กระดานสุขภาพ

สอบถามค่ะ
Kond*****8

12 ธันวาคม 2560 18:59:01 #1

ตื่นเช้าๆจะมีอาการอยากอาเจียนอะค่ะ พอหิวๆก็เหมือนจะอยสกอาเจียนแต่พอลองเข้าห้องน้ำจะอาเจียนดู มันไม่ออกนะคะ แพ้อาการด้วยค่ะ น้ำมูกไหลตลอดอยากจมูกแห้งควรทำยังไงดีค่ะ ขอบคุณค่ะ
อายุ: 25 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 55 กก. ส่วนสูง: 163ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.70 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

14 ธันวาคม 2560 09:39:01 #2

จากประวัติอาการที่ปรึกษามาในเรื่องของการรู้สึกมีลมดันบริเวณช่องท้องของร่างกาย ไม่สามารถบอกสาเหตุได้ค่ะ แต่ อาจจะเป็นอาการของ อาหารไม่ย่อย หรือธาตุพิการ (Indigestion หรือ Dyspepsia) คือ อาการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้น อาจมีเพียงอาการเดียว หรือหลายๆอาการพร้อมกัน อาจเกิดในขณะกินอาหาร และ/หรือภายหลังกินอาหาร เช่น แน่นท้องอึดอัด เรอ แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ บางครั้งอาเจียน

อาการอาหารไม่ย่อยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 60%ของผู้มีอาการนี้ทั้งหมด คือ แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยการตรวจด้วยวิธีใดๆก็ตาม ซึ่งรวมทั้งการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่ง เรียกผู้ป่วยในกลุ่มนี้ว่า Functional dyspep sia

นอกจากนั้นที่พบเป็นสาเหตุของอาการนี้ คือ

  • จากโรคแผลเปบติค หรือ แผลในกระเพาะอาหาร พบได้ประมาณ 15-25%
  • โรคกรดไหลย้อน (ไหลกลับ) หรือโรคเกิร์ด (GERD, Gastroesophageal reflux) พบได้ประมาณ 5-15%
  • โรค มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งหลอดอาหาร พบได้ประมาณ น้อยกว่า 2%
  • นอกนั้น จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างประปราย เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอ่อนอัก เสบ โรคกระเพาะอาหารบีบตัวได้น้อย โรคขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น น้ำย่อยน้ำนม โรคเบาหวาน มีพยาธิลำไส้ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งตับอ่อนและจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAIDS, Non-steroidal anti-inflammatory drug)

ปัจจัยเสี่ยงต่ออาการอาหารไม่ย่อยกลุ่มที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน (Functional dyspepsia) ที่พบบ่อย คือ

  • กินอาหารปริมาณมากในแต่ละมื้อ ส่งผลให้น้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอที่จะย่อยอาหารได้
  • กินอาหารไขมันมาก อาหารทอด ผัด ที่ใช้น้ำมันมาก ซึ่งอาหารไขมันเป็นอาหารย่อยยาก ตกค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้นาน
  • กินอาหารรสจัด จึงก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้
  • กินเร็ว จึงเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาหารจึงย่อยยาก
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้
  • สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้ และกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น
  • ดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มโคล่า เครื่องดื่มชูกำลังบางชนิด เพราะกาเฟอีนกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น
  • กินอาหารกากใยอาหารสูง เพราะย่อยยาก และเป็นอาหารสร้างก๊าช/แก๊สในลำไส้
  • ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ เช่น เครียด กังวล เพราะส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากกว่าปกติ และ/หรือมีการบีบตัวเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารลำไส้ผิด ปกติ

อาการจากอาหารไม่ย่อยที่พบได้บ่อย คือ

  • แน่น อึดอัดท้อง โดยเฉพาะบริเวณกลางช่องท้องตอนบน มักมีอาการได้ตั้งแต่ใน ขณะกินอาหาร หรือหลังกินอาหารอิ่มแล้ว
  • ปวดท้อง มวนท้อง แต่อาการไม่มาก โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหาร (ช่องท้องบริเวณลิ้นปี่/ตรงกลางของช่องท้องตอนบน)
  • แสบ ร้อน บริเวณลิ้นปี่ และ/หรือ แสบร้อนกลางอก
  • อาจมีคลื่นไส้ และ/หรืออาเจียนได้
  • อาจมีท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ และ/หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ลำไส้มาก

แนวทางการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย คือ การรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาโรคแผลเปบติค หรือการปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น

แต่เมื่อแพทย์วินิจฉัยเป็นอาการอาหารไม่ย่อยจากการไม่ทราบสาเหตุ แนวทางการรักษา คือ การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง การให้ยาต่างๆ เช่น ยาลดกรด ยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ยาช่วยย่อยอาหาร และยาขับลม/ดูดซึมแก๊สในลำไส้ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

ถ้าอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือมีอาการเลวลง หรือ มีอาการผิดปกติอื่นๆ นอกเหนือไปจากอาการเดิม เช่น อุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด แพทย์มักแนะนำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่นอน รวมทั้งการวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคแผลเปบติค

โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis): อาการของโรคภูมิ แพ้ทางจมูกอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิดคือ

  • ชนิดแรกเป็นชนิดที่มีอาการเด่นทางน้ำมูก คือจะมีน้ำมูกใสไหล จาม คันจมูก
  • ชนิดที่สองมีอาการเด่นทางอาการคัดจมูกเป็นหลัก มักไม่มีน้ำมูกหรืออาการจาม
  • ชนิดที่สามจะมีอาการของ 2 ชนิดแรกรวมกัน คือมีทั้งน้ำมูกใสและอาการคัดจมูก
  • ส่วนชนิดสุดท้ายจะมีอาการที่วินิจฉัยยากถ้าผู้ตรวจไม่มีความชำนาญอาจวินิจฉัยผิดได้ กลุ่มนี้อาจมีอาการไอเรื้อรังหรือกระแอมซึ่งเกิดจากเสมหะไหลหรือซึมลงคอ อาจรู้สึกมีเสมหะติดคอเวลาเช้าได้ บางคนมีอาการปวดหัว/ปวดศีรษะเรื้อรัง นอนกรน หรือถอนหายใจบ่อยๆ ปากแห้ง บางคนมีอาการคันหัวตาโดยไม่มีอาการตาแดง อธิบายว่าเกิดจากการที่มีเยื่อจมูกบวมมากทำให้ท่อน้ำตาที่อยู่ติดๆกันอักเสบเกิดอาการคันที่หัวตาอย่างมาก

การวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้จากการซักประวัติทางการแพทย์อย่างละเอียดโดยเฉพาะประวัติโรค หรือมีอาการภูมิแพ้ภายในครอบครัว การสังเกตตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งสภาพลักษณะการทำงาน สภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ทำงาน การตรวจร่างกายบางอย่างถ้าพบก็จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคเช่น การมีขอบตาล่างบวมคล้ำ การตรวจภายในโพรงจมูกจะช่วยบอกถึงความรุนแรงของการอักเสบและอาจบอกถึงโรคในโพรงจมูกที่มีผลต่อการรักษาโรคภูมิแพ้ได้เช่น อาจพบการซีดหรือมีสีแดงจัดจากการอักเสบ

หลักการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีหลักการทั่วไปคือ

ควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้

ให้การรักษาด้วยยา

การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้ ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยพบว่า มักจะแพ้ไรฝุ่นฝุ่นบ้านเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ แมลงสาบ ละอองเกสรพืช และขนสัตว์ ถ้าทำได้แนะนำให้ทำการทดสอบผิวหนังในผู้เป็นโรคภูมิแพ้ทุกคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแพ้อะไร จะได้หลีกเลี่ยงได้ถูกต้องและยังใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาทำการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนอีกด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่ไม่ได้รับการทดสอบผิวหนัง หรือไม่สามารถทำการทดสอบได้ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ซึ่งที่พบบ่อยคือ

1. ไรฝุ่น

  • จัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมีพรม ตุ๊กตา และผ้าม่าน
  • ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาทีอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
  • คลุมที่นอน หมอน หมอนข้างด้วยผ้าใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษซึ่งสามารถกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นลอด ผ่านขึ้นมาได้

2. แมลงสาบ

  • ขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบโดยทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงหรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
  • ใช้ยาฆ่าแมลงสาบและกับดักแมลงสาบ

3. สัตว์เลี้ยง

  • ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขนเช่น สุนัข แมว นก กระต่าย
  • ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกบ้านและอาบน้ำให้ทุกสัปดาห์
  • ใช้เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องกรองอากาศ

4. เกสรหญ้า

  • ควรตัดหญ้าและวัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆเพื่อลดจำนวนเกสร
  • ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือแห้ง ไว้ในบ้าน
  • ในช่วงที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตูหน้าต่างและใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ
  • ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้าเพราะละอองเกสรจะปลิวมากช่วงตอนเย็น

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆที่อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ การออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็มีความสำคัญ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักมีอาการแย่ลงเมื่อมีภาวะเครียดและอดนอน ดังนั้นควรดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้เครียดมากและควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีมีอาการโรคหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย การพ่นยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกาย15 - 30 นาทีจะช่วยป้องกันการหอบระหว่างออกกำลังกายได้
การให้การรักษาด้วยยา เราอาจแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกได้เป็น 3 ระดับเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้

  • 1. ยาบรรเทาอาการต่างๆเช่น ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และยาขยายหลอดลม
  • 2. ยาต้านการอักเสบเช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกหรือสูดทางปาก
  • 3. การใช้วัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายเริ่มจากปริมาณน้อยๆและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆจนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ซึ่งผู้ป่วยที่ควรรับการรักษาโดยวิธีฉีดวัคซีนภูมิแพ้คือ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีผลข้างเคียงจากยา โดยก่อนจะเลือกรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องทราบก่อนว่าแพ้อะไรเพื่อจะได้นำสารที่แพ้มาฉีดเป็นวัคซีน ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้ป่วยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำอย่างน้อย 3 - 5 ปี