาเป็นลักษณะแบบแท่ง และมีการสังเคราะห์ยีนชนิดต่างๆเพิ่มเติม ที่ใช้ในการสร้างตัวไวรัสแบบเต็มรูปขึ้นมา ซึ่งทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติที่จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ขึ้นมาอีก เมื่อไวรัสที่อยู่ในเซลล์เยื่อบุผิวแบ่งตัวได้ปริมาณมากแล้ว ก็จะออกมาอยู่ในน้ำลาย และทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้ต่อไป เรียกระยะที่ไวรัสกลับมามีการแบ่งตัวได้อีกว่า “Lytic repli cation” ผู้มีเชื้อที่อยู่ในระยะนี้ จะไม่มีอาการใดๆปรากฏ

หลังจากนั้น เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte ก็จะเข้ามาทำลายเซลล์ที่เชื้อไวรัสชนิดนี้อีกครั้งหนึ่ง และไวรัสก็จะเข้าสู่ระยะแอบแฝงต่อไป จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่มากระตุ้นอีก

ในผู้ที่ติดเชื้อบางราย ยีนของไวรัสที่อยู่ในระยะแอบแฝงเหล่านี้ มีโอกาสไปกระตุ้นเซลล์เลือดขาว ชนิด B lymphocyte หรือเซลล์เยื่อบุผิวที่มียีนของไวรัสอยู่นั้น เกิดการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนเนื้อเยื่อที่ปกตินั้นกลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก โดยต้องมีปัจจัยร่วมบางอย่างในการทำให้เกิด เช่น ในการเกิดเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Burkitt’s lymphoma ซึ่งพบบ่อยในทวีปแอฟริกานั้น พบว่า การติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับ สั่นชนิด Plasmodium falciparum เป็นปัจจัยร่วมหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีเชื้อไวรัส EBV และมีการติดเชื้อมาลาเรียจะต้องกลายเป็นมะเร็ง เพราะยังต้องมีปัจจัยร่วมอื่นๆอีก ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบชัดเจนทั้งหมด หรือตัวอย่างของมะเร็งโพรงหลังจมูก ซึ่งพบมากในคนเอเชีย โดยเฉพาะเชื้อชาติจีน พบว่าการมียีนบางอย่างคือ HLA-A2 หรือการบริโภคอาหารที่มีสารไนโตรซามีนเป็นประจำ (พบในเนื้อสัตว์หมักดอง เช่น ปลาเค็ม แหนม หมูยอ ปลาส้ม) จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น นอกจากนี้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้ม กันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น เป็นโรคพันธุกรรมที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด หรือในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯ (เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ) หากบุค คลเหล่านี้มีเชื้อไวรัส EBV อยู่ จะมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดต่างๆได้มากขึ้น

ดูแลตนเองและป้องกันการติดเชื้ออีบีวีได้โดย

เนื่องจากประชากรมากกว่า 90% ติดเชื้อและมีเชื้อ EBV อยู่ในร่างกายเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งคนคนหนึ่งสามารถแพร่เชื้อไวรัสได้เรื่อยๆตลอดชีวิต จึงเป็นการยากมากที่เราจะป้อง กันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ในทางกลับกัน เป็นการยากมากเช่นกันที่ผู้ที่เชื้อไวรัสอยู่ จะป้องกันไม่ให้แพร่สู่คนอื่น เนื่องจากผู้ที่เคยติดเชื้อส่วนใหญ่ก็มักไม่มีอาการ
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ EBV มีการพัฒนาอยู่หลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ไม่ค่อยดี และส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพแค่ป้องกันการเกิดโรคโมโน แต่ไม่สามารถป้องการติดเชื้อ EBV ได้ ดังนั้นในปัจจุบัน การให้วัคซีนส่วนใหญ่ยังจำกัดการให้เฉพาะบางคน เช่น ในผู้ป่วยโรค X-linked lymphoproliferative disease ที่หากป่วยเป็นโรคโมโน จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ หรือในผู้ป่วยที่จะต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เพื่อป้องกันการเกิดโรคLymphoproliferative disorder และกำลังมีการพิจารณาการให้ในกลุ่มประ ชากรที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูง เช่น ประชากรประเทศจีน ประชากรในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ วัค ซีนกำลังมีการพัฒนาต่อไป

ในผู้ที่จะได้รับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก การฉีดเม็ดเลือดชนิด T lymphocyte ที่มีฤทธิ์ต้านต่อเชื้อ EBV (EBV-specific cytotoxic T lymphocyte) ก่อนการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกให้กับผู้ป่วย (ฉีดทางหลอดเลือดดำ) พบว่าสามารถป้องกันการเกิดโรค Lymphoproliferative disease ได้ แต่สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ วิธีการนี้ไม่สามารถป้องกันได้