กระดานสุขภาพ

ผมร่วง ไม่มีรากผมติดออกมา
Anonymous

7 ธันวาคม 2560 15:51:17 #1

ผมร่วงมาตั้งแต่ม.4แล้วคะจนตอนนี้อยู่ม.5 ปกติเป็นคนที่ผมหนามากจนตอนนี้เหมือนจะเหลือแค่ครึ่งนึงของที่เคยมีอยู่ ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไรหรอคะ ประวัติคนในครอบครัวก็ไม่เคยหัวล้าน แต่ปกติส่วนตัวเป็นเลือดน้อยอยู่แล้ว อยากทราบเพื่อว่ามันจะมาจากสาเหตุอื่นอะคะ เพราะตอนผมร่วงไม่มีรากผมติดมาเลย บางทีก็มีแต่มันจะเหมือนฝ่อๆไปแล้ว มีวีธีแก้และรักษาอย่างไรบ้างคะ ตอนนี้ทานซิงค์15มิลลิกรัมอยู่คะ อยากจะรู้ว่าพอจะมียาทาหรือยากินรักษาบ้างมั้ยคะ อยากให้ช่วยแนะนำ ขอบคุณสำหรับคำตอบและทุกการช่วยเหลือล่วงหน้านะคะ ขอบคุณคะ
อายุ: 17 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 166ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.87 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Kamo*****w

8 ธันวาคม 2560 11:22:25 #2

ผมบางลงด้วยคะ
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

8 ธันวาคม 2560 17:03:40 #3

เส้นผม (Hair) ของมนุษย์ มีสี ขนาด ลักษณะแตกต่างไปตามเชื้อชาติ แต่ปริมาณโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน คือประมาณ 100,000 เส้น อาจมีความยาวตั้งแต่ 2-3 มม. (มิลลิเมตร) จนถึง 1.5 ม.(เมตร) วงจรชีวิตของเส้นผมแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในระยะเวลาเดียวกันจะมีผมทั้ง 3 ระ ยะบนศีรษะ คือ

  • ระยะเติบโต (มีปริมาณมากที่สุด)
  • ระยะพัก
  • และระยะหลุดร่วง

โดยมีอิทธิพลของ เพศ อายุ ฮอร์โมน พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นตัวควบคุมลักษณะและการเจริญเติบโตของผม ดังนั้นในสภาวะปกติ เราจึงมีเส้นผมหลุดร่วงทุกวัน แต่มีปริมาณที่ไม่มากผิดปกติ ไม่มีลักษณะร่วงเป็นหย่อม หรือไม่มีภาวะผิดปกติอื่นๆของร่างกายร่วมกับอาการผมร่วง เช่น มือสั่น ผอมลง (อาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น)

ผมร่วงที่มากผิดปกติ (Hair loss หรือ Alopecia) นอกจากจะส่งผลถึงบุคลิกภาพแล้ว ยังอาจเป็นอาการแสดงของโรคอื่นๆที่ซ่อนอยู่ ถ้ามีลักษณะร่วงเป็นหย่อม หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆร่วมด้วยดังกล่าวแล้ว

แพทย์วินิจฉัยว่ามีผมร่วงได้โดยอาศัย ประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกายซึ่งรวม ถึงการตรวจผมและหนังศีรษะ และอาจจำเป็นต้องใช้การสืบค้น/การตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย

ผู้ป่วยผมร่วง มักมาพบแพทย์ด้วยประวัติผมบางลงจนเห็นหนังศีรษะ รวบผมได้มัดเล็กลง มีผมหลุดร่วงหลังจากสระผม หรือผมร่วงติดหมอนหลังตื่นนอนเยอะกว่าเดิมมาก ผมร่วงเป็นหย่อม แพทย์ผู้ดูแลจะประเมินประวัติต่างๆเหล่านี้ และตรวจร่างกาย ทั้งนี้ เมื่อมีการหลุดร่วงเกิน 50-100 เส้นต่อวัน ในคนที่มีปริมาณผมปกติ ผมร่วงเป็นหย่อม หรือมีอาการผิดปกติของระบบอวัยวะอื่นๆของร่างกายร่วมด้วย ถือว่า “ผมร่วงผิดปกติ หรือ ผมร่วง หรือ มีอาการผมร่วง” นอกจากนี้แพทย์จะตรวจหนังศีรษะ เส้นผม และตรวจร่างกายทุกระบบ เพื่อหาโรคที่อาจจะพบร่วมกับอาการผมร่วง หรือโรคที่เป็นสาเหตุของผมร่วง

ในผู้ป่วยที่ต้องสืบค้นเพิ่มเติม เช่น ใช้กล้องขยายตรวจลักษณะของหนังศีรษะ เส้นผม ดึงเส้นผม เพื่อนำมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรืออาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจจากหนังศีรษะ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการของผู้ป่วย และความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ

ชนิดของผมร่วงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผมร่วงแบบมีแผลเป็น และผมร่วงแบบไม่มีแผล เป็น

1.ผมร่วงแบบมีแผลเป็น (Scarring alopecia)

ได้แก่ ผมร่วงที่สาเหตุของการหลุดร่วงของเส้นผม เป็นผลจากมีการทำลายอย่างถาวรของรากผม ทำให้ไม่สามารถสร้างเส้นผมเส้นใหม่ได้ การวินิจฉัยด้วยตาเปล่า บางกรณีอาจแยกยากจากผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น ดังนั้นในรายที่สงสัย แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อจากหนังศีรษะ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน
ผลการรักษาผมร่วงสาเหตุนี้ด้วยการใช้ยามักให้ผลไม่ดี เนื่องจากอาจมีเส้นผมกลับมาไม่เหมือนเดิม เพราะรากผมไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่ได้ แต่ยังพอที่จะสามารถรักษาโดยวิธีปลูกถ่ายเส้นผมได้

2.ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (Non-scarring alopecia)

สาเหตุของการหลุดร่วงของเส้นผมจากสาเหตุนี้ มีผลจากมีการทำลายรากผมอย่างไม่ถาวร เส้นผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ในปริมาณปกติ หรือใกล้เคียงเดิม หลังจากได้รับการรักษา ผมร่วงชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าผมร่วงแบบมีแผลเป็น

ผมร่วงแบบมีแผลเป็นและผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น เกิดได้จากหลายสาเหตุ

ผมร่วงแบบมีแผลเป็น มีสาเหตุดังนี้

  • จากปัจจัยแวดล้อมภายนอก เช่น แผลน้ำร้อนลวก เส้นผมถูกดึงรั้งเป็นเวลานานๆ ได้รับรัง สีเอกซ์ (เอกซเรย์) เกินขนาด
  • มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเรื้อน วัณโรค ซิฟิลิสระยะที่ 3
  • การติดเชื้อราที่มีการอักเสบมากที่หนังศีรษะ
  • หนังศีรษะได้รับสารเคมีต่างๆ เช่น จากแชมพู ครีมนวด หรือน้ำมันใส่ผม
  • การติดเชื้อไวรัสซ้ำๆที่ตำแหน่งเดิมของหนังศีรษะ เช่น เริม งูสวัด
  • เนื้องอกและการอักเสบเรื้อรังของหนังศีรษะ
  • โรคผิวหนังที่เกิดแผลเป็น เช่น โรค DLE (Discoid Lupus Erythematosus) โรค Lichen planus
  • ภาวะจิตใจผิดปกติ เช่น การแกะเกาหนังศีรษะจนเกิดบาดแผลลึกและเป็นซ้ำๆ

ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น มีสาเหตุดังนี้

ผมร่วงตามสภาวะปกติ เช่น ในทารกหลังคลอด ในสตรีหลังคลอดบุตร

ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) พบได้บ่อย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ปัจ จัยที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น การมีประวัติครอบครัว ประวัติภูมิแพ้ เครียด โดยเชื่อว่าภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของตนเอง ไปทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์เม็ดสีบริเวณรากผม ส่งผลให้ผมร่วง ลักษณะผมที่ร่วงมักมีขอบเขตชัดเจน บางคนร่วงที่ศีรษะ ขนคิ้ว ขนตาร่วงร่วมด้วย โรคนี้อาจหายเองได้ และกลับเป็นซ้ำได้ หากมีผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง หรือมีขนที่อื่นร่วงด้วย ต้องตรวจหาโรคอื่นๆที่พบร่วมกัน เช่น ภาวะผิดปกติของต่อมไร้ท่อต่างๆ

ผมร่วงจากพันธุกรรม หรือผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชาย (Androgenetic alopecia) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด พบในทั้งเพศชายและหญิง ส่งผลต่อบุคลิกภาพและสภาวะจิตใจของผู้ป่วย ส่วนมากไม่ก่อให้เกิดแผลเป็นที่หนังศีรษะ ยกเว้นปล่อยให้เป็นนานๆโดยไม่ ได้รับรักษา สาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่เป็นปัจจัยร่วมกันหลายปัจจัย เช่น เพศ อายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม โดยฮอร์โมนเพศชายจะออกฤทธิ์ต่อเส้นผมจำเพาะบริเวณของศีรษะ ทำให้เส้นผมบางลง และหลุดร่วงง่าย

ลักษณะที่ปรากฏในเพศชาย จะมีผมบางลงบริเวณหน้าผาก กลางศีรษะ และในรายที่ปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะเหลือแต่เส้นผมเหนือหูและท้ายทอย

ลักษณะที่ปรากฏในเพศหญิง จะมีผมบางที่บริเวณกลางศีรษะและลามออกมา ถ้าเป็นมากจะคงเหลือแต่ผมบริเวณด้านหน้าไว้

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีการรักษาโดยยาทาและยารับประทาน เพื่อลดการหลุดร่วง เพิ่มขนาดเส้นผม และรักษาโดยการผ่าตัดในกรณีที่เป็นมาก หรือรักษาโดยยาแล้วได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ

  • Telogen effluvium เป็นภาวะที่มีเส้นผมระยะหลุดร่วง ร่วงมากกว่าปกติ โดยมีสาเหตุต่างๆกัน เช่น ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง ขาดสารอาหาร ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น กรดวิตามินเอ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากันชัก ยารักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯ)
  • กลากบนหนังศีรษะ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
  • สารเคมีบางชนิด เช่น ยา Heparin (ยาลดการแข็งตัวของเลือด) ยาเคมีบำบัด การได้รับวิตามินเอเกินขนาด
  • โรคที่เกิดจากการกระทำตนเอง เช่น การถอนผมตลอดเวลา (Trichotillomania)
  • โรคต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมใต้สมอง
  • ปัจจัยภายนอก เช่น ได้รับรังสีรักษาบริเวณศีรษะ
  • โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น SLE (เอส แอล อี) เนื้องอกต่อมใต้สมอง

ปัญหาอาการผมร่วงไม่ได้มีความสำคัญเพียงแต่เรื่องบุคลิกภาพ แต่การไปพบแพทย์จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคอื่นๆ ที่มีอาการแสดงเป็นอาการผมร่วงได้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นหากมีอาการดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
ปริมาณผมที่ร่วงเข้าเกณฑ์ผิดปกติ
ผมร่วง ร่วมกับมีอาการ ซึม สับสน น้ำหนักลด ท้องผูก ท้องเสีย อาเจียน มีไข้ และ/หรือ มีผื่นที่ส่วนอื่นๆของร่างกาย
ผมร่วงเป็นหย่อม

นอกจากแพทย์จะอธิบายผลต่างๆ และระยะการเห็นผลของยาที่ใช้รักษา ทั้งการรักษาสา เหตุ และรักษาแบบบรรเทาอาการการนับเส้นผมที่หลุดระหว่างวัน ผมที่หมอนหลังตื่นนอน ก็ช่วยประเมินผลการรักษาได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผมหักเปราะง่าย หรือหนังศีรษะระคายเคือง เช่น การย้อมหรือทำสีผม หรือยาบางชนิดที่ทำให้ผมร่วง ก็จะทำให้อาการผมร่วงไม่แย่ลงได้
นอกจากนั้น คือ

การกินยา ใช้ยา และการปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน

ต้องสังเกตสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอาการผมร่วง เพื่อหลีกเลี่ยง เช่น แชมพู ครีมนวดผม การเป่าผม น้ำยาย้อมผม ยารักษาโรคต่างๆ เป็นต้น

ถึงแม้ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า อาหารอะไรเกี่ยวข้องกับอาการผมร่วง แต่การรักษาสุข ภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ก็อาจช่วยได้บ้าง เพราะผมก็เป็นเซลล์ชนิดหนึ่งที่ต้องการอาหารมีประโยชน์เช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิด

รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ผมร่วง