กระดานสุขภาพ

สอบถามข้อมูลการใช้ยา ซิมวาสแตติน
Anonymous

23 กรกฎาคม 2559 09:51:10 #1

ถึง หาหมอ.คอม

แม่ของดิฉันอายู 68 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง และหมอได้ให้แม่กินยาลดไขมัน ( ซิมวาสแตติน ) กินมาประมาณ

6 - 7 เดือนแล้ว ล่าสุดหมอนัดตรวจเลือด หมอแจ้งว่าไขมันในเลือดดีขึ้นจะปรับยาลดไขมันให้ แต่พอดีแม่เข้ากินยา

คาบเกี่ยวกันคือ หมอที่นัดตรวจเลือดเป็นหมอจากอนามัยใกล้บ้านที่แม่กินยาความดันอยู่แต่แม่เข้ามีอาการบวมน้ำ

ทำให้เกิดภาวะปอดบวมจึงไปนอนที่โรงพยาบาลของรัฐในเขตใกล้บ้าน และหมอที่ รพ.ก็ได้ปรับยาลดความดันให้

ใหม่เพราะแจ้งว่าที่บวมเกี่ยวกับยาเป็นเหตุ แต่ยาลดไขมัน (ซิมวาสแตติน) หมอยังจัดให้กินเหมือนเดิม แต่ผลเลือด

ที่ตรวจกับอนามัยหมอแจ้งว่าค่าไขมัน LDL = 50 , HDL = 43 , ไตรกลีเซไรด์ = 139 หมอบอกว่าไขมันดีขึ้น แต่แม่

มียาที่ รพ.จัดให้กินอยู่หมอที่อนามัยจึงไม้ได้ทำอะไร ณ.ตอนนี้แม่ก็ยังกินยาลดไขมันตอนก่อนนอน 1 เม็ด ทุกวัน

( ปริมาณความแรงของยา ซิมวาสแตติน = 20mg ) และพักหลังแม่ก็มีอาการมึนหัว อ่อนเพลีย และเวียนห้ว เป็นบางครั้ง

จึงขอข้อมูลจาก หาหมอ.คอม ดังนี้

(1.) จากอาการมึนหัว เวียนหัว ที่เป็นจะมาจากไขมันในเลือดลดลงแล้วแต่ยังกินยาลดไขมันอยู่ เกี่ยวกันหรือเปล่า

(2.) จากผลตรวจเลือดค่าไขมัน LDL = 50 , HDL = 43 , ไตรกลีเซไรค์ = 139 ถือว่าปกติไหม และต้องกินยา

ลดไขมัน(ซิมวาสแตติน)ต่อ หรือแค่ลดปริมาณของยาลง หรือไม่ต้องกินยาเลย

(3.) ยาซิมวาสแตติน ในแต่ละยี่ห้อ คุณสมบัติ และคุณภาพ ของยาจะเหมือนกันไหม

เช่น ซิมวาสแตติน ยี่ห้อ Bestatin(เบสแตติน) และ ยี่ห้อ Zimva(ซิมวา)

(4.) ยาลดไขมันแต่ละชนิด เช่น ซิมวาสแตติน ถ้ากินยานานๆ จะมีผลข้างเคียงอะไรหรือเปล่า

จึงขอรบกวนทาง หาหมอ.คอม ช่วยตอบกลับด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อายุ: 68 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 66 กก. ส่วนสูง: 145ซม. ดัชนีมวลกาย : 31.39 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

28 กรกฎาคม 2559 03:33:39 #2

เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลโรคประจำตัวอื่น ๆนะครับ และไม่ทราบชื่อของยาลดความดันโลหิตที่รับประทานอยู่ สันนิษฐานจากอาการบวม น่าจะเข้าได้กับยาลดความดันกลุ่มต้านตัวรับแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) ที่มักใช้บ่อยในโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง คือ amlodipine ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด แต่อาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง คืออาการบวมน้ำ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยไม่มีการคุมโซเดียม หรืออาหารเค็ม จะยิ่งทำให้อาการบวมน้ำรุนแรงขึ้น

ขออนุญาตตอบพอสังเขปนะครับ หากต้องการทราบโดยละเอียด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้หรือเภสัชกรประจำสถานพยาบาลที่รับยา

1. อาการมีนศีรษะ เวียนศีรษะ สันนิษฐานว่าเกิดจากความดันโลหิตลดต่ำลง ให้สังเกตได้จากความดันโลหิต โดยช่วงที่ยังเป็นอยู่ แนะนำให้วัดวันละสองครั้ง เช้า เย็น ติดต่อกันสัก 7 วัน เพื่อเปรียบเทียบว่ามักเป็นช่วงเวลาใด สัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตลดต่ำลงหรือไม่

แนะนำเบื้องต้น คือหลังจากรับประทานยาลดความดันโลหิต 10-15 นาทีแรก อย่าเพิ่งลุกเดินไปมา เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะหน้ามืด เวียนศีรษะได้ แต่หากยังคงมีอาการเกือบตลอดวัน สามารถโทร.สอบถามจากทางแพทย์ได้ว่าอาจต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

2. จากค่าการตรวจเลือด ระดับไขมันอยู่ในเกณฑ์ แต่ยังคงต้องมีการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะเสียงจากการเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจ/สมองอุดตัน นอกจากนี้ยานี้ยังมีผลช่วยป้องกันไม่ให้ก้อนไขมันอุดตันที่เคยมีอยู่ในหลอดเลือด ไม่มีการแตกแล้วไปอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจหรือสมองได้อีกด้วย ทั้งนี้ต้องขึ้นกับโรคประจำตัว โรคร่วมด้วย ว่าจำเป็นต้องคุมปริมาณไขมันในเลือดให้อยู่ในช่วงเท่าใดจึงจะเหมาะสม เช่น หากมีโรคเบาหวานร่วมด้วย หรือเคยเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองตีบ/แตก มีการสูบบุหรี่ หรือมีคนในบ้านสูบบุหรี่ ก็จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตแตกต่างกันไป

3. ยาลดไขมัน simvastatin เป็นชื่อสามัญทางยา ทั้งนี้แล้วแต่ๆละบริษัทจะผลิตนะครับ แต่ตัวยาสำคัญคือตัวเดียวกัน แตกต่างกันในรูปแบบผลิตภัณฑ์
การทำการตลาด คล้ายกับข้าวสาร มีหลายบริษัท แตกต่างกันในรูปแบบ บรรจุภัณฑ์ หรือความชอบของผู้บริโภค ในทางเภสัชกรรมไม่มีความแตกต่างในการออกฤทธิ์ของยาครับ

4.ยาลดไขมันกลุ่มสแตติน มีกลไกเน้นการลดโคเลสเตอรอลเป็นส่วนใหญ่นะครับ ในต่างประเทศมีการรับประทานมาหลายสิบปี โดยที่ยังไม่พบอาการผิดปกติรุนแรง ส่วนใหญ่ที่พบคืออาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้ต้องระวังไม่ซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆมาใช้ร่วมกัน โดยที่ยังไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา "ยาตีกัน" อย่างรุนแรง จนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เช่นยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ (แก้อักเสบ ฆ่าเชื้อ) เป็นต้น

ขอแนะนำเพิ่มเติม นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle Modification) ทั้งเรื่องการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับ ซึ่งต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะน้ำหนักเกิน

รับประทานยาทุกชนิดด้วยน้ำเปล่าสะอาดเท่านั้น เนื่องจากเครื่องดื่มบางชนิดอาจทำให้ตัวยาตกตะกอน ร่างกายไม่สามารถดูดซึมยาได้ เช่น ชา (รวมถึงชาเขียว ซึ่งมีน้ำตาลสูง เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และกลายเป็นไขมันในเลือดสูงได้) กาแฟ โกโก้ นม (โยเกิร์ตพร้อมดื่ม) น้ำเต้าหู้ น้ำอัดลม โซดา ยาบางชนิดห้ามแม้กระทั่งน้ำแร่ (เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน หรือยาป้องกันกระดูกพรุน) หรือน้ำผลไม้บางชนิดอาจกระตุ้นให้ตับที่เป็นแหล่งผลิตเอนไซม์ (หรือน้ำย่อย) ที่ใช้ในการกำจัดยา สร้างเอนไซม์เพิ่มมากขึ้น ตัวยาจึงถูกกำจัดได้มาก/เร็วขึ้น จนอาจไม่ได้ผลจากการรักษา หรือ เกิดเป็นสารประกอบที่เกิดพิษต่อร่างกายเพิ่มเร็วขึ้น เช่น น้ำเกรปฟรุต (จำพวกเดียวกับส้มโอ) น้ำส้มคั้น น้ำแครนเบอร์รี่ น้ำแอปเปิ้ล เป็นต้น

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็ว ตรงกับข้อมูลที่อาจต้องมีการสอบถามเพิ่มเติม ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ ซึ่งอาจช้า ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
วว. พยาธิวิทยากายวิภาค

ซิมวาสแตติน (Simvastatin)
เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร