กระดานสุขภาพ

เป็นพาหะธาราสซีเมียร์หรือแค่เลือดจาง
Jann*****e

5 ตุลาคม 2559 04:31:45 #1

เคยตรวจเลือดขณะตั้งครรภ์เมื่อวันที่ 22/2/2558 ผล HCT =38.5 MCV=80.9 E-Screen=negative ขณะนี้ตั้งครรภ์อีกครั้ง ผลเลือดวันที่ 2/10/2559 HCT=38.6 MCV=76.3 E-Screen=negative อยากทรายว่ากรณีนี้เสี่ยงเป็นพาหะของธาราสซีเมียร์ไหมคะ ไม่มีผลเลือดสามีทั้งสองครั้งค่ะ ท้องครั้งแรกแท้งต้องสองเดือนสามียังไม่ได้เจาะ ส่วนครั้งนี้กำลังจะเจาะค่ะ แต่ร้อนใจมาก
อายุ: 26 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 45 กก. ส่วนสูง: 156ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.49 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา)

7 ตุลาคม 2559 09:30:42 #2

หากดูเลือดของคุณเมื่อปี2558 เห็นว่าเลือดของคุณไม่เข้าข่ายที่จะเป็นคู่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง เนื่องจากค่าเฉลี่ยปริมาตรเม็ดเลือดแดง(MCV)ไม่ต่ำกว่า 80 เฟมโตลิตร(fl) และพบว่าการตรวจกรองหาฮีโมโกลบินอี(hemoglobin E)โดย E-Screen ได้ผลลบ คุณไม่น่าจะมีฮีโมโกลบินอีเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเลือดของคุณผ่านการตรวจกรองจึงไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดสามี

ในปีนี้เลือดของคุณมีขนาดเล็กลงกว่าปีก่อนเล็กน้อยคือค่า MCV 76.3 fl ประเด็นนี้คือ เลือดของคุณเล็กลงจริง หรือเป็นจากการตรวจเลือดทำคนละเครื่องแล้วได้ค่าแตกต่างกัน ซึ่งหากค่าMCV ลดลงจริงๆ คุณอาจมีภาวะขาดธาตุเหล็ก โดยยังไม่มีภาวะโลหิตจางหรือโลหิตจางน้อยมาก (ดูจากค่าฮีมาโทคริต ยังอยู่ในเกณฑ์ ดี หากมีค่าฮีโมโกลบินมากกว่า 12 ก./ดล จะช่วยบอกว่าคุณไม่มีภาวะโลหิตจางค่ะ ค่าฮีมาโทคริต (hematocrit- Hct ใช้ดูประกอบได้คร่าวๆ)
การที่เลือดของคุณได้ผลดังกล่าวทั้งปีก่อนกับปีนี้ คุณอาจเป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดไม่รุนแรงค่ะ เนื่องจากดูค่า MCV ปกติหรือต่ำเล็กน้อย (แม้ว่าค่า MCV มากกว่า 80 fl ก็สามารถพบในพาหะธาลัสซีเมียชนิดไม่รุนแรง) ดังนั้นการตรวจเลือดสามีอาจทำให้บอกโอกาสล่วงหน้าในภาวะที่จะเกิดต่อบุตรได้

ซึ่งหากสามีของคุณปกติ บุตรของคุณจะไม่เป็นโรคธาลัสซีเมีย

หากสามีของคุณเป็นพาหะธาลัสซีเมียด้วยเช่นกัน หมอดูจากค่าเลือดของคุณเป็นเกณฑ์ถ้าตรงไปตรงมายังสบายใจว่า บุตรของคุณไม่น่าจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงค่ะ

ในกรณีที่สามีคุณเป็นพาหะธาลัสซีเมียบุตรของคุณมีโอกาสเป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรือเป็นโรคธาลัศซีเมียชนิดไม่รุนแรงหรือเป็นเด็กปกติก็ได้ หมอมีคนไข้ที่ดูแลรักษาอยู่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการปานกลางขึ้นไป สามารถเรียนจบเป็นแพทย์ วิศวกร เภสัชกร นักการธนาคาร และอื่นๆ มีคุณภาพชีวิตดีพึ่งพาตนเองได้ ทำประโยชน์แก่สังคมได้
อย่าลืมนะคะผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียไม่ใช่ผู้ป่วย มีชีวิตปกติ ทำงานได้ปกติ มีอายุยืนยาวได้ปกติ ไม่ตรวจเลือดจะไม่ทราบว่าเป็นพาหะ

ที่สำคัญคือหากผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียแต่งงานกัน มีโอกาสมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย

โรคธาลัสซีเมียมีอาการแตกต่างกันตั้งแต่รุนแรงมาก รุนแรงปานกลางและรุนแรงน้อย มาตรการของประเทศในปัจจุบันเกี่ยวกับการตรวจกรองโรคธาลัสซีเมียคือเพื่อควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง

ในการตรวจกรองคู่เสี่ยงจะตรวจกรองว่าคู่สมรสมีโอกาสจะมีบุตรที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 3 โรคคือ

1. ฮีโมโกลบินบาร์ทฮัยดรอปส์ ฟีตาลิส ซึ่งเด็กทารกที่เป็นโรคนี้นับเป็นโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงที่สุดและไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ (หากไม่ได้รับการรักษาโดยการให้เลือดแก้ไขภาวะโลหิตจางมากตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดต่อ ถึงกระนั้นก็ยังรับประกันไม่ได้ว่าเด็กจะปกติหรือแข็งแรง เนื่องจากเด็กอาจมีภาวะขาดออกซิเจนมากเพราะซีดมาก ยังผลต่อการสร้างและการทำงานของอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะสมอง) มารดาที่ตั้งครรภ์เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์มาก

2. โฮโมซัยกัสเบตาธาลัสซีเมีย

3. เบตาธาลัสซีเมียฮีโมโกลบินอีชนิดรุนแรง

การตรวจกรองเมื่อพบว่าเลือดผิดปกติ จะต้องตรวจเพิ่มว่าคู่เสี่ยงมีภาวะที่มียีนแอลฟาธาลัสซีเมีย1หรือยีนเบตาธาลัสซีเมีย หรือฮีโมโกลบินอีหรือไม่ ทั้งนี้การตรวจกรองทำให้ลดจำนวนการตรวจที่คาดว่าปกติหรือเป็นธาลัสซีเมียชนิดไม่รุนแรงออกไป เพราะการตรวจวินิจฉัยรายละเอียดในความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นต้องใช้ทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่แม่นยำ และค่าใช้จ่ายมหาศาล

หมอขออวยพรให้คุณมีบุตรปกตินะคะ
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ

Jann*****e

8 ตุลาคม 2559 03:00:15 #3

ขอบพระคุณค่ะคุณหมอ HGB =12.3 ค่ะ ยังนี้หนูคงสบายใจเรื่องพาหะได้แล้วใช่ไหมคะ