โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคผิวหนังอักเสบ Seborrheic dermatitis หรือที่มักเรียกกันย่อๆว่า “โรคเซบเดิร์ม (เซ็บเดิร์ม/Seb derm)” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยทั่วโลก อัตราการเกิดของโรคในประชากรยังไม่ทราบแน่ชัด ประมาณการว่า ผู้ที่เป็นผิวหนังอักเสบเซบเดิร์มนั้นมีอยู่ประมาณ 3-5% ของประชากรทั้ง หมดทั่วโลก แต่หากนับรวมผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น รังแคบนหนังศีรษะเข้าด้วย อาจมีมากถึง 12-15% ของจำนวนประชากร พบในประชากรเพศชายมากกว่าในเพศหญิง และพบได้บ่อยใน 2 ช่วงวัยคือ ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน และในผู้ใหญ่ช่วงอายุ 40-70 ปี

โรคเซบเดิร์มมีสาเหตุและกลไกการเกิดอย่างไร?

โรคเซบเดิร์ม

โรคเซบเดิร์มนั้น ไม่ใช่ทั้งโรคติดต่อ หรือโรคทางพันธุกรรม สาเหตุและกลไกของโรคยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจนนัก แต่จากการเก็บข้อมูลและทำการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลให้เกิดโรคมีหลายปัจจัยดังนี้

  • ผิวมัน พบว่าตำแหน่งที่เกิดโรคเซบเดิร์มนั้น อยู่ในตำแหน่งที่มีปริมาณและการทำงานของต่อมไขมันมาก เช่น ซอกจมูก คิ้ว หลังหู และลำตัวส่วนบน จากการศึกษาพบว่าผิวหนังของผู้ที่เป็นเซบเดิร์ม มีปริมาณของไขมันที่เคลือบที่ผิวหนังมากกว่าปกติ และไขมันนั้นยังประ กอบด้วยสัดส่วนชนิดของไขมันย่อยที่ต่างสัดส่วนจากสภาพผิวทั่วไป อีกเหตุผลที่สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างผิวมันกับโรคเซบเดิร์มคือ อุบัติการณ์ของโรค พบมากในทารกอายุก่อน 3 เดือนที่มีต่อมไขมันโตและทำงานมาก และเริ่มพบอีกครั้งในช่วงวัยรุ่นที่ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น จนอาการเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ช่วงอายุ 40-50 ปี
  • เชื้อราชื่อ Malassezia เป็นเชื้อราชนิดที่ชอบไขมัน ซึ่งพบได้ปกติบนผิวหนังทั่วไปของเรา โดยจากการศึกษาพบว่า การใช้ยากำจัดเชื้อรา สามารถลดอาการของเซบเดิร์มลงได้ดี เชื้อราชนิดนี้จึงน่าจะมีความสัมพันธ์กับสาเหตุการเกิดเซบเดิร์ม โดยมีข้อนิษฐานว่าเชื้อรา Malasse zia นี้ ผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยไขมันบนผิวหนัง และกระตุ้นให้เกิดกลไกการอักเสบขึ้น
  • สาเหตุ/ปัจจัยอื่นๆ ที่พบว่า อาจเพิ่มโอกาส/กระตุ้นการการเกิดเซบเดิร์ม แต่ยังไม่ทราบกลไกแน่ชัด เช่น
    • การบาดเจ็บของผิวหนัง เช่น การเกา โดยเฉพาะจนถลอก การขัดถูผิวหนัง โดยเฉพาะที่รุนแรง
    • การเปลี่ยนแปลงความชื้นในอากาศ การเปลี่ยนฤดู โดยพบว่าโรคเซบเดิร์ม มักมีอาการแย่ลงในฤดูหนาวที่มีอากาศเย็น และมีความชื้นในอากาศต่ำ
    • ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
    • พบอัตราการเกิดเซบเดิร์มเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพากินสัน หรือผู้ป่วยมีประวัติอุบัติเหตุที่สมอง และมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น โรคเอดส์

อนึ่ง แม้ว่าจะมีรายงานว่าพบ ยีน/จีน (Gene) ที่ผิดปกติ ที่น่าจะเป็นสาเหตุของเซบเดิร์ม แต่พบว่าโรคนี้ไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่อย่างใด โรคนี้จึงน่าจะเกิดจากหลายสา เหตุ/ปัจจัยร่วมกัน ทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคเซบเดิร์ม?

โรคเซบเดิร์ม พบได้บ่อยในผู้ที่มีผิวมัน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ ดังนั้นในรายที่มีอาการโรคเซบเดิร์มรุนแรง และมีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี/HIV จึงควรต้องตรวจการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยเสมอ

โรคเซบเดิร์มมีอาการอย่างไร?

อาการของเซบเดิม มีได้ตั้งแต่อาการไม่มาก ลักษณะเพียงคันศีรษะ มีรังแค ไปจนถึงอา การรุนแรงที่เป็นผื่นทั่วตัว แต่อาการรุนแรงนั้นพบได้น้อย อย่างไรก็ตามลักษณะของการเกิดผื่นและสะเก็ด มักแตกต่างกันตามแต่ละบริเวณของรอยโรค เช่น

  • บริเวณหนังศีรษะ มักพบเป็นอาการคัน มีผื่นแดงได้บ้างแต่ไม่บ่อย มีสะเก็ดเป็นรังแคหนา ซึ่งผื่นแดงมีสะเก็ดพบได้บริเวณไรผม แต่จะไม่ลามเกินไปกว่าไรผม ต่างจากโรคสะเก็ดเงินที่ผื่นแดงหนา สามารถลามเกินไรผมออกมาที่บริเวณหน้าผากและใบหน้าได้
  • บริเวณหลังใบหู พบเป็น ผื่นแดง คันภายในรูหูด้านนอกและด้านหลังหู ผื่นแดงมักมีลักษณะเป็นสะเก็ดมัน
  • บริเวณใบหน้าและลำตัว มักพบในบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่หนาแน่น คือ หัวคิ้ว ระหว่างคิ้วทั้ง 2 ข้าง ซอกจมูก อก ไหล่ ลำตัวส่วนบน ซึ่งจะพบเป็นลักษณะผื่นแดง ขอบชัด มีสะเก็ดสีออกเหลืองและลักษณะเป็นมัน
  • บริเวณอื่นที่สามารถพบได้ แต่ไม่บ่อยนัก เช่น สะดือ รักแร้ ขาหนีบ

ทั้งนี้ อาการของโรคมักจะเป็นๆหายๆ ขึ้นกับปัจจัยกระตุ้นดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สา เหตุ/กลไกการเกิดโรค เช่น อาการจะกำเริบในหน้าหนาว หรือ เมื่อมีความเครียด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้ออาการ เพื่อการวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสม

แพทย์วินิจฉัยโรคเซบเดิร์มได้อย่างไร?

แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคเซบเดิร์มจาก

  • การตรวจรอยโรค ดูลักษณะเฉพาะและการกระ จายของผื่น
  • โดยทั่วไปการสอบถามประวัติอาการ และการตรวจลักษณะรอยโรค ก็เพียงพอต่อการวินิจฉัย
  • การตรวจเพิ่มเติม/การตรวจสืบค้นอื่นๆ เช่น การขูดรอยโรคเพื่อตรวจเชื้อรา หรือการตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ใช้ในกรณีที่ต้องการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่นๆในรายที่อาการไม่ชัดเจน

แพทย์รักษาโรคเซบเดิร์มอย่างไร?

จุดประสงค์ของการรักษาโรคเซบเดิร์มคือ การควบคุมอาการ เพราะยังไม่มีการรักษาที่สามารถรักษาให้โรคหายขาดได้ ระยะเวลาการกลับเป็นซ้ำแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดย ทั่วไปขึ้นกับปัจจัยกระตุ้นดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/กลไกการเกิดโรค

โดยทั่วไประยะเวลาในการรักษาเมื่อโรคกำเริบอยู่ที่ประมาณ 1-3 สัปดาห์ การรักษาโรคเมื่อเริ่มเป็นแต่ต้น จะช่วยทำให้อาการการกำเริบหายเร็วขึ้น

การใช้ยาต่างๆเพื่อการรักษา จึงใช้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เฉพาะเมื่อโรคกำเริบเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ทั้งนี้เพื่อลดผลข้างเคียงของยาที่ใช้

การเลือกใช้ยาทา หรือยารับประทานนั้น ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ในรายที่เป็นไม่มาก ใช้เพียงยาทา ส่วนในรายที่เป็นมาก กลับเป็นบ่อยๆ และ/หรือดื้อต่อการรักษา อาจพิจารณายารับประทาน หรือการรักษาด้วยการฉายแสงแดด (Sunlight) ร่วมด้วย

ยาที่ใช้ในการรักษาเซบเดิร์ม เช่น

ก. เซบเดิร์มที่หนังศีรษะ:

  • ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ Selenium sulfide, Ketoconazole Tar, และ/หรือ Zinc เพื่อลดรังแค ใช้สระผมทุกวัน หรือวันเว้นวัน ขึ้นกับปริมาณรังแค ขณะสระให้ฟอกแชมพูทิ้งไว้ 5-10 นาทีจึงล้างออก ในช่วงที่โรคสงบ อาจลดการสระแชมพูยาลงเหลือเพียงสองครั้งต่อสัปดาห์สลับกับแชมพูทั่วไปได้ (แนะนำให้ใช้เป็นแชมพูสูตรขจัดรังแค) หากมีสะเก็ดติดแน่นที่ศีรษะ ให้หมักผมด้วย Baby oil สวมหมวกพลาสติกหรือใช้ โพก/Wrap คลุมทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วสระออกเพื่อให้สะเก็ดหลุดลอกออกได้ง่ายขึ้น
  • สำหรับผื่นแดงอักเสบที่ศีรษะ ใช้เป็นยาสเตียรอยด์เข้มข้น เช่น ยา Clobetasol หยอดเฉพาะบริเวณรอยโรคที่หนังศีรษะเช้า-เย็น จนรอยโรคหายคือ 1-3 สัปดาห์โดยประมาณ และหลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์จัดแต่งทรงผม เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ

ข. เซบเดิร์มบริเวณใบหน้า:

  • ในช่วงที่โรคกำเริบ สามารถใช้แชมพู 2% Ketoconazole shampoo ล้างหน้าแทนสบู่ล้างหน้า หลังล้างหน้า หากมีผิวแห้งให้ทามอสเจอไรเซอร์ (Mois turizer) ให้ความชุ่มชื้นด้วย
  • ในช่วงที่โรคสงบในคนที่ไม่ได้แต่งหน้า ให้ใช้น้ำเปล่าล้างหน้าก็เพียงพอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่จะทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ครีมโกนหนวด ครีมหลังโกนหนวด (After shave) และโทนเนอร์ (Toner)
  • ผื่นแดง ขุย สะเก็ด ให้ใช้ทายาทาฆ่าเชื้อรา 2% Ketoconazole cream ใช้ทาเช้าเย็นบริเวณรอยโรค ซึ่งอาจพบอาการระคายเคืองได้บ้างแต่ไม่มาก ใช้ทาประมาณ 4 สัปดาห์หรือจนกว่ารอยโรคหาย และอาจเพิ่มยาทาสเตียรอยด์ ซึ่งแนะนำให้ใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆ จนรอยโรคหาย เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน เช่น เกิดหลอดเลือดฝอยบนผิวหนัง ผิวหนังบาง และ/หรือ สิว ใช้ทาเช้า-เย็น โดยทาเพียงบางๆ โดยบริเวณใบหน้าใช้เป็นชนิด 1% Hydrocortisone

ค. เซบเดิร์มบริเวณลำตัว:

  • ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ Selenium sulfide หรือ Ketocona zole ฟอกแทนสบู่ โดยฟอกทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก
  • หลังอาบน้ำถ้ามีผิวแห้ง ให้ใช้ มอสเจอร์ไรเซอร์ ทาให้ความชุ่มชื้น
  • ผื่นแดง ขุย สะเก็ดอักเสบ ให้ใช้ยาทาสเตียรอยด์ความเข้มข้นปานกลางเช่น Beta methadone ทาบางๆ เช้า-เย็น ใช้ยาในช่วงเวลาสั้นๆ จนรอยโรคหาย

อนึ่ง:

  • ยาทาในกลุ่ม Calcineurin inhibitor เช่น Tacrolimus และ Pimecrolimus มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผิวหนัง สามารถใช้ทดแทนยาเสตียรอยด์ เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา สเตียรอยด์เป็นเวลานาน แต่ราคาสูงเมื่อเทียบกับยาทาสเตียรอยด์ นอกจากนี้ Tacrolimus ยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราด้วย ใช้ทาที่รอยโรคเช้า-เย็น ซึ่งอาจมีการระคายเคืองผิวหนังจากยาได้

นอกจากนี้ การรักษาในรายที่อาการเป็นมาก หรือดื้อต่อการรักษาวิธีทั่วไป ควรพิจารณาและควบคุมการใช้ยาโดยแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยา ซึ่งแนวทางการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่

ก. ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน: ขนาดของยาและระยะเวลาการรักษาแตกต่างกันตามชนิดยา แต่ยังไม่มีการกำหนดเป็นการรักษามาตรฐานขึ้น ตัวอย่างยาที่ใช้บ่อยในประเทศไทยที่มีการศึกษาว่าได้ผลในการรักษาโรคเซบเดิร์ม เช่น

  • ยา Ketoconazole ขนาด 200 mg ทานหลังอาหารทุกวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ผลข้าง เคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ตับอักเสบ จึงงดการดื่มสุราในช่วงที่รับประทานยา และต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องรับประทานยาอื่นร่วมด้วย เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction)
  • ยา Itraconazole มีราคาสูงกว่ายา Ketoconazole แต่โอกาสการเกิดตับอักเสบน้อยกว่า รับประทานขนาด 200 mg หลังอาหารเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องรับประทานยาอื่นร่วมด้วย เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) เช่นกัน

ข. อนุพันธ์ของวิตามินเอชนิดรับประทาน (Isotretinoin) ในขนาดต่ำ เช่น 10 มิลิกรัม วันเว้นวัน หลังอาหาร เป็นเวลา 3-4 เดือน ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ปากแห้ง ผิวแห้ง หญิงวัยเจริญพันธุ์จำเป็นต้องได้รับการคุมกำเนิดระหว่างใช้ยาและหลังหยุดยา 1 เดือนอย่างเคร่งครัด เพราะยาอาจก่อให้เกิดความพิการของทารกได้

ค. การรักษาโดยการฉายแสงแดด Narrow band ultraviolet B โดยรับการฉายแสง แดดสัปดาห์ละ 3 ครั้งจนรอยโรคหมดไป ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

โรคเซบเดิร์มก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากโรคเซบเดิร์ม เช่น การติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ซ้อนที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแดง เจ็บ มีหนอง หรือน้ำเหลือง นอกจากนั้นคือ อาจส่งผลทาง ด้านความสวยงาม ที่ส่งผลถึงอารมณ์/จิตใจ

โรคเซบเดิร์มมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคเซบเดิร์ม คือ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ไม่เป็นสาเหตุการตาย หรือทุพลภาพ แต่ทำให้เกิดความกังวลในภาพลักษณ์เมื่อมีผื่นขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินโรคอาจเริ่มจากอาการในช่วงวัยรุ่น มีอาการเป็นๆหายๆขึ้นกับการรักษา และปัจจัยกระตุ้นดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ/กลไกการเกิดโรค และโรคอาจดำเนินอยู่เป็นเวลาหลายปี เป็นๆหายๆ และอาจกำ เริบมากขึ้นในช่วงอายุ 40-50 ปี

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเซบเดิร์ม? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเซบเดิร์ม และการพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด คือ

  • ควรต้องคอยสังเกตการกำเริบของโรค เมื่อมีผื่นแดง สะเก็ดขึ้นในบริเวณที่เคยพบเซบเดิร์ม ให้รีบทายาควบคุมอาการแต่เนิ่นๆ โดยใช้ยาในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงให้โรคสงบ จาก นั้นให้คอยระวังปัจจัยกระตุ้นดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ/กลไกเกิดโรค เช่น ความ เครียด, การพักผ่อนไม่เพียงพอ, การบาดเจ็บของผิวหนัง เช่น การเกา, ความชื้นและความเย็นในอากาศที่เปลี่ยนแปลง
  • หลีกเลี่ยง ครีม ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เนื่องจากสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ เช่น โฟมโกนหนวด โทนิก (Tonic) ใส่ผม โทนเนอร์(Toner) ครีมหรือน้ำยาหลังโกนหนวด/After shave และ/หรือ สเปรย์ผม
  • ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ซ้ำซ้อนโดยการไม่ แกะ เกา ถู บริเวณที่เป็นโรค และตัดเล็บให้สั้น และรักษาความสะอาดเล็บเสมอ
  • การรับแสงแดด มีการวิจัยพบว่า แสงแดด อาจช่วยให้อาการเซบเดิร์มดีขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายถึงการออกไปตากแดดเป็นเวลานาน เพียงแต่มีกิจกรรมกลางแจ้งบ้างตามความเหมาะสม เช่น เล่นกีฬากลางแจ้งก็เพียงพอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • หลังใช้ยา หากอาการกำเริบ หรือมีแนวโน้มอาการไม่ดีขึ้น
    • หรือสงสัยมีอาการจากการแพ้ยาดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการรักษาฯ’
    • หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคเซบเดิร์มได้อย่างไร?

สำหรับการป้องกันโรคเซบเดิร์มนั้น เนื่องจากสาเหตุการเกิดยังไม่ทราบชัดเจน แต่พอทราบปัจจัยทั้งภายในร่างกาย และสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดโรค และ/หรือให้อาการรุนแรงขึ้น จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรค มีเพียงแต่วิธีการรักษาเมื่อโรคกำเริบ และวิธีป้องกันการกำเริบของโรค โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ/กลไกการเกิดโรค

บรรณานุกรม

  1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548, 231-234
  2. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest, Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; seven edition ; Mc Grawhill medical
  3. https://emedicine.medscape.com/article/1108312-overview#aw2aab6b2b3aa [2019,Nov2]