กระดานสุขภาพ

ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
Anonymous

18 มิถุนายน 2558 17:26:24 #1

ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) 100 mg

เห็น ร้านขายยาบางร้านบอกว่า ห้ามทานเกิน 7 วัน เพราะเป้นพิษกับตับ

แต่อยากจะทราบว่า

ถ้าเป็นเชื้อราทีเล็บมือ หรือ เล็บเท้า ทานอย่างไรครับ

ทานก่อน หรือ หลังอาหาร หรือว่าต้องทานพร้อมอาหารได้เลย

ผมเป็นเชื้อราที่เล็บเท้า ที่ ที่เขาจัดยามาให้ 3 แผง ให้ทานครบ 7 วัน ครั้งล่ะ 200 mg เช้า และเย็น

และ หยุดยาไป 21 วัน ทานนาน 6 เดือน

อันนี้ไม่ทราบว่าผมทานถูกวิะีหรือเปล่า และทานยาพร้อมกับอาหารเลย แต่ในบางครั้งผมก็ทานท้องว่าง

ก็เลยขอสอบถามเพื่อความแน่ใจครับ

ขอบคุณมากๆ ที่ตอบคำถามครับผม

 

อายุ: 31 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 90 กก. ส่วนสูง: 175ซม. ดัชนีมวลกาย : 29.39 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

23 มิถุนายน 2558 14:28:10 #2

เรียน คุณ f3027,

แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจให้แน่ใจว่าเป็นการติดเชื้อราหรือไม่ เนื่องจากต้องมีการรับประทานติดต่อหลายรอบเดือน จึงควรมีการตรวจร่างกายว่ามีข้อห้ามใช้หรือมีข้อควรระวังใดบ้าง เช่น มีภาวะการทำงานผิดปกติของตับหรือไต การทำงานของหัวใจและหลอดเลือด มียาอื่น ๆใช้ร่วมด้วยหรือไม่ ขอให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยาที่ถูกต้องนะครับ

- ตัวยานี้จะละลายได้ดีในภาวะเป็นกรด จึงควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที (ต้องเป็นอาหาร ไม่ใช่เพียงชา กาแฟ หรือขนมปัง 1-2 แผ่น) ควรรับประทานยาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันของทุกวัน (7 วันที่รับประทานยานั้น)

- ไม่รับประทานยาพร้อมกับนมหรือยาลดกรดเคลือบกระเพาะ หรือยาลดการสร้างกรด เนื่องจากจะทำให้กระเพาะอาหารมีความเป็นกรดลดลง การละลายของตัวยาจะน้อยลง จนร่างกายไม่สามารถดูดซึมยา เพื่อนำไปใช้ได้

- ไม่ซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆมาใช้ร่วมกัน โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา "ยาตีกัน" ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงชีวิตได้ เช่นยารักษาอาการปวดไมเกรน ยาปฏิชีวนะกลุ่มอีริทโธรมัยซิน ยาลดไขมันในเลือด หรือยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด โดยไม่ทราบสาเหตุ และเป็นติดต่อกันนาน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง หรือใจสั่น เต้นผิดจังหวะโดยไม่ทราบสาเหตุ

- นอกจากรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ต้องรักษาความสะอาดของเท้าด้วยนะครับ หมั่นเปลี่ยนถุงเท้าบ่อย ๆ อย่าให้อับชื้น ควรมีรองเท้าไว้สับเปลี่ยน เพื่อให้รองเท้าไม่อับชื้น

ส่วนระยะเวลาในการรักษาต้องขึ้นกับว่าเป็นที่มือ หรือเท้า หรือเป็นทั้งสองที่ เนื่องจากต้องรอจนกว่าเล็บที่งอกขึ้นมาใหม่จะไม่มีเชื้ออีก ส่วนใหญ่ที่เท้าจะใช้เวลานานกว่า เนื่องจากใช้เวลานานกว่าจะงอก และมักเป็นที่อับชื้น เหมาะกับการเจริญของเชื้อรา

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลต่าง ๆประกอบการให้คำอธิบายเพิ่มเติม ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ ซึ่งอาจช้าไม่ทันการ หรือข้อมูลไม่ครบถ้วน จนอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่ เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร