กระดานสุขภาพ

ปวดฝ่าเท้าเจ็บมากแต่ไม่บวมเป็นอะไรไหม
Anonymous

15 ธันวาคม 2559 11:12:24 #1

สวัสดีค่ะหาหมอ.คอม ดิฉันมีอาการของพี่ชายมาถามค่ะ คือพี่ชายของฉันปวดและเจ็บฝ่าเท้ามาก เวลานั่งแล้วลุกขึ้นยืนจะเจ็บมากแทบเดินไม่ได้ เคยไปหาหมอ หมอแจ้งว่าเอ็นอักเสบและให้ยามากิน แต่ยาที่ให้มันแรงไปกินแล้วใจเต้นเร็วผิดปกติ จึงหยุดกินและใช้แต่ยาทาแก้ปวด และใช้ผ้าพยุงเท้าไว้ ก็ทำให้เดินได้แต่ก็ยังปวดและเจ็บฝ่าเท้าอยู่แต่ไม่มีอาการบวมนะค่ะ ลักษณะการทำงานพี่ชายต้องยืนและเดินตลอด จึงต้องการถาม หาหมอ.คอม ว่าพี่ชายจะมีโรคอะไรไหมหรือเกี่ยวกับระบบไต ตับ หรืออวัยวะอื่นภายในร่างกายที่ผิดปกติจึงทำให้พี่ชายของฉันเจ็บฝ่าเท้าไม่หายเพราะเป็นมานาน 2-3 เดือนแล้วและตัวพี่ก็ไม่ยอมไปหาหมออีกเพราะกลัวยาว่ากินแล้วจะไม่ถูกกัน รบกวน หาหมอ.คอม ช่วยตอบคำถามของดิฉันด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

อายุ: 41 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 58 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.30 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ. ฤทธิ์ อภิญญาณกุล

แพทย์ออโธปิดิกส์

31 ธันวาคม 2559 19:06:55 #2

เข้าใจว่าอายุ 41 ปี เป็นอายุของพี่ชายเจ้าของคำถามนะครับ
อาการปวดฝ่าเท้า (Plantar heel pain) หลัก ๆ เกิดได้จาก 2 สาเหตุครับ

1. Plantar fasciitis หรือ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หากอาการอักเสบ(Inflammation)เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน ๆ จนเรื้อรัง อาจเรียกภาวะนี้ว่า พังผืดเอ็นฝ่าเท้า(Plantar fasciofibromatosis) ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดฝ่าเท้าใกล้ ๆ ส้นเท้า มักจะมีอาการมากขึ้นเวลาลุกขึ้นเดินหรือยืนลงน้ำหนักหลังจากไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลาหนึ่ง(พักนาน ๆ ) เช่น ตื่นนอนตอนเช้า นั่งนาน ๆ และอาจมีอาการหลังการใช้งานหนัก ๆ เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ครับ หากเดินหรือยืนซักพัก อาการปวดจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปเองได้ ถ้าพี่ชายเจ้าของคำถามมีอาการเหล่านี้ ผมแนะนำให้ปฏิบัติตัว และรักษาเบื้องต้น ดังนี้ครับ

- แช่เท้าในน้ำอุ่น(Warm bath)บ่อย ๆ ครั้งละ 10-15 นาที

- ฝึกยืดเอ็นฝ่าเท้า(Stretching exercise)หลังแช่น้ำอุ่น หรือช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า คราวละ 10-20 ครั้ง

- รับประทานยากลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์(NSAIDs) ได้ในช่วงสั้น ๆ 1-2 สัปดาห์ ครับ

- ใช้ยานวดกลุ่ม Topical NSAIDs เช่น Diclofenac gel, Ketoprofen gel, Piroxicam gel

- กายอุปกรณ์เสริมบางประเภท เช่น ซิลิโคนรองส้นเท้า(Silicone heel cup หรือ Gel heel cup) สามารถใช้เพื่อลดแรงกระแทกต่อจุดเกาะเอ็นฝ่าเท้าได้ครับ เช่น ใช้เมื่อจำเป็นต้องเดิน ยืน หรือวิ่งออกกำลังกายนาน ๆ

- กรณีรับประทานยาแล้วเกิดอาการใจสั่น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากยาที่ได้มาเป็นยาคลายกล้ามเนื้อ(Muscle relaxant) ซึ่งจะมีฤทธิ์ anti-colinergic ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนของยา(Drug-adversed effect) ได้แก่ ใจสั่น(palpitation) ปากแห้งคอแห้ง ง่วงนอน เวียนศีรษะ และความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ได้รับ ผมแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์เมื่อจำเป็นจะต้องใช้ยาครับ

2. Tarsal tunnel syndrome ซึ่งเกิดจากภาวะการกดทับของเส้นประสาทเท้า(Compressive neuropathy) ผู้ป่วยมักจะมีอาการชาเท้าในบางบริเวณร่วมด้วย แนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์หากมีอาการชาเท้าร่วมด้วยครับ