กระดานสุขภาพ

สอึกมา 24ชม.ลัครับ
Anonymous

19 มีนาคม 2562 13:08:08 #1

ตามหัวข้อเลยครับ ไม่หายสักทีลองทุกวิธี กินน้ำไรหมดแล้ว ไม่หายเลยครับ ควรจะทำไงครับ ก่อนหน้าที่จะเป็น เวลาเดินเร็วๆจะจุกช่วงตรงกลางของข้างล่างซี่โครงไม่รู้เกี่ยวรึเปล่านะครับ ควรจะแก้ยังไงดีครับหมอ
อายุ: 22 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 70 กก. ส่วนสูง: 178ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.09 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

20 มีนาคม 2562 15:33:14 #2

สะอึก (Hiccup หรือ Hiccough หรือ Singultus) เป็นอาการไม่ใช่โรค เป็น อาการที่เกิด โดยฉับพลัน/เฉียบพลันจากการหดตัวทันทีของกะบังลมและตามมาด้วยการเคลื่อนปิดตัวเข้าหากันของทั้งสองข้างสายเสียงซ้ายและขวาอย่างรวดเร็วทันที ซึ่งการปิดตัวโดยเร็วของสายเสียงนี้จะทำให้เกิดเป็นเสียงสะอึก ที่ฝรั่งได้ยินว่า’Hic’จึงเป็นที่มาของคำว่า Hiccup/Hiccough

ทั้งนี้ สะอึกจะเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เกิดโดยอัตโนมัติ ร่างกายควบคุมอาการนี้ไม่ได้ ที่เรียกว่า รีเฟล็กซ์ (Reflex)

สะอึก โดยทั่วไป เป็นอาการเป็นๆหายๆ ซึ่งกลไกการเกิดที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากมีการรบกวนเส้นประสาทของกะบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซีโครง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยการหายใจเช่นเดียวกับกะบังลม จึงส่งผลให้กะบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครงนี้หดตัวทันที ส่งผลให้เกิดการหายใจเข้าทันที ตามด้วยทั้งสองสายเสียงปิดตามทันทีหลังหายใจเข้า จึงเกิดเป็นเสียงขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือ อาการสะอึก ซึ่งสามารถพบเกิดได้ประมาณ 4-60 ครั้งของการสะอึกต่อ 1 นาที

อาการสะอึก อาจเกิดโดยมีเพียงอาการสะอึก หรือ อาจร่วมกับรู้สึกแน่นเล็กน้อยในบริเวณ ลำคอ หน้าอก ไหล่ และ/หรือ ช่องท้อง นำก่อนเกิดสะอึก

โดยทั่วไป อาการสะอึกจะหายได้เอง ภายในระยะเวลาเป็น นาที หรือ เป็นชั่วโมง

แต่เมื่อสะอึกติดต่อกันนานเกิน 2 วันขึ้นไป เรียกว่า สะอึกต่อเนื่อง (Persistent hiccup) หรือ

ถ้านานเกินกว่า 2 เดือน เรียกว่า สะอึกที่ควบคุมรักษายาก (Intractable hiccup)

สะอึก เป็นอาการพบได้บ่อยมาก ตั้งแต่ทารกในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้บ่อยกว่า ในเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว แต่อาการจะพบน้อยลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งอาการสะอึกนี้ มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

โดยทั่วไป อาการสะอึกเป็นอาการปกติทั่วไป ไม่ได้เกิดจากโรค โดยมีสาเหตุ หรือ ปัจ จัยเสี่ยง ที่พบบ่อย เช่น

กินอิ่มมากเกินไป

ดื่มเครื่องดื่มพวกที่ทำให้เกิดแก๊ส (Carbonate)

ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สูบบุหรี่จัด

มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของกระเพาะอาหารทันที เช่น ดื่มเครื่องดื่มเย็นจัด หรือ กินอาหารร้อนจัด เมื่อท้องว่าง

กินอาหารรสจัด เช่น เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน จัด

หายใจเอาควันต่างๆเข้าไป

ผลข้างเคียงจากยา /อาการไม่พึงประสงค์จากยา บางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง

มีก้อนในบริเวณลำคอ เช่น คอพอก

อาจสัมพันธ์กับปัญหาทางจิตใจ/อารมณ์ เช่น ตื่นเต้น เครียด กังวล กลัว ซึมเศร้า

หลังการผ่าตัดช่องท้อง

โรคสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง

โรคที่ระคายเคืองต่อประสาทกะบังลม เช่น ปอดอักเสบ/ปอดบวม หรือเยื่อหุ้มปอดอักเสบ

อนึ่ง การสะอึกต่อเนื่อง หรือ อาการสะอึกที่ควบคุมรักษายาก มักเป็นอาการสะอึกที่เกิดจากโรค โดยโรคที่พบเป็นสาเหตุบ่อย เช่น

โรคทางสมองต่างๆ เช่น เนื้องอกสมอง โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ จากโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke และ โรคสมองอักเสบ

โรคคออักเสบ/คอหอยอักเสบเรื้อรัง

โรคกรดไหลย้อน

โรคไตวาย

โรคตับวาย

ภาวะหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือ ในช่องท้อง หรือ

หลังการใช้ยาสลบ

การรักษา

โดยทั่วไป อาการสะอึกจะหายได้เอง ไม่ต้องรักษา แต่มีวิธีการทางภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่อาจช่วยให้สะอึกหายเร็วขึ้น โดยเชื่อว่า วิธีการเหล่านี้สามารถขัดขวางรีเฟล็กซ์ที่ทำให้เกิดสะ อึกได้ ซึ่งที่ใช้กันบ่อย เช่น

การดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย /แอมโมเนียสปิริต

กินของเปรี้ยวจัด เช่น น้ำมะนาว 100%

การดื่มน้ำมากๆ

การกินน้ำตาลทรายเม็ดโดยไม่ดื่มน้ำตาม

การหายใจเข้าออกในถุงปิด เพื่อเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การกลั้นหายใจเป็นพักๆ

การทำให้ตกใจ หรือ การเบี่ยงเบนความสนใจ

แต่เมื่อเป็นการสะอึกที่ต่อเนื่องนานเกิน 2 วันขึ้นไป หรือเมื่อสะอึกจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะให้การรักษา เพราะการสะอึกจะก่อความรำคาญ และอาการทรมาน มีผลต่อ การกิน การดื่ม การพูด และการนอนหลับ ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

นอกจากนั้น คือ การรักษาบรรเทาอาการสะอึกด้วยการกินยา /ยาแก้สะอึก และบางครั้งอาจต้องเป็นการฉีดยาเมื่อการกินยาไม่ได้ผล เพื่อขัดขวางการทำงานของประสาทกะบังลม และประสาทกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครง

โดยยาที่ใช้ช่วยบันเทาอาการสะอึกมีหลายกลุ่ม ทั้งนี้การจะเลือกใช้ยากลุ่มใด ขึ้นกับ สาเหตุ ความรุนแรงของอาการ โรคประจำตัวของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น

กลุ่มยาแก้อาเจียน เช่น Chlorpromazine, Metoclopramide)

กลุ่มยากันชัก เช่น Valproic acid, Carbamazepine

กลุ่มยาใช้ทางวิสัญญี/การดมยาสลบ เช่น Ketamine, Lidocaine

ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น Baclofen, Orphenadrine)

ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน เช่น Morphine

ยารักษาทางจิตเวช เช่น Haloperidol

ยาคลายเครียด เช่น Chloral hydrate

ยาต้านเศร้า (เช่น Amitriptyline ) และ

ยากระตุ้นประสาท เช่น Ephedrine, Methylphenidate