โรคพุพอง (Impetigo)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคพุพอง หรือโรคแผลพุพอง (Impetigo) คือโรคติดเชื้อที่ผิวหนังในบริเวณที่เป็นชั้นตื้นๆของหนังกำพร้า พบบ่อยในวัยเด็ก และมีการติดต่อง่าย มักพบบริเวณ ใบหน้า แขน ขา หรือ บริเวณที่มีรอยเปิดของผิวหนัง เช่น บริเวณที่มีแผล เช่น จากรอยเกา

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคพุพอง?

โรคพุพอง

โรคพุพองเกิดจากผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Streptococcus pyogenes และชนิด Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่อาจพบได้ปกติบริเวณผิวหนังและทางเดินหายใจ

โรคพุพองติดต่ออย่างไร?

โรคพุพองติดต่อได้จากการสัมผัสแผลพุพองโดยตรง หรือจากสัมผัสของใช้ เช่น เสื้อผ้า ของเล่นของเด็ก หรือของใช้-เสื้อผ้าของคนที่เป็นโรคพุพอง

โรคพุพองมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคพุพอง:

  • มักพบเกิดเป็นรอยโรคที่ผิวหนังบริเวณใบหน้าหรือบริเวณแขน-ขาที่มีแผลอยู่ก่อนแล้ว โดยเริ่มด้วยมีตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองเล็กๆที่มีผนังบางๆซึ่งจะแตกออกง่ายจึงทำให้บริเวณแผลแฉะไปด้วยน้ำเหลืองและน้ำหนอง ซึ่งบางบริเวณจะแห้งกรังเป็นสะเก็ดกรัง
  • กรณีแผลสีเหลืองๆคล้ายน้ำผึ้งเรียกว่า ‘Impetigo contagiosa’
  • ในผู้ป่วยประมาณ 30% อาจมีตุ่มน้ำพองขนาดใหญ่ได้เรียกว่า ‘Bullous impetigo’

แพทย์วินิจฉัยโรคพุพองได้อย่างไร?

โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคพุพองจาก

  • การสอบถามประวัติอาการ ประวัติการเกิดแผล ประวัติการสัมผัสโรค
  • การตรวจร่างกาย และ ตรวจดูรอยโรคเป็นสำคัญ
  • โดยอาจส่งเพาะเชื้อจากแผล เพื่อยืนยันชนิดของเชื้อโรค และเพื่อดูประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะต่อเชื้อที่ก่อโรคพุพอง
  • การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา อาจทำในกรณีที่แพทย์ไม่แน่ใจในการวินิจฉัย หรือในผู้ป่วยที่เป็นแผลมานานโดยรักษาแล้วแผลไม่ดีขึ้น

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีบาดแผลที่ไม่หายจากการดูแลตนเองในเบื้องต้นหรือมีอาการที่แย่ลง เช่น มีอาการเจ็บ/ปวด หรืออักเสบมากขึ้น มีหนอง หรือแผลลุกลามขยายขนาดแผล ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์รักษาโรคพุพองอย่างไร?

แพทย์รักษาโรคพุพองโดยแบ่งเป็นการดูแลบริเวณแผลและการกำจัดเชื้อโรค

ก. การดูแลแผล:

  • โดยการทำแผลด้วยน้ำเกลือทำแผล (Normal saline) ที่สะอาด
  • จากนั้น ทาบริเวณแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อเพื่อกำจัดเชื้อบริเวณแผล และเพื่อส่งเสริมกระบวนการหายของแผล
  • ผู้ป่วยต้องไม่บีบ แคะ แกะ เกา บริเวณแผล เพราะจะเพิ่มโอกาสเชื้อกระจายไปผิวหนังบริเวณอื่น แผลลุกลามลงลึก และทำให้แผลหายช้า

ข. การกำจัดเชื้อโรค: คือ การทานยาปฏิชีวนะเพราะนอกจากจะกำจัดเชื้อบริเวณผื่น/แผลได้แล้ว ยังสามารถกำจัดเชื้อจากผิวหนังบริเวณอื่น และช่วยลดโอกาสการเกิดไตอักเสบจากปฏิกริยาภูมิคุ้มกันร่างกายต่อเชื้อโรคบางสายพันธุ์ (Poststreptococcal Glomerulonephritis)

โรคพุพองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคพุพอง มีการพยากรณ์โรคที่ดี ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง แผลอาจหายเองได้ใน 2 - 3 สัปดาห์แม้ไม่ได้รับการรักษา แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมแผลจะดีขึ้นใน 7 - 10 วัน

ผู้ป่วยที่มีผื่นที่ผิวหนังจากโรคอื่นร่วมด้วยเช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาจจะทำให้โรคหายช้ากว่าปกติ

โรคนี้เมื่อรักษาหายแล้วสามารถกลับเป็นใหม่ได้อีก โดยทั่วไปถ้าการติดเชื้อไม่ลุกลามลงในผิวหนังชั้นลึกๆ หลังการรักษาหายแล้วมักไม่เกิดแผลเป็น

โรคพุพองก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

แม้โรคพุพองอาจสามารถหายได้เอง แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรได้รับการรักษาที่เหมาะ สมจากแพทย์ เพื่อให้ผื่นหายเร็ว ลดการติดต่อไปสู่ผู้อื่น และยังลดโอกาสเชื้อลุกลาม เช่น การติดเชื้อเข้าสู่ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกซึ่งจะไม่หายเอง การรักษาจะยุ่งยากและเมื่อแผลหายแล้วอาจเกิดเป็นแผลเป็นได้

นอกจากนี้ การรักษาโดยแพทย์ยังช่วยลดโอกาสเกิดไตอักเสบจากปฏิกริยาภูมิคุ้มกันร่างกาย (Poststreptococcal Glomerulonephritis)

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น ควรมีการดูแลรักษาความสะอาดแผล, ไม่บีบ แกะ เกา, ควรมีการทำแผล ทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม

หากแผลมีอาการแย่ลง เช่น มีการอักเสบมากขึ้น มีหนอง หรือลุกลามขยายขนาด ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

*เมื่อพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองนอกจากเช่นเดียวกับที่กล่าวตอนต้นคือ รักษาความสะอาดแผล ไม่บีบ แกะ เกา และยังควรต้อง

  • ตัดเล็บให้สั้น
  • รักษาความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องใช้
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยสบู่โดยเฉพาะหลังสัมผัสแผล
  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ ที่รวมถึงกินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถัวนถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

หากเคยพบแพทย์แล้ว ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ

  • อาการพุพองไม่ดีขึ้น
  • มีอาการต่างๆแย่ลง
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ตาบวม แขนขาบวม ปัสสาวะเป็นเลือด
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันเกิดโรคพุพองอย่างไร?

การป้องกันโรคพุพองคือ การป้องกันแผลติดเชื้อเมื่อเกิดมีแผลขึ้นที่ผิวหนังซึ่งป้องกันได้โดย

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รักษาความสะอาดผิวหนังเสมอด้วยการอาบน้ำทุกวัน
  • ทำความสะอาดผิวหนังทุกครั้งด้วยสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งสกปรก
  • เมื่อมีแผลเกิดขึ้นควรรักษาความสะอาดแผลเสมอ อาจทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อหรือทายาปฏิชีวนะจนกว่าแผลจะหาย
  • ไม่แกะ เกา บีบ แผล
  • ตัดเล็บให้สั้น
  • เมื่อมีแผล รักษาความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องใช้ ที่สัมผัสแผล
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆและทุกครั้งที่สัมผัสแผล
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคพุพอง ไม่ใช้เครื่องใช้ร่วมกัน
  • เพื่อป้องกันแผลลุกลาม เมื่อเกิดแผลพุพอง/แผลเป็นหนอง แผลติดเชื้อ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง

บรรณานุกรรม

  1. Burns, T., & Rook, A. (2010). Rook's textbook of dermatology (8th ed.). Chichester, West Sussex, UK ; Hoboken, NJ: Wiley-Blackwell.
  2. http://www.dermnetnz.org/bacterial/impetigo.html [2021,Jan23]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/965254-overview [2021,Jan23]
  4. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000860.html [2021,Jan23]
  5. ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555