กระดานสุขภาพ

โรคแผลในช่องปาก
Ture*****9

31 ตุลาคม 2555 09:31:23 #1

รบกวนสอบถามค่ะ มีปัญหาหนึกในมาก คือว่า คุณแม่เป็นแผลในช่องปาก เป็นๆ หายๆ มาได้สัก 1 ปี แล้ว รักษากับทางโรงพยาบาลมาโดยตลอด ซึ่งคุณหมอ ก็วินิจฉัยว่า ขาดวิตามิน มีเลือจางบ้าง ปากมีลักษณะที่บาง ให้ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และให้ยามากิน ซึืงตลอดระยะที่ไปทำการรักษา ก้อได้แจ้งกับทางโรงพยาบาลว่า คุณแม่ กินอาหารไม่ค่อยได้ จะมีอาการเป็นแผลในปาก แสบ ปวด เจ็บ เวลาที่กินอาหาร รส เผ็ด ร้อน และทานของแข็งก็ไม่ได้เลย อย่างเช่นฝรั่ง ซึิงแผลที่เป็นก็จะคล้ายๆว่า เดี๋ยวหายจาก ลิ้น ก็ไปเป็นที่ กระพุ้งแก้ม บ้าง หรือขึ้นแดง เป็นฝ้า ทั่วบริเวณในช่องปากบ้าง เคยสอบถามคุณหมอที่ทำการรักษามาโดยตลอด ว่า ขอตรวจมะเร็งในช่องปาก เพราะครวบครัวกลัวมากๆค่ะ แต่คุณหมอก็แจ้งว่า ไม่ได้เป็น มะเร็ง เพราะอาการมันไม่ใช่  รักษามา ปีกว่าแล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้นค่ะ คุณหมอให้ยาทานตลอด ซึ่งทุกวันนี้ คุณแม่ทานพริกไม่ได้เลย อาหารร้อนก้องด แปรงฟังโดนแผลก็เจ็บ บางวันแปรงฟันไปโดนเหงือกก็ได้แผลขึ้นมาใหม่อีก ไม่หายเลย น้ำหนักก็ลดลง คุณแม่ไม่อยากทานอะไร ยาที่คุณหมอให้มา บางครั้งก็ทุเราลง ไม่จ็บแผล ทานอาหารได้ แต่พอยาหมด ก็จะเป็นแผลที่ใหม่อีก 

ตอนนี้กำลังว่าจะพาคุณแม่มาตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพราะตอนนี้ คุณแม่อยู่ที่โคราช และมีประวัติการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเซ็นต์เมรี่ ที่โคราชค่ะ  ช่วยตอบด้วยนะคะ ไม่รู้ว่าจะรักษายังงัยแล้ว กลุ้มใจจริงๆ คะ และขอบคุณคุณหมอที่เข้ามาตอบล่วงหน้าค่ะ 

อายุ: 55 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 54 กก. ดัชนีมวลกาย : 0.00 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์

(วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)

31 ตุลาคม 2555 15:48:09 #2

อาการของคุณแม่ ถ้าจะให้วินิจฉัยสาเหตุได้ถูกต้อง แพทย์ต้องตรวจช่องปากของคุณแม่ด้วยคะ

โดยทั่วไปการมีแผลในช่องปากที่เกิดได้ทั่วทั้งช่องปาก เป็นๆหายๆ กินอาหารต่างๆแล้วแสบ โดยเฉพาะอาหารรสจัด เป็นๆหายมาแล้วประมาณ 1 ปี ในผู้หญิงวัย 55 ปีซึ่งน่าจะหมดประจำเดือนแล้ว มีได้หลายสาเหตุ ที่พบบ่อย เช่น

  • ภาวะหมดประจำเดือนหรือใกล้หมดประจำเดือน ส่งผลให้ผนังหรือเนื้อเยื่อที่บุในช่องปากแห้ง น้ำลายแห้ง และเนื้อเยื่อนี้บางลง (เหมือนที่เกิดกับช่องคลอด) จึงก่อให้เกิดการระคายเคือง เป็นแผลได้ง่ายต่อสิ่งต่างๆรวมทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ยาสีฟัน และอื่นๆที่เกี่ยวกับช่องปาก
  • การระคายเคืองจากสารเคมีต่างๆที่ใช้เป็นประจำ เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก สารติดฟันปลอม รวมทั้งสมุนไพรต่างๆ
  • สูบบุหรี่และ/หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ขาดสารอาหารโดยเฉพาะ เหล็ก สังกะสี วิตามินบี
  • โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูนที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อทั่วร่างกายรวมทั้งของช่องปากอักเสบเรื้อรัง
  • แพ้ยาบางชนิดหรือผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้น้ำลายแห้งหรือมีผลต่อเนื้อเยื่อช่องปากโดยตรง
  • มีการติดเชื้อเรื้อรังบางชนิดของช่องปาก
  • และที่พบได้น้อยมาก คือ จากโรคไต และจากพันธุกรรม

 

โรคของคุณแม่ไม่เหมือนมะเร็งช่องปากคะ แผลมะเร็งช่องปากจะไม่เป็นๆหายๆ เป็นแผลแล้วเป็นเลย แผลจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆไม่มีวันหายไป และมักเกิดเพียงตำแน่งเดียว โอกาสเกิด 2-3 ตำแหน่งเป็นเพียงรายงานในผู้ป่วยบางรายงานเท่านั้น นอกจากนั้นถ้าเป็นอยู่นานถึงปีแล้ว โรคน่าจะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใต้คางหรือใต้ขากรรไกร หรือที่ลำคอ ซึ่งควรคลำพบแล้ว

การดูแลตนเองในเบื้องต้น รวมกับการปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษาคุณแม่แนะนำ คือ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
  • กินอาหารอ่อน รสจืด แต่ต้องให้มีสารอาหารครบถ้วน (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ และอ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • เปลี่ยนยาสีฟันไปใช้ยาสีฟันเด็ก และเปลี่ยนยี่ห้อบ่อยๆ
  • ใช้แปรงสีฟันเด็กเช่นกัน
  • ถ้าช่วงมีแผลหรือเจ็บมาก ใช้ผ้านุ่มสะอาดพันนิ้วมือทำความสะอาดฟันแทนการแปรงฟัน
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือสะอาดเจือจางมากๆบ่อยๆทุกครั้งที่กิน/ดื่มเพื่อรักษาความสะอาดช่องปาก
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละอย่างน้อย 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • จิบน้ำบ่อยๆ เพื่อรักษาช่องปากให้ชุ่มชื้นเสมอ ใช้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆก็ได้คะ
  • และพยายามรักษาสุขภาพจิตทั้งของคุณแม่และของคุณรวมทั้งทุกคนในครอบครัว เพราะความรู้สึกจะส่งถึงกันได้หมด คุณแม่จะยิ่งกังวลมากขึ้น เบื่ออาหารมากขึ้น กลับมาช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกันน่าจะช่วยมากกว่า เพราะทุกคนได้ดูแลซึ่งกันและกันอย่างถูกต้องแล้ว พบแพทย์แล้วไม่ได้มีการละเลย

 

บรรณานุกรม

  1. Meurman JH. Et al. (2009). The menopause and oral health http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19324502 [2012, Oct 31].
  2. Mouth ulcer http://en.wikipedia.org/wiki/Mouth_ulcer [2012, Oct 31].

 

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์

Ture*****9

1 พฤศจิกายน 2555 10:09:27 #3

ขอบคุณมากค่ะ คุณหมอสำหรับคำแนะนำดีๆ หนูรู้สึกโล่งใจไปเปาะนึง จริงๆแล้ว การตรวจวินิจของคุณหมอ ก็มีการตรวจช่องปากอยู่เป็นประจำค่ะ และหนูอยากถามเพิ่มเติมว่า ยา ที่คุณหมอ ให้คุณแม่ทาน อย่างเช่น ยาวิตามิน ยาแก้อักเสบ ยาป้ายปาก ยาพวกนี้หมอจัดให้มาเป็นประจำ มันเป็นการรักษาตามอาการใช่ไหมคะ อาการถึงไม่ขายขาด สักที และก่อนหน้าที่คุณแม่จะเป็นแผลในช่องปากนี้ ได้มีการผ่าตัดทอมซิลค่ะ และทางโรงพยาบาลก็ได้เอาชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อหาความผิดปกติหรือไม่ผลตรวจก็ปกติ ซึ่งมันจะเกี่ยวกันไหมคะ การที่คุณแม่ผ่าตัดทอมซิล น่ะคะ 

 คุณหมอ มีโรงพยาบาลที่สามารถจะแนะนำได้ไหมคะว่า ควรจะรักษาหรือตรวจให้ละเอียดอีกที ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์

(วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)

1 พฤศจิกายน 2555 11:29:26 #4

การรักษาที่คุณแม่ได้รับ ดิฉันตอบไม่ได้ว่า เป็นการรักษาตามอาการหรือเปล่า เพราะขึ้นกับว่า แพทย์วินิจฉัยว่า คุณแม่เป็นโรคอะไร เช่น ถ้าวินิจฉัยว่าคุณแม่ขาดวิตามิน การให้ยาวิตามินก็เป็นการรักษาสาเหตุคะ

อาการของคุณแม่ ไม่น่าเกี่ยวกับการผ่าตัดทอนซิลคะ

การที่คุณตั้งใจมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็เหมาะสมกับอาการของคุณแม่ เพราะเป็นโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนสอนนักศึกษาแพทย์และฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน จึงมีความพร้อมในทุกด้าน แต่คุณต้องใจเย็นๆ เพราะ การวินิจฉัยโรคอาจจำเป็นต้องใช้เวลา และอาจต้องพบแพทย์หลายครั้ง รวมทั้งอาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อที่แผลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ถ้าคุณเรียนปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลเดิม และขอประวัติการรักษาคุณแม่มาด้วย รวมทั้งผลชิ้นเนื้อจากตัดทอนซิล และควรจดชื่อยาทุกชนิดที่คุณแม่ใช้อยู่มาด้วยเช่นกัน ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ในการช่วยวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น ไม่ต้องเกรงใจกลัวแพทย์โกรธคะ เพราะแพทย์ทุกคนเข้าใจดี และก็อยากให้คนไข้หายอยู่แล้ว นอกจากนั้น แพทย์ที่รักษาคุณแม่อยู่อาจมีคำแนะนำเพิ่มเติม ทำให้คุณสะดวกขึ้นในการพบแพทย์โรงพยาบาลใหม่ก็ได้คะ

 

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์

Ture*****9

1 พฤศจิกายน 2555 13:28:40 #5

คุณหมอคะ ยาที่คุณหมอให้มา ทานไปนานๆ จะมีผลเสียกับคุณแม่ไหมคะ หรือว่าการดื้อยา เป็นต้น ค่ะ 

ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ เร็วๆนี้คุณแม่จะขึ้นมาตรวจรักษาที่ รพ.จุฬา ผลเป็นอย่างไร หนูจะมาตอบคุณหมอ ค่ะ 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์

(วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)

2 พฤศจิกายน 2555 04:18:21 #6

การสั่งยาทุกชนิด เมื่อเป็นการแนะนำจากแพทย์ จะเป็นการใช้ยาตามข้อบ่งชี้ ดังนั้นโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาจึงมีน้อย ยกเว้น กรณีผู้ป่วยแพ้ยา ซึ่งไม่มีใครสามารถทราบล่วงหน้าได้ว่าผู้ป่วยจะแพ้ยาอะไร ยกเว้นผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาตัวนั้น แพทย์ก็จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาตัวนั้น แนะนำคุณอ่านบทความเรื่อง ยา ในเว็บ haamor.com ซึ่งเขียนโดย เภสัชกร คุณ อภัย จะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องการใช้ยาได้มากขึ้นคะ

ส่วนเรื่องการดื้อยา มักเกิดในกรณีของการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งแพทย์ก็ระมัดระวังและตระหนักอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลเกินเหตุคะ

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์