กระดานสุขภาพ

ยาคุม??
Anonymous

31 สิงหาคม 2560 02:50:23 #1

อยากทานยาคลุมกำเนิดค่ะคุณหมอ ที่ไม่มีสิวขึ้นหรือน้ำหนักขึ้น ควรทานเเบบไหนดีคะ เเล้วมีวิธีการทานยังไงคะ จะมีผลข้างเคียงยังไงบ้างคะ เเล้วถ้าทานไปเเล้วประมาน6-7เดือนเเล้วหยุดทานไปฉีดยาคุมเเทนอย่างนี้ได้ไหมคะ จะมีขั้นตอนการหยุดกินยังไง หรือว่าอยากหยุดก็หยุดไปเลย กินนานๆจะมีผลเสียต่อร่างกายไหมคะ ขอบคุณค่ะ:)
อายุ: 18 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 55 กก. ส่วนสูง: 162ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.96 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Jisu*****u

31 สิงหาคม 2560 02:51:32 #2

เเละมีประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้ดีด้วยค่ะ
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

3 กันยายน 2560 18:03:39 #3

เรียน คุณ 22a9d,

คำถามนี้แนะนำให้สอบถามรายละเอียดได้จากศูนย์บริการทางการแพทย์ หรือคลินิกวางแผนครอบครัวใกล้บ้าน ขอให้ข้อมูลพอสังเขป

แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โดยที่ชนิดรับประทานมีชนิดฮอร์โมนปกติ และฮอร์โมนต่ำ มีทั้ืงชนิดฮอร์โมนรวมและแบบสามระดับ

การคัดเลือกยาคุมกำเนิด แพทย์จะพิจารณาจากเบื้องต้นว่ามีรูปร่างลักษณะแบบใด มีรูปแบบการมีประจำเดือนแบบไหน โดยที่

- ถ้ามีลักษณะที่เข้าได้กับผู้มีฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน)เด่นชัด เช่น รูปร่างอกเอวชัดเจน รูขุมขนเล็ก ผิวค่อนข้างแห้ง ขนเส้นเล็ก รูปแบบการมีประจำเดือน มีปริมาณมาก (อาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างวัน วันละหลายครั้ง) หรือมาหลายวัน เช่น 5-7 วัน แบบนี้แพทย์มักจะเลือกยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน (เพศชาย) เด่น เพื่อให้เกิดสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกาย

- ถ้ามีลักษณะที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเด่นชัด เช่น รูปร่างค่อนข้างตรง อกเอวไม่ชัดเจน รูขุมขนกว้าง ผิวมัน เป็นสิวง่าย ขนดก รูปแบบการมีประจำเดือนปริมาณไม่มาก และมาจำนวนวันน้อย เช่น 1-2 วัน แบบนี้จะเหมาะกับยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่น เพื่อให้เกิดสมดุลฮอร์โมนเพศ

ส่วนใหญ่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมักทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ หลีกเลี่ยงได้ด้วยการงดอาหารเค็มหรือมีโซเดียมสูง (น้ำปลา ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ผงชูรส ผงปรุงรส อาหารสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ) เนื่องจากโซเดียมจะทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและโรคไตเสื่อมด้วย

ส่วนฮอร์โมนโปรเจสติน จะมีการออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศชาย ทำให้กินจุ มีการสะสมของโปรตีนและไขมันเพิ่ม หลีกเลี่ยงได้ด้วยการควบคุมอาหาร เน้นผักสด ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เลือกแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ขนมปังมัลติเกรน ฯ

ปรับขนาดภาชนะบรรจุอาหารให้เล็กลง แบ่งเป็นวันละ 3-4 มื้อเล็กๆแทน การรับประทานให้อิ่มเพียงครั้งเดียว หลังหกโมงเย็นไม่ควรรับประทานอาหาร ควรปรับเป็นของว่าง เช่น นมถั่วเหลืองผสมเมล็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้ว หรือข้าวต้มใส ๆเน้นน้ำมากกว่าข้าว แทน

ยาฉีดคุมกำเนิดต้องมั่นใจว่าไม่มีการแพ้ฮอร์โมนในตัวยา เนื่องจากเมื่อฉีดเข้าไปแล้ว จะมีอายุ 1-3 เดือน ซึ่งแต่ละตัวยามีข้อดีข้อเสีย ต่างกัน โดยชนิด 1 เดือนจะมีประจำเดือนมาปกติเหมือนการรับประทานยาคุมกำเนิด แต่ชนิด 3 เดือน ประจำเดือนมักจะมาปริมาณน้อย หรือไม่มีประจำเดือน

การปรับเปลี่ยนไปมานั้น สามารถทำได้ตลอด เมื่อรับประทานยาหรือฉีดยาจนครบ

ส่วนการใช้ยาคุมกำเนิดไปนาน ๆ ไม่พบว่าส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพ กลับส่งผลดีในผู้ที่มีระบบฮอร์โมนเพศผิดปกติ หรือโรคที่ต้องมีการปรับฮอร์โมนเพศ และรอบประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอ ตามกำหนดครบยา ยกเว้นว่ามีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามใช้ เช่นมีก้อนเนื้องอกที่เต้านม มดลูกหรือรังไข่ โรคตับขั้นรุนแรง มีอาการไม่พีงประสงค์จากการใช้ยาคุมฯมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก หรือผื่นแพ้ เป็นต้น

แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี ก่อนตัดสินใจเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมต่อไป

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

 

แนะนำบทความดีๆเพื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อนตัดสินใจครับ

การคุมกำเนิด (Contraception)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)

แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์

ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
สูตินรีแพทย์