กระดานสุขภาพ

ปวดตามข้อครับ
Anonymous

24 มกราคม 2561 13:30:00 #1

เริ่มแรกผมปวดที่ข้อเท้าซ้ายก่อน ไปพบแพทย์ก็ได้ยาประเภทแก้อักเสบแก้ปวดมาทาน ล่าสุดผมปวดหัวเข่าซ้าย โคนนิ้วชี้มือขวา โคนนิ้วกลางและนางมือซ้าย แล้วที่สังเกตได้วันนี้คือ บริเวณกล้ามเนื้อขาข้างซ้ายดูหดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด จากอาการเบื้องต้น ผมน่าจะเป็นโรคอะไรครับ
อายุ: 33 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 56 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.38 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

30 มกราคม 2561 08:56:04 #2

ปวดข้อ หรือ อาการปวดข้อ (Arthralgia หรือ Joint pain) ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่พบได้ในบางโรค เช่น อาการไข้จากร่างกายติดเชื้อ(เช่น ไข้หวัดใหญ่) หรือจากภาวะผิดปกติต่างๆของข้อ เช่น ข้อแพลงจากอุบัติเหตุ ข้อเสื่อมตามอายุ

ปวดข้อ เป็นอาการพบได้บ่อยอาการหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย การบันทึกเป็นสถิติจึงมักเป็นการบันทึกสาเหตุ ไม่บันทึกระบุอาการ เช่นสาเหตุ คือ ไข้หวัดใหญ่ หรือ อุบัติเหตุบริเวณข้อ เช่น ข้อหลุดจากถูกกระแทก เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่มีรายงานสถิติของอาการปวดข้อที่แน่ชัด

ปวดข้อ อาจเกิดเพียงข้อเดียว หรือเกิดพร้อมกันหลายๆข้อ ทั้งนี้ขึ้นกับ สาเหตุ

ปวดข้อ เป็นอาการที่พบได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

  • สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ มีได้หลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ
  • อุบัติเหตุต่อข้อ เช่น การล้ม อุบัติเหตุจากยานพาหนะ ซึ่งอาการปวดข้อจากสาเหตุนี้จะเกิดเฉพาะกับข้อที่ได้รับอุบัติเหตุเท่านั้น
  • การเสื่อมของข้อตามอายุ เช่น ข้อต่างๆเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งการปวดข้อจากสาเหตุนี้ มักปวดได้ทุกข้อทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ ปวดข้อเข่าจากข้อเข่าเสื่อม และปวดหลังจากกระดูกสันหลังเสื่อม
  • การงานอาชีพที่ใช้ข้อต่างๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่อง เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ งานเย็บปักถักร้อย ที่ส่งผลต่อการเจ็บ/ปวด ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ)
  • การเล่นกีฬาบางชนิดที่มีผลต่อการใช้ข้อซ้ำๆ ต่อเนื่อง เช่น โรคของข้อศอกจากเล่นเทนนิส(Tennis elbow) โรคของข้อเท้าจากการเล่นฟุตบอล(Footballer's Ankle)
  • ข้อ รับน้ำหนักมากเกินไป เช่น การยก/แบกของหนัก หรือในคนอ้วน
  • ข้ออักเสบติดเชื้อ เช่น มีแผลที่ผิวหนัง แล้วเชื้อลุกลามเข้าข้อที่อยู่ข้างเคียงผิวหนังส่วนเกิดแผลนั้น
  • เป็นอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการไข้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค(เช่น โรคหนองใน)
  • เป็นอาการหนึ่งของการอักเสบโดยไม่ติดเชื้อของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่รวมทั้งเนื้อเยื่อข้อ เช่น โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรคเอสแอลอี) โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม เป็นต้น
  • โรคกระดูกพรุน
  • โรคมะเร็งกระดูก หรือโรคมะเร็งอื่นๆที่แพร่กระจายมายังกระดูก เช่นจาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด(เช่น Isoniazid) ยาลดไขมันในเลือดบางชนิด(เช่น ยาSimvastatin) และยาต้านฮอร์โมนบางชนิดที่รักษาโรคมะเร็งเต้านม (เช่น ยา Anastrozole)

เมื่อปวดข้อ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

  • อาการปวดข้อเกิดภายหลังอุบัติเหตุ
  • ข้อบวมมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ข้อ บวม ปวด ที่เกิดทันที อาจมีแดง ร้อนร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เพราะอาจเกิดจากข้ออักเสบติดเชื้อ ที่ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์
  • ปวดข้อเรื้อรัง นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือ อาการปวดข้อไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองนาน 1-2 สัปดาห์
  • ปวดข้อร่วมกับมีอาการ ไข้ ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ
  • ปวดข้อร่วมกับมีผื่นขึ้น และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกาย โต คลำได้ และ/หรือมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย
  • อนึ่ง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน หลังเกิดอุบัติเหตุแล้วมีอาการปวดข้อที่เกิดร่วมกับ
  • มีข้อบวมอย่างรวดเร็ว เพราะแสดงว่าอาจมีเลือดออกในข้อ
  • เคลื่อนไหวข้อไม่ได้เลย
  • ผิวหนังใกล้ข้อฉีกขาด หรือ เห็นกระดูกข้อ
  • รูปร่างข้อผิดปกติ
  • ปวดข้อมาก

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการปวดข้อ คือ

  • พักการใช้ข้อที่เจ็บ โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากอุบัติเหตุ ควรหาทางดามไม่ให้ข้อที่ได้รับอุบัติเหตุเคลื่อนไหว เพราะอาจทำให้ข้อเคลื่อนได้ โดยเฉพาะเมื่อมีกระดูกหักร่วมด้วย
  • การได้รับอุบัติเหตุที่ข้อ เมื่อเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ควรประคบเย็นที่ข้อเพื่อ ลดอาการข้อบวม ลดภาวะเลือดออก และยังช่วยบรรเทาปวดข้อได้ด้วย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง “ประคบร้อน ประคบเย็น”)
  • ถ้าเป็นอาการปวดข้อเรื้อรัง การประคบอุ่น/ประคบร้อนที่ข้อที่ปวดครั้งละประมาณ 10 นาที วันละ 2-3 ครั้งอาจช่วยบรรเทาปวด ช่วยเพิ่มเลือดมาเลี้ยงข้อ อาจช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง “ประคบร้อน ประคบเย็น”)
  • นวดเบาๆบริเวณข้อที่ปวดสม่ำเสมอ
  • การพักใช้ข้อถาวร จะยิ่งเพิ่มการยึดติดของข้อ ดังนั้นจึงควรใช้ข้อ/เคลื่อนไหวข้อบ้าง เท่าที่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บ/ปวดข้อมากขึ้น
  • กินยาแก้ปวดพาราราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาแก้ปวดอื่นตามแพทย์แนะนำ
  • พยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนและมีน้ำหนักตัวเกิน เมื่อมีการปวดข้อในส่วนข้อที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า และข้อสะโพก
  • ควรออกกำลังกาย เคลื่อนไหวข้อที่ปวดเสมอ โดยให้เหมาะสมกับสุขภาพตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และ/หรือ นักกายภาพบำบัด
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดข้อ
  • ถ้าได้พบแพทย์แล้ว ควรปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ
Anonymous

28 กุมภาพันธ์ 2561 01:38:37 #3

ขอบคุณครับ