กระดานสุขภาพ

สอบถามเกี่ยวกับเรื่องยา
Anonymous

23 มิถุนายน 2556 09:21:08 #1

1.ยาปฏิชีวนะ ยาอักเสบ ย่าฆ่าเชื้อ แตกต่างกันยังไงค่ะ แล้วจะใช้ยาแต่ละประเภทเกียวกับโรคอะไรบ้าง แล้วยาทั้งสามประเภทนี้สามารถกินร่วมหรือกินหลังจากนมได้ไหม และยาอะไรบ้างที่ไม่ควรกิบควบคู่หรือหลังทานนม 2.ยาไอบูเฟนแตกต่างจากพาราเซตามอลยังไงค่ะ (ลูกสาวอายุ4ขวบ ล้มแก้มกระแทกพื้น คุณหมอจ่ายยาเป็นไอบูเฟนให้) แล้วในกรณีมีไข้ปกติที่ไม่สูงมาก ทานไอบูเฟนลดไข้แทนพาราเซตามอลก่อนมาพบแพทย์ได้ไหมค่ะ 3. ตอนลูกสาวอายุได้1ขวบ เคยทานยาcotrimoxazole แล้วมีผื่นขึ้น (ลืมไปว่าลูกสาวเคยมีอาการนี้ เพิ่งพบบัตรเฝ้าระวังการแพ้ยา แล้วก็จำไม่ได้ว่าน้องเคยไม่สบายเป็นอะไร) อยากทราบว่ายากลุ่มซัลฟานี้ รักษาเกี่ยวกับอาการใดบ้าง หลังจากนี้ต้องแจ้งก่อนจ่ายยาทุกครั้ง แม้จะไม่สบายเล็กน้อยก็ตามใช่ไหมค่ะ ุ
อายุ: 31 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 40 กก. ส่วนสูง: 156ซม. ดัชนีมวลกาย : 16.44 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

24 มิถุนายน 2556 17:17:06 #2

เรียน คุณ b1ae4,
ขอตอบเป็นข้อ ๆตามที่คุณสอบถามมานะครับ

1. ยาปฏิชีวนะ เป็นศัพท์ทางการแพทย์ครับ มาจากคำว่า ANTI (ต่อต้าน / ปฏิ) + BIOTIC (ชีวิต / ชีว) ถ้าเรียกง่าย ๆเพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย คือ ยาฆ่าเชื้อ

ตัวอย่างยา เช่น Penicillin (Amoxicillin, Augmentin, Cloxacillin), Sulfa (co-trimoxazole, Bactrim), Cephalosporin (Keflex, Distaclor)

ส่วนคำว่ายาแก้อักเสบ คนไทยมักเรียกสับสนกันอย่างมาก

ความหมายแรก คือ ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs เป็นยาที่ช่วยลดอาการปวด บวม แดง อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

ตัวอย่างยา เช่น diclofenac (Voltaren, Difelene), piroxicam (Feldene, Flamic), Ibuprofen (Brufen, Nurofen), mefenamic acid (Ponstan) หลาย ๆชื่อคุณคงพอคุ้นหูนะครับ

ความหมายที่สอง ซึ่งเรียกกันไม่ถูกต้องนัก คือ ยาแก้อักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ร่วมกับอาการอื่น เช่น มีไข้ ดังนั้นทางการแพทย์จึงมักเรียกให้แตกต่างกัน

ความหมายแรก ให้เรียกว่า ยาอักเสบ หรือ ยาต้านอักเสบ (ปวด, บวม) ส่วน ความหมายที่สอง ให้เรียกว่ายาอักเสบ ฆ่าเชื้อ เพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น

โดยทั่วไปหลักการคือไม่ควรรับประทานร่วมกับนมหรือยาลดกรดนะครับ เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยหรือตัวยาได้

  • ลดระดับยาในเลือด เนื่องจากนมไปทำให้ระดับความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลง ตัวยาละลายได้น้อยลง หรืออาจจับเป็นตะกอนเชิงซ้อน ไม่ละลาย เมื่อไม่ละลาย ก็จะไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
  • ยาบางรายการเคลือบพิเศษเพื่อให้ไปละลายที่ลำไส้ ก็จะละลายก่อนถึงจุดที่ตัวยาจะดูดซึม จะถูกกรดในกระเพาะอาหารย่อยให้เสียโครงสร้างไป จึงไม่ออกฤทธิ์ หรืออาจออกฤทธิ์ก่อนถึงจุดที่ต้องการ เช่น ยาระบาย bisacodyl เมื่อละลายก่อน ก็จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แทนที่จะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการขับถ่าย ซึ่งมีอีกมากมายหลายร้อยรายการนะครับ ตามที่เคยเรียนสมัยเด็กนะครับ เวลาถ้าได้รับสารพิษเข้าไป เรามักให้รับประทานนมหรือไข่ขาว เพื่อชะลอการดูดซึมของสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

สรุปง่าย ๆคือ หากจะดื่มนม ก็ควรจะเป็นหลังอาหาร และยาอื่น ๆอย่างน้อย 1 ชั่วโมงครับ ยกเว้นว่ามีคำแนะนำเฉพาะสำหรับยาบางรายการ สามารถสอบถามเภสัชกรประจำโรงพยาบาลหรือร้านยาได้ตลอดนะครับ

2. ยาไอบูโพรเฟน เป็นยาในกลุ่มต้านอักเสบ ที่เคยแจ้งไปก่อนหน้านี้นะครับ คุณสมบัติของยานอกจากช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวด แล้วยังช่วยยับยั้งสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบ บวม แดง

จึงช่วยลดอาการได้มากกว่าพาราเซตามอล ส่วนการนำไปใช้ลดไข้นั้น แนะนำว่าควรใช้เฉพาะเมื่อมีไข้สูงเท่านั้น ส่วนใหญ่คือเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรือภายหลังจากรับประทานพาราเซตามอลไป 1 ชั่วโมงไปแล้วไข้ยังไม่ลด ไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาตัวแรก เนื่องจากมีอาการไม่พึงประสงค์ด้านระคายเคืองทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แพ้ผื่นคัน ลมพิษ

โดยเฉพาะหากติดเชื้อไข้เลือดออก อาจทำให้อาการรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกที่อวัยวะภายในช่องท้องได้

หากจะรับประทานยาลดไข้ ควรเริ่มจากพาราเซตามอลก่อน ถ้าไม่มีอาการแพ้ ร่วมกับการเช็ดตัว ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ แม้ว่าเด็กจะปฏิเสธ เพื่อกันการเสียน้ำ

ส่วนการใช้ ibuprofen ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เพื่อแยกอาการไข้ทั่วไป กับไข้เลือดออก จึงจะใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัย

3. Co-trimoxazole ที่คุณถามมานั้น เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้ทั้งทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หรือทางเดินปัสสาวะ

หากเคยมีอาการผิดปกติจากการใช้ยา ไม่ว่าอาการเล็กน้อยเพียงใดต้องแจ้งให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ทราบเสมอ เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา เนื่องจากอาการอาจรุนแรงเพิ่มขึ้นจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ควรสอนให้น้องท่องชื่อยาให้ได้ รวมถึงพกบัตรเตือนเรื่องยาติดตัวไว้เสมอ กรณีไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เช่น หมดสติ หรือ ลิ้นบวม พูดไม่ได้

หากจำอาการไม่ได้ ลองกลับไปติดต่อเภสัชกรโรงพยาบาลที่น้องเคยไปรักษาอยู่นะครับ เพื่อขอบัตรเตือนเรื่องยาใบใหม่ที่มีข้อมูลครบถ้วนทดแทนใบเดิม

หวังว่าจะตอบคำถามของคุณนะครับ

 

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล