กระดานสุขภาพ

ปัญหาครอบครัวรุมเร้า
Anonymous

9 สิงหาคม 2561 16:25:56 #1

พ่อเป็นคนมี2เมีย ได้เป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ บอลลูน1 บายพาส2 จากนั้นมีการทะเลาะเรื่องเงินทองก่อนเดือนต.ค.กับลูกอีกเมียนึงและอีกเมียนึงและลูกไม่ได้มาหาและคุยกับเค้าอีกเลย

และเข้าร.พ.อีกรอบก่อนปีใหม่เพราะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพราะเส้นบอลลูนเหมือนจะหลุด สุดท้ายย้ายร.พ.ไปอีกร.พ.ได้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ออกร.พ.ตอนต้นปี 

ตอนนี้ยังเดินไม่ได้เพราะเอาเส้นเลือดขามาใช้ตอนบายพาส ปัจจุบันใช้วอกเกอร์เดินได้ไม่มากกับนั่งรถเข็น

ตอนนอนกลางคืนบางครั้งก็เป้นตะคริว ปวดขา นั่งนานไม่ได้ ทรมาณปวดขา

 

ล่าสุดกลับมาสูบบุหรี่แบบแอบๆ พอผมจับได้ก็ทำเนียนไม่มาพูดคุยด้วยผมก็เลยทำนิ่งใส่เหมือนกัน สุดท้ายมาบอกให้มานั่งคุยหลังผ่านไป1อาทิตย์ มาโกรธผมบอกว่า

"ไม่มีใครมาสั่งเค้าได้ไม่ใช่พ่อใช่แม่ของเค้า"

"เค้ามันเลวทำตามความหวังใครไม่ได้อยู่แล้วคนมันเลวมันกลับเป้นดีไม่ได้"

"เค้าไม่ต้องการเงินจากลูกเอามาให้ ให้มาเท่าไหร่เค้าจะคืนให้หมด" 

"ถ้าเค้าหายดีเค้าจะไม่อยู่บ้านเค้าจะไปไหนก็เรื่องของเค้า"

เค้ามองทุกอย่างในแง่ลบ จากกำลังใจที่แม่กับน้องให้มาบอกให้พยามหายต่างๆ มองเป้นภาพลบหมดจนตอนนี้ทุกคนหมดกำลังใจละครับ ไม่รู้จะแก้ยังไง นิสัยทุนเดิมเค้าเป็นคนชอบสั่งคนอื่น ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ครับ 

อายุ: 60 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 69 กก. ส่วนสูง: 156ซม. ดัชนีมวลกาย : 28.35 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ. อุดม เพชรสังหาร

(จิตแพทย์)

15 สิงหาคม 2561 13:01:21 #2

คุณกำลังเจอหนึ่งในวิกฤติชีวิตที่ทุกคนเกิดมาต้องเจอ นั่นคือการเจ็บป่วยร้ายแรงของบุพการี เข้าใจและเห็นใจครับและขอเป็นกำลังใจให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเรื้อรังเป็นภารกิจระยะยาวครับ คนที่ดูแลจำเป็นต้องมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ทีเดียวจึงจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้ดี โดยเฉพาะสุขภาพจิตของผู้ดูแล(ที่คนมักจะมองข้าม)นี่แหละที่สำคัญ เพราะคุณภาพของการดูแลผู้ป่วยสัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพจิตของผู้ดูแล ถ้าผู้ดูแลเริ่มท้อ เริ่มหมดไฟ(Burn Out) ผลเสียก็จะเกิดกับผู้ป่วยทันที

คนส่วนใหญ่ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นพ่อแม่หรือลูก มักจะทุ่มเทและทำทุกอย่างเพื่อผู้ป่วย เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยดีขึ้นหรือหายจากโรค โดย "ลืมนึกถึงตัวเอง" การลืมดูแลตนเอง ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเครียด กำลังหมดไฟจะทำให้เกิดผลเสีย 2 อย่างตามมาครับ

อย่างแรก คุณภาพการดูแลผู้ป่วยจะลดลง คนที่กำลังเครียด กำลังท้อมันก็หงุดหงิดง่าย ทนอะไรไม่ค่อยได้เป็นธรรมดา

อย่างที่สอง ซึ่งอันตรายมากนั่นก็คือ ผู้ดูแลจะเกิด "อาการเครียดเรื้อรัง" เป็นผลทำให้การทำงานของสารเทโลเมียร์ในร่างกายแย่ลง ผลที่ตามมาก็คือมันจะทำให้ผู้ดูแลแก่เร็วขึ้น เกิดโรคที่มากับความแก่ เช่นเบาหวาน โรคอ้วน ความดัน โรคหัวใจ ฯลฯ และที่สำคัญก็คือ มันจะทำให้ผู้ดูแลอายุสั้นลงด้วย

เพื่อป้องกันผลเสียทั้งสองอย่าง ผมจึงขอแนะนำดังนี้ครับ

1. ดูแลตนเอง ดูแลแม่ ๆ ดูแลพี่ ๆ น้อง ๆ พูดคุยกัน ระบายความทุกข์ใจ ความอึดอัดใจ ความเหนื่อยล้าจากการดูแลพ่อสู่กันฟัง รับฟังซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การทำแบบนี้จะทำให้คุณและพี่ ๆ น้อง ๆ รู้สึกเหนื่อยใจน้อยลง เครียดน้อยลง

2. ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของคุณพ่อ เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมันคือปฏิกิริยาของคนที่กำลังกลัว คนที่กำลังสูญเสียสิ่งที่ตัวเองเคยมีมาตลอดชีวิต ลองพิจารณาตามนี้ดูครับ

(2.1) การป่วยของคุณพ่อคุณครั้งนี้ไม่ธรรมดา การที่เส้นเลือดหัวใจตีบมันอาจทำให้เสียชีวิตเมื่อไหร่ก็ได้ ผมว่าคุณพ่อคุณทราบเรื่องนี้ดี และเป็นไปได้ว่าสิ่งนี้มันทำให้ท่านทั้งเครียดและกลัว

(2.2) คุณพ่อคุณเป็นคนที่ชอบ "ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้" สั่งคนอื่นควบคุมคนอื่นมาตลอด แต่ตอนนี้แม้แต่ตัวเองก็ยังต้องนั่งรถเข็น สั่งใครควบคุมใครไม่ได้อีกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือ "ความสูญเสียทางสถานะ" ของท่านครับ จากคนที่เคยกุมทุกอย่างไว้ในมือ ถึงตอนนี้แค่ช่วยตัวเองก็ยังยาก คนที่อยู่ในสภาวะแบบนี้จะมีอาการหงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า เบื่อหน่ายและท้อแท้กับชีวิตได้ครับ

การบ่นแบบประชด การไม่ใยดีกับความช่วยเหลือของลูก ๆ การบอกว่าถ้าหายจะไปอยู่คนเดียว การไม่ต้องการเป็นหนี้บุญคุญลูก ๆ ฯลฯ ผมมองว่าทั้งหมดคืออาการ "ปกป้องความสูญเสียทางสถานะของตัวเอง" ของท่านครับ ถ้าทุกคนทำความเข้าใจกับสภาพจิตใจของท่านในตอนนี้ได้ ก็จะสามารถรับฟังสิ่งที่ท่านบ่นออกมาได้อย่างเข้าใจและปราศจากอารมณ์ รวมทั้งสามารถทนกับพฤติกรรมของท่านได้มากขึ้น

(2.3) เท่าที่คุณเล่ามา ตอนนี้เมียคนหนึ่งกับลูกก็ได้เดินออกไปจากชีวิตของท่านอีก นี่คือความสูญเสียอีกอย่างหนึ่งของท่าน

ทั้ง 3 ประเด็นคือสิ่งทำให้คุณพ่อของคุณเป็นแบบนี้ ถ้าคุณเข้าใจ ลูก ๆ ทุกคนเข้าใจ ทุกคนจะมองออกเองครับว่าจะจัดการกับปัญหาของคุณพ่ออย่างไร และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ อย่าลืมดูและตัวเองด้วย

เอาใจช่วยนะครับ

นพ.อุดม เพชรสังหาร