กระดานสุขภาพ

ลมพิษเกิดจากอะไร,รักษาอย่างไร,ที่ไหนคะ
Sana*****n

22 พฤศจิกายน 2555 02:50:25 #1

โรคลมพิษเกิดจากอะไร,รักษาให้หายขาดได้ไม๊,รักษาที่ไหน,

 

อายุ: 42 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 76 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 27.92 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขา ตจวิทยา

22 พฤศจิกายน 2555 16:24:48 #2

ขอส่งบทความจากสมาคมแพทย์ผิวหนัง ให้อ่านค่ะ

โรคลมพิษ

ผื่นลมพิษเป็นผื่นที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ลักษณะผื่นจะเป็นปื้นนุนขนาดใหญ่ หรือเล็กก็ได้ มักมีสีแดง และมีอาการคัน ผื่นมักจะขึ้นและกระจายทั่วตัวอย่างรวดเร็วถ้ามีผื่นบริเวณหนังตาและปาก มักจะบวกมาก มองดูน่ากลัว ทำให้ต้องรีบมาพบแพทย์ โรคลมพิษนี้พบได้บ่อยมาก เชื่อกันว่าประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไปมักจะเคยมีผื่นลมพิษขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต

การวินิจฉัย

ในการวินิจฉัยผื่นลมพิษอาศัยการตรวจพบผื่นที่มีลักษณะดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจากผื่นลมพิษมักจะขึ้นอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ และจะยุบหายไปได้เอง โดยไม่มีร่องรอยเหลืออยู่ภายในเวลาเป็ยชั่วโมง ดังนั้นหากผู้ป่วยมีผื่นขึ้นกลางดึก กว่าจะมาพบแพทย์ในตอนเช้าผื่นก็อาจยุบหายไปหมดแล้ว ถึงแม้จะตรวจไม่พบผื่น แต่แพทย์ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้จากการที่ผื่นสามารถหายไปได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยไว้แม้จะไม่ได้รับประทานยาใดๆ ซึ่งลักษณะนี้จะไม่พบในโรคผิวหนังอย่างอื่น อาการสำคัญอีกอย่างที่จะช่วยในการวินิจฉัย คือ ผู้ป่วยมักจะให้ประวัติว่า ผื่นมักจะขึ้นตามรอยเกา กล่าวโดยสรุปก็คือแพทย์จะอาศัยลักษณะสำคัญของผื่นดังได้กล่าวแล้วทั้งหมดนี้เป็นเครื่องช่วยในการวินิจฉัย โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการใดๆ เข้าช่วย หากจะทำการตรวจเพิ่มเติมก็เพื่อช่วยในการวิเคราะห์หาสาเหตุของการเป็นลมพิษเท่านั้น

สาเหตุของลมพิษ

ผื่นลมพิษเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเช่น ยา อาหาร การติดเชื้อ และปัจจัยทางกายภาพ เช่น แสงแดด ความร้อน ความเย็น แรงสั่นสะเทือน สิ่งกดรัด เป็นต้น โดยสาเหตุเหล่านี้จะกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเคมีชนิดที่เรียกว่า ฮิสตามีน ออกจากเซลชนิดหนึ่งในผิวหนังซึ่งจะทำให้เกิด อาการผื่นแดง บวม และคัน ในการค้นหาสาเหตุของลมพิษนี้ จะต้องอาศัยการสังเกตของผู้ป่วยเป็นหลัก ว่าผื่นลมพิษมักจะขึ้นภายหลังการรับประทานอาหารหรือยาชนิดใด ผื่นขึ้นมากในระหว่างการทำอะไร หรือช่วงใดของวัน ในรายที่เพิ่งเป็นลมพิษมาไม่นาน ก็อาจจะสังเกตสาเหตุได้ง่าย หากหลีกเลี่ยงสาเหตุได้ผื่นลมพิษก็จะไม่ขึ้นอีก แต่ถ้าเป็นมานานๆก็มักจะหาสาเหตุได้ยาก ทำให้เป็นเรื้อรังเนื่องจากอาจจะได้รับสิ่งกระตุ้นให้ลมพิษขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่ทราบว่าสิ่งนั้นเป็นสาเหตุ

อาหาร

การเกิดลมพิษ อาจเกิดจากแพ้อาหาร หรือสิ่งอื่นที่ผสมอยู่ในอาหาร เช่น สารแต่งกลิ่นรส สีผสมอาหาร สารกันบูด หรือ สิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ผื่นอาจขึ้นภายในเวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมงภายหลังรับประทานอาหารที่มีรายงานว่าทำให้ลมพิษขึ้น ได้แก่ ถั่ว ปลา ไข่ นม ชอกโกแลต มะเขือเทศ และผลไม้สด บางชนิด หากสงสัยว่าแพ้อาหาร ผู้ป่วยจะต้องจัดชนิดของอาหารที่รับประทานทุกมื้อในแต่ละวัน เพื่อนำมาพิจารณษว่าเมื่อรับประทานอาหารชนิดใดแล้วผื่นขึ้นมาบ้าง และอาจลองหยุดรับประทานอาหารที่สงสัยดูว่าผื่นลมพิษจะหายไปหรือไม่

ยา

ที่จริงแล้ว ยาทุกชนิดมีโอกาสทำให้เกิดผื่นลมพิษได้ทั้งสิ้น แต่ชนิดที่มักเป็นสาเหตุได้บ่อย ได้ แก่ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาคลายเครียดและระงับประสาท การสืบค้นว่ายาชนิดใดเป็นสาเหตุต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งผู้ป่วย และแพทย์ มียาบางชนิดที่ผู้ป่วยอาจนึกไม่ถึงว่าอาจเป็นสาเหตุของลมพิษ ได้แก่ ไวตามิน ยาถ่าย ยาระบาย ยาหยอดหู ยาหยอดตา ยาลูกกลอน หรือยาแผนโบราณชนิดต่างๆ ที่ผู้ป่วยอาจซื้อมารับประทานเองก็ได้

การติดเชื้อ

ชนิดที่เป็นสาเหตุของลมพิษได้บ่อยคือ การเป็นหวัด และการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น จมูกอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้อาจเป็นการอักเสบเฉพาะที่ เช่น ฟันผุ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อการในช่องคลอดสตรี หรือการมีพยาธิลำไส้ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจหาการอับเสบติดเชื้อเหล่านี้และให้การรักษา

สาเหตุทางกายภาพ

สาเหตุเหล่านี้ ได้แก่ ความเย็น ความร้อน แสงแดด แรงกดรัด ความสั่นสะเทือนน้ำ การออกกำลังกาย หากลมพิษเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ ผู้ป่วยจะเป็นผู้สังเกตได้ดีกว่าแพทย์และอาจทดสอบง่ายๆ โดยทดลองทำกิจกรรมที่สงสัยนั้นซ้ำ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่เป็นลมพิษจากความร้อน เมื่อไปเล่นกีฬาจนเหงื่อออกจะเกิดลมพิษขึ้นทุกครั้ง และเมือพักลมพิษจะหายไปเอง เป็นต้น

การรักษา

การรักษาโรคลมพิษที่ดีที่สุดก็คือ หาสาเหตุให้พบและหลีกเลี่ยง สาเหตุนั้นแต่บางครั้งเราก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้พบ อย่างไรก็ตามเพื่อทำให้ผื่นยุบและบรรเทาอาการคัน แพทย์จะต้องให้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านสารฮิสตามิน ซึ่งบางครั้งจะมีฤทธิ์ข้างเคียงที่ทำให้ง่วงซึม ซึ่งมักจะง่วงมากจนรบกวนการทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวัน ก็ให้บอกแพทย์เพื่อขอเปลี่ยนชนิดของยา ยาแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพดีต่อผู้ป่วยแต่ละคนไม่เท่ากัน เข้าทำนองลางเนื้อชอบลางยา หากรับประทานยาในขนาดเหมาะสม เป็นระยาเวลานานพอควรแล้วยังมีผื่นลมพิษขึ้นมากอยู่ ควรบอกกับแพทย์ผู้ทำการรักษา เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาเปลี่ยนยาให้เหมาะกับผู้ป่วยต่อไป ในรายที่เป็นลมพิษเรื้อรังบางครั้งอาจต้องรับประทายยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ไม่ต้องกังวลใจว่าจะทำให้เกิดเป็นพิษตกค้าง แต่หากรับประทานยาชนิดหนึ่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ อาจมีอาการดื้อยาได้ ควรบอกแพทย์เพื่อเปลี่ยนชนิดยาให้เหมาะสมต่อไป

Admi*****n

22 พฤศจิกายน 2555 16:57:17 #3

ขอแถมบทความเรื่องลมพิษจากเว็บ haamor.com ของเราเองด้วยครับ

 

http://haamor.com/th/ลมพิษ/

 

ขอบคุณครับ