กระดานสุขภาพ

ทานยาคุมกำเนิด สามารถทานยาตัวอื่นร่วมได้มั้ย ?
Smil*****r

26 กุมภาพันธ์ 2561 04:34:57 #1

ทานยาคุมกำเนิด 21 เม็ด สามารถทานอาหารเสริมลดน้ำหนักได้มั้ยคะ ?

ตัวยาคุมจะทานช่วง 3 ทุ่ม ส่วนตัวอาหารเสริมจะทานช่วงก่อนอาหารเช้า ของทุกวัน มีผลกระทบมั้ยคะ  ?

อายุ: 25 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 55 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.48 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

2 มีนาคม 2561 02:51:41 #2


เรียน คุณ Smileyonger,

คงตอบได้ค่อนข้างยากนะครับ เนื่องจากไม่ทราบทั้งส่วนประกอบสำคัญ และปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้เพื่อลดน้ำหนัก

แต่หากตอบโดยรวม ก็ไม่แนะนำนะครับ เนื่องจากส่วนประกอบส่วนใหญ๋จะประกอบด้วยสารที่ใช้ลดการดูดซึมสารอาหาร และเร่งการขับถ่าย หรือในบางผลิตภัณฑ์ก็จะมีสารที่อ้างว่าเร่งการทำงานของเซลล์ร่างกาย

สารที่ใช้ลดการดูดซึมสารอาหาร ก็ต้องแยกอีกว่าเป็นสารที่ลดการย่อยสลายแป้ง หรือลดการดูดซึมสารอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล

สารที่ใช้ลดการดูดซึมสารอาหารจำพวก ไขมัน

สารที่ใช้เร่งการขับถ่าย เช่น มะขามแขก หรือพวกที่อ้างว่าเร่งการทำงานของเซลล์ร่างกาย เช่น คาร์นิทีน ซึ่งสารนี้เป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายได้รับจากอาหารตามปกติอยู่แล้ว แต่จะทำงานได้ดี ก็ต้องมีการออกกำลังกายร่วมด้วย โดยตัวของสารเอง ไม่ได้มีฤทธิ์ในการเผาผลาญแคลอรีโดยตรง

สรุป คือ ไม่แนะนำให้ซื้อมารับประทานร่วมก้ัน เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุแล้ว ยังอาจลดการดูดซึมตัวยาคุมกำเนิดหรือวิตามินจำเป็นที่ละลายในไขมันด้วย เช่น วิตามิน เอ ดี อี หรือ เค จนอาจเกิดการขาดสารอาหารจำเป็นได้ และผลลัพธ์ยังขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลอีกด้วย

การควบคุมน้ำหนักที่ดี คือ การรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นผักสด ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เลือกแป้งจำพวกไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ หรือขนมปังโฮลวีต ฯ เลือกโปรตีนที่ดี มีประโยชน์ ย่อยง่าย ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา (หากเป็นปลาทะเล ก็จะได้รับโอเมก้า 3, 6 หรือ 9 อีกด้วย) เนื้อไก่ (ลอกหนังออก) ฯ เลือกการปรุงอาหาร เป็น ต้ม นึ่ง อบ แทนวิธีการทอด หรือปิ้งย่าง

ปรับมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 4-5 มื้อแทน การรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ๆครั้งเดียว อาจปรับเปลี่ยนภาชนะบรรจุอาหารให้เล็กลง เพื่อให้สมองค่อยๆมีการเรียนรู้ว่ารับประทานอาหารเพียงเท่านี้ก็อิ่มได้ ปรับสัดส่วนอาหารให้เป็น หนัก (มื้อ)เช้า - เบา (มื้อ) เที่ยง - เลี่ยง (มื้อ) เย็น และ เว้น (มื้อ) ดึก

หลีกเลี่ยงการไปงานเลี้ยงสังสรร หรือหากจำเป็นต้องไปร่วม ก็เลือกรับประทานอาหารเท่าที่อิ่ม ไม่ใช่รับประทานให้คุ้มเหมือนบุฟเฟต์

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกวิธีการเดินแทนการขึ้นรถ เลี่ยงการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน เพื่อเพิ่มการใช้พลังงาน หากไม่ได้เกินกว่า 3 ชั้น หรืออาจเลือกออกจากลิฟต์ก่อนถึงชั้นที่ต้องไป แล้วใช้การขึ้นบันไดเสริม นอกจากคุณจะได้เผาผลาญพลังงานแล้ว ยังช่วยลดโลกร้อน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
การออกกำลังกายยังเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เร่งการใช้พลังงาน และป้องกันไม่ให้ไขมันกลับเข้ามาแทรกเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังเร่งการกำจัดของเสียออกทางเหงื่ออีกด้วย

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และเข้านอนก่อนเวลา 23.00 น. เนื่องจากการอดนอน หรือนอนดึกจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล จากต่อมหมวกไต ทำให้เกิดการเก็บกลับของเกลือโซเดียม (ทำให้บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง) มีการเก็บน้ำตาลเป็นแป้งที่ตับหรือเป็นไขมันสะสมในร่างกาย มีการดึงแคลเซียมออกจากกระดูก ทำให้เสี่ยงต่อภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทลดลง ไม่มีการสร้างความทรงจำระยะยาว (long-term memory) นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ร่างกายหลับสนิท คือ ช่วง เที่ยงคืน ถึงตีสอง ต่อมใต้สมองจะมีการหลั่ง Growth Hormone ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ลดการทำลายของคอลลาเจนและอีลาสตินที่ชั้นใต้ผิวหนัง

ขับถ่ายเป็นประจำ สม่ำเสมอ เนื่องจากเมื่อท้องผูก ลำไส้จะมีการดูดกลับสารพิษที่ควรกำจัดออกจากร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

การปฏิบัติตามหลักสุขภาพ นอกจากจะได้ผลดี และยั่งยืน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

บางครั้งน้ำหนักอาจเท่าเดิม แต่จะรู้สึกว่าร่างกายกระชับ กระฉับกระเฉง ไม่ย้วย ไม่บวม อีกด้วย
หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที "ก่อน" การเริ่มต้นการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นใด ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือ อาจช้าไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
เป็นกำลังใจให้นะครับ

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ตัวอย่างยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม