โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)

สารบัญ

ทั่วไป

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่เกิดจากผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก โดยผิวหนังมักมีลักษณะแห้ง ขึ้นผื่น มีอาการคันมาก ตำแหน่งการกระจายของผื่นแตกต่างกันตามอายุ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน โดยพื้นทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด แพ้อากาศ ร่วมกับภาวะทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายผู้ป่วย เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น อาหารบางอย่าง สภาพอากาศ สิ่งระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เนื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การเกา และ/หรือ ความเครียด ร่วมกันจะทำให้เกิดผื่น และกระตุ้นให้ผื่นรุนแรงขึ้น

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการอย่างไร?

ลักษณะผื่นผิวหนังในโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น มีลักษณะการอักเสบของผิวหนังหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจนถึงระยะเรื้อรัง ลักษณะที่พบได้คือเป็นผื่นตุ่มแดงคัน เป็น แผ่นแดง ลอก และเป็นขุยได้ มีอาการคันมากและมีการกระจายตามตัวต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้

  • วัยทารก มักเริ่มในวัยเด็กเล็กอายุ 2-3 เดือน ตามบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขน และขา ที่สัมผัสสารระคายเคือง หรือมีการเสียดสี
  • วัยเด็กโต ลักษณะผื่นจะหนาขึ้น มีรอยเกา บริเวณลำคอ ข้อพับของแขนและขา

แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้จากอาการ และลักษณะของผื่น ที่มีอาการคัน ตำแหน่งของผื่นตามช่วงอายุ ประวัติการเกิดผื่นเป็นๆหายๆ และประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนว่าผู้ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังแพทย์วินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้จากอาการ และลักษณะของผื่น ที่มีอาการคัน ตำแหน่งของผื่นตามช่วงอายุ ประวัติการเกิดผื่นเป็นๆหายๆ และประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนว่าผู้ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหาระดับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน ไอจีอี (IgE) ในเลือด การตรวจทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้ แต่การตรวจเหล่านี้ไม่เฉพาะเจาะจง การวินิจฉัยต้องอาศัยอาการต่างๆรวมทั้งอาการทางผิวหนังร่วมด้วยเสมอ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีวิธีรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ได้แก่

  • ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่อาจทำให้ผื่นกำเริบ โดยเฉพาะถ้ามีประวัติชัดเจน เช่น อาหาร เหงื่อ สารเคมี ที่อาจระคายเคือง
  • พยายามให้ผิวหนังชุ่มชื้น โดยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยเกินไป หรืออาบน้ำอุ่นจนเกินไป จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • แนะนำให้ทาครีม หรือโลชันบำรุงผิวทันทีหลังอาบน้ำตอนผิวยังเปียก เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
  • เมื่อมีผื่นเกิดขึ้น แพทย์จะให้การรักษาผื่นตามลักษณะและระยะของผื่น เป็นต้นว่า หากมีลักษณะการอักเสบของผิวหนังแบบเฉียบพลัน มีน้ำเหลืองไหล จะใช้น้ำเกลือประคบแผล หากระยะของผื่นเกิดมานาน จะเริ่มการรักษาโดยใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดทา โดยแพทย์จะเลือกชนิดและความแรงของยาให้เหมาะสมกับลักษณะ และตำแหน่งของผื่น ไม่ควรซื้อยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จากร้านขายยาเอง เพราะผู้ป่วยเด็กอาจมีผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้ (เช่นผิวหนังส่วนที่ทายาบางลง เกิดแผลแตก และติดเชื้อได้ง่าย เกิดผื่นอีกชนิด และยาอาจดูดซึมเข้าร่างกาย ก่อการทำงานผิดปกติของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะของต่อมหมวกไต)
  • ปัจจุบันมียากลุ่มต้านการอักเสบ Calcinurin inhibitors ทดแทนยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงในเด็กที่ต้องทายาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ แต่ราคายังค่อนข้างสูง จึงพิจารณาเลือกใช้เป็นรายๆไป และพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
  • เฝ้าระวัง และมองหาภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนัง หากตรวจพบต้องให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนนั้นๆ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
  • รับประทานยาลดอาการคัน เพื่อบรรเทาอาการคันที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังรักษาหายไหม?

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีลักษณะการดำเนินโรคเรื้อรัง และมีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะมีผื่นเกิดขึ้นเป็นๆหายๆ มีช่วงที่โรคสงบ/ผื่นยุบ และมีช่วงที่ผื่นกำเริบ ทั้งนี้ขึ้นกับการดูแลผิวหนัง และการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นซึ่งแตกต่างกันในแต่ละราย มีโอกาสที่โรคจะสงบและหายได้ เมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่ผื่นผิวหนังจะดีขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการดูแลผิวหนังตนเองได้ดีขึ้นนั่นเอง

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์?

เมื่อมีผื่นที่ผิวหนัง ควรพบแพทย์เมื่อพบว่ามีผื่นคันเป็นๆหายๆ ในตำแหน่งต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของผื่นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น หรือเมื่อพบลักษณะการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่ต่างไปจากเดิม เพราะอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสแทรกซ้อนบริเวณผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเดิมได้

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังป้องกันได้ไหม?

เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งส่วนของพื้นทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันจึงไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหารบางอย่าง สภาพอากาศ สิ่งระคายเคือง เช่น สารเคมี น้ำหอม สบู่ แป้ง ผงซักฟอก ตัวไรฝุ่น เหงื่อ เนื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา การเกาและความเครียด จะสามารถป้องกันการเกิดผื่น และลดความรุนแรงของผื่นได้

บรรณานุกรม

  1. Hanifin JM. Atopic dermatitis in infants and children. Pediatr Clin North Am. 1991 Aug;38(4):763-89.
  2. Kiken DA, Silverberg NB. Atopic dermatitis in children, part 1: epidemiology, clinical features, and complications. Cutis. 2006 Oct;78(4):241-7.
  3. Kiken DA, Silverberg NB. Atopic dermatitis in children, part 2: treatment options. Cutis. 2006 Dec;78(6):401-6.
  4. Susac A, Babic S, Lipozencic J. An overview on atopic dermatitis in children. Acta Dermatovenerol Croat. 2007;15(3):158-66.