กระดานสุขภาพ

การกินยาคุมเพื่อปรับฮอร์โมนเมื่อเลิกกินแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมไหมคะ
Qwer*****x

3 เมษายน 2562 20:20:18 #1

คือหนูเป็นคนที่ประจำเดือนจะมาระหว่าง 28-39 วันแล้วแต่เดือนนั้นๆแล้วมีอาการปวดประจำเดือนทุกเดือนค่ะ เมื่อวานยาแก้ปวดหมดพอดีเลยไปซื้อที่ร้านขายยาแล้วได้มีโอกาสปรึกษาเภสัชกรเรื่องนี้ เขาก็แนะนำให้ทานยาคุมสัก3 เดือนอาการปวดประจำเดือนจะลดลงหรือหายไปและมาสม่ำเสมอค่ะ หนูได้ยาแบบ 21 เม็ดมาทาน(แผงแรกในชีวิต) หนูอยากทราบว่า หลังจากทานครบสามเดือนแล้วถ้าอาการทุกอย่างดีขึ้น เมื่อหนูเลิกทานแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนตอนก่อนทานยาไหมคะ คือหนูไม่ค่อยชอบทานยาเท่าไหร่เลยค่ะ ฝืนๆเอา ตอนแรกหนูกะจะไปพบสูตินรีแพทย์ค่ะเรื่องประจำเดือนแต่ได้พี่เภสัชแนะนำก่อนเลยไม่ได้ไป ปล.ในเม็ดยาคุมกำเนิดที่หนูได้มามี Drospirenone 3mg , Ethinylestrdiol 0.03 mg ยี่ห้อ Melodiaค่ะ
อายุ: 20 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 45 กก. ส่วนสูง: 154ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.97 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

16 เมษายน 2562 13:19:42 #2

เรียน คุณ Qwerzx,

คำถามของคุณตอบได้ 2 ประเด็นนะครับ คือ

1. ปรับให้เข้าสู่สมดุลได้ ทั้งนี้อาจต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนใหญ่แพทย์จะประเมินผลการตอบสนองต่อการรักษาภายใน 3 เดือนแรก หากเป็นความผิดปกติจากระบบการสร้างฮอร์โมนเพศ อาการมักจะดีขึ้นภายใน 3 เดือน ทั้งนี้อาจต้องรับประทานยาต่ออีก 3-6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการสร้างฮอร์โมนเพศปรับเข้าสู่สมดุล

2. หากรับประทานยาไปแล้ว อาการต่าง ๆไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้นภายใน 3 เดือนแรก ควรปรึกษานรีแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป ในบางรายการรับประทานยาอาจไม่ได้ผลเพียงพอ แพทย์จะมีตัวยาฉีดที่ช่วยปรับระบบการสร้างฮอร์โมนเพศได้ผลแน่นอนมากขึ้น

ทั้งนี้หากผ่านช่วง 3 เดือนแรกไปแล้ว อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือมีเลือดประจำเดือนปริมาณมากขึ้นหรือสีดำคล้ำ ควรปรึกษานรีแพทย์ อาจต้องมีการตรวจทางอัลตร้าซาวด์ เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
นอกจากการรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อปรับฮอร์โมนเพศแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้วย เช่น

- การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลือกอาหารที่ดี มีประโยชน์ งดอาหารจำพวกปิ้งย่าง เนื่องจากเขม่าควันอาจส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศได้ หรืออาจกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ วันละอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ระบบเลือดไหลเวียนได้ดี เพิ่มสารเอนดอร์ฟิน ซึี่งช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังช่วยขับของเสียออกทางเหงื่อได้อีกด้วย

- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง และควรเข้านอนก่อนเวลา 23.00 น. เนื่องจากในช่วงที่ร่างกายหลับสนิท เวลาเที่ยงคืน-ตีสอง ต่อมใต้สมองจะมีการหลั่ง Growth Hormone ที่ช่วยเรื่องการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และช่วยเรื่องความทรงจำระยะยาว (long-term memory)

การอดนอนหรือนอนดึก จะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด ต่อมหมวกไตจะมีการสร้างคอร์ติซอลที่เป็นสารจำพวกสเตียรอยด์ ที่ส่งผลต่อระบบความทรงจำของสมอง ร่างกายมีการเก็บกักโซเดียมที่ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง มีการเก็บกักน้ำตาล เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน มีการดึงแคลเซียมออกจากกระดูก เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ร่างกายมีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้คอร์ติซอลยังส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์อีกด้วย มีทั้งไข่ไม่ตกตามรอบเดือน หรือกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมีการบีบตัวเพิ่มขึ้นได้

- ไม่ซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆมาใช้เอง โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดจะออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศในธรรมชาติ เช่น evening primrose oil เป็นต้น

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าเกินไป ไม่ทันเวลา เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome)
  • รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive)
  • รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
  • สูตินรีแพทย์