ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ยาไอบูโปรเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไอบูโปรเฟนออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไอบูโปรเฟนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไอบูโปรเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไอบูโปรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาไอบูโปรเฟนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาไอบูโปรเฟน?
- ควรเก็บรักษายาไอบูโปรเฟนอย่างไร?
- ยาไอบูโปรเฟนมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)
- ยาลดไข้ ยาแก้ปวด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
บทนำ
ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen ) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด โดยอยู่ในพวกเดียวกับยาเอ็นเสด (NSAIDs, non- steroidal antiinflammatory drugs) แปลเป็นไทยว่า "ยาต้านการอักเสบที่ไม่ ใช่ยาสเตียรอยด์"
ยาไอบูโปรเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไอบูโปรเฟนมีสรรพคุณ/ ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- เป็นยาแก้ปวดระดับน้อยถึงปานกลาง สามารถใช้บรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบ ปวดประจำเดือน และใช้เป็นยาลดไข้ได้
- นอกจากนี้ทางการ แพทย์ยังนำไปใช้รักษาอาการปวดจากโรคข้อบางชนิดและบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน
ยาไอบูโปรเฟนออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอบูโปรเฟน โดยจะไปยับยั้งการทำงานของสารไซโคลออกซิจีเนส (Cyclooxygenase) กล่าวง่ายๆว่าเป็นสารเคมีในร่างกายชนิดหนึ่งซึ่งจะไปเปลี่ยนสารเคมีบางกลุ่มให้กลายเป็นสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) โพรสตาแกลนดินเป็นตัวชักนำให้เกิดอาการปวด การอักเสบ และก่อให้เกิดอาการไข้ของร่างกาย นอกจากนั้นไอบูโปรเฟนยังสามารถออกฤทธิ์โดยตรงที่สมองและบริเวณอวัยวะที่มีอาการปวดได้
ยาไอบูโปรเฟนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ไอบูโปรเฟน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ชนิดเม็ด ขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม
- ชนิดน้ำ ขนาด 100 มิลลิกรัมในน้ำ 1 ช้อนชา
ยาไอบูโปรเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไอบูโปรเฟน
- ควรรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร
- สำหรับผู้ใหญ่ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 2.4 กรัม/วัน
- ไอบูโปรเฟนจัดเป็นยาอันตรายและมีผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง) มากมาย จึงไม่ควรซื้อยากินเอง
- *ขนาดของยานี้ที่รับประทานในผู้ใหญ่และเด็กมีขนาดที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจาก แพทย์ หรือ เภสัชกรเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไอบูโปรเฟน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ เพราะยาไอบูเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยามักผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไอบูโปรเฟน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาไอบูโปรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ของยาไอบูโปรเฟน เช่น
- ในการรับประทานขนาดต่ำๆ มีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ และสามารถทำให้ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อหัว ใจผิดปกติได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ และ/หรือระบบหัวใจ
- มีบางรายงานกล่าวว่า การใช้ยาตัวนี้จะทำให้สภาพร่างกายทนต่อแสงแดดได้น้อยลงเช่น เกิดอาการปวดแสบร้อนเมื่อออกแดดนานๆ กล่าวคือผิวหนังไวต่อแสงแดดเกินกว่าปกติที่เคยเป็น
- ผลอันไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆของยาไอบูโปรเฟน เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร ปวดศีรษะ ง่วงนอน เกิดผื่นคันทางผิวหนัง และหอบหืด
ยาไอบูโปรเฟนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
การกินยาไอบูโปรเฟนอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- เมื่อกินร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอา หารและลำไส้
- เมื่อกินร่วมกับยาลดความดันโลหิตจะทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตลดลง และทำให้ไตทำงานบกพร่อง กลุ่มยาลดความดันโลหิต เช่น
- อะทีโนลอล (Atenolol)
- โปรปาโน ลอล (Propanolol)
- เมโทรโปลอล (Metropolol)
- แคนดีซาร์แทน (Candesartan)
- โลซาร์แทน (Losartan)
- และโอลมีซาร์แทน (Olmesartan)
- เมื่อกินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่นยา
- แอบซิไซแมบ (Abciximab)
- และวอร์ฟาริน (Warfarin Sodium)
- เมื่อกินร่วมกับยารักษาโรคหัวใจบางชนิดจะทำให้การออกฤทธิ์ของยารักษาโรคหัวใจมีมากขึ้นจนอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ อาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ยารักษาโรคหัวใจ เช่นยา ไดจอกซิน (Digoxin)
มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาไอบูโปรเฟน?
ข้อควรระวังในการใช้ยาไอบูโปรเฟนที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เช่น
- ผู้ป่วยที่แพ้ยาไอบูโปรเฟน
- เป็นโรคกระเพาะอาหาร
- ในผู้ที่มีประวัติหอบหืด
- ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
- ในโรคความดันโลหิตสูง
- ในผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาแอสไพริน
- หรือการแพ้ยาในกลุ่มเอนเสดทั้งหลาย
- นอกจากนั้นคือ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ถึงยาไอบรูโปรเฟน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาไอบูโปรเฟนอย่างไร?
การเก็บรักษายาไอบูโปรเฟน เช่น
- ยาเม็ด:
- สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้อง
- และควรเก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น
- ยาน้ำ: หลังเปิดขวดใช้แล้ว สามารถใช้ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือน (เมื่อยาไม่มีการเปลี่ยนสีหรือ กลิ่นหรือผิดปกติอื่นๆ) และ
- ควรเก็บยาทุกชนิด
- ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาไอบูโปรเฟนมีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาไอบูโปรเฟน เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aprofen (อะโปรเฟน) | Medicine Supply |
Brufen (บรูเฟน) | Abbot |
Brusil (บรูซิล) | Silom Medical |
Cefen junior (ซีเฟน จูเนียร์) | Pharmasant Lab |
บรรณานุกรม
- MIMS. Pharmacy. Thailand. 9th Edition 2009.
- MIMS Thailand. TIMS. 110th Ed 2008.
- พิสิฐ วงศ์วัฒนะ. (2547). ยา. THE PILL BOOK.
- สุภาภรณ์ พงศกร. (2528). ปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา (Drug Interactions). เภสัชวิทยา เล่ม 1. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.