โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) ถือเป็นส่วนหนึ่งของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประกอบไปด้วยโรคหลอดลมอักเสบและถุงลมโป่งพอง โดยปกติแล้วจะพบลักษณะของ 2 โรคนี้ร่วมกัน แต่หากตรวจพบว่าปอดมีพยาธิสภาพของถุงลมที่โป่งพองออกเป็นลักษณะเด่น ก็จะเรียกว่า “โรคถุงลมโป่งพอง” สาเหตุหลักเกิดจากการสูบบุหรี่ การรักษาคือการหยุดสาเหตุ และรักษาแบบประคับประคองตามอาการซึ่งจะไม่ได้ทำให้พยาธิสภาพของโรคหายไป เพียงแค่หยุดการดำเนินของโรค/การลุกลามของโรค และทำให้อาการดีขึ้น

โรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งถือเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น เป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของการเสียชีวิตในประชากรทั่วโลก โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบเป็นลำดับที่ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากร หากนับเฉพาะโรคถุงลมโป่งพอง อัตราการพบโรค คือ 18 คน ในประชากร 1,000 คน สำหรับในประเทศไทย โรคนี้ก็พบเป็นสิบลำดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิต

โรคถุงลมโป่งพองส่วนใหญ่พบในวัยสูงอายุ ผู้ชายพบได้มากกว่าผู้หญิง

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคถุงลมโป่งพอง?

โรคถุงลมโป่งพอง

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคถุงลมโป่งพอง พบได้หลายสาเหตุ ได้แก่

1. การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งรวมถึงบุหรี่ที่ทำจากใบจากด้วย ปริมาณและระยะเวลาที่สูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค ยิ่งสูบบุหรี่มากและสูบมานานหลายปี ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มาก แต่ไม่จำเป็นว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทุกคนจะต้องเป็นโรคนี้ โดยเฉลี่ยผู้สูบบุหรี่ 5 คนจะเป็นโรคนี้ 1 คน การที่ไม่ได้เป็นโรคในผู้ที่สูบบุหรี่ทุกคน คาดว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยของเรื่องพันธุกรรมในแต่ละบุคคล นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เอง แต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

2. มลภาวะของอากาศ พบว่าประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ๆ มีอัตราการป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งก็รวมถึงโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าประชากรในชนบท มลภาวะอากาศจึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้การทำงานบางประเภทที่มีการหายใจเอาละอองสารเคมีบางอย่างเป็นปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น การทำงานในเหมืองถ่านหิน งานอุตสาหกรรมสิ่งทอจากฝ้าย งานอุตสาหกรรมพลาสติก และงานเชื่อมโลหะ ก็พบว่า เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงด้วยเช่นกัน

3. เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์ (Enzyme) ชื่อ Alpha-one antitrypsin (เอนไซม์ป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจากสารต่างๆ) ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ โดยความผิดปกติของสารพันธุกรรมพบได้หลายแบบแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ความผิดปกติบางชนิดทำให้เกิดขาดเอนไซม์เพียงเล็กน้อยและไม่ได้ทำให้เกิดโรค ความผิดปกติบางชนิด ทำให้เกิดขาดเอนไซม์ได้มากและส่งผลให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองในขณะที่อายุไม่มาก แต่หากขาดเอนไซม์รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีตับอักเสบรุนแรงตั้งแต่แรกคลอด และอาจเสียชีวิต ก่อนที่ปอดจะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคพันธุกรรมชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบในคนเชื้อชาติผิวขาว

โรคถุงลมโป่งพองมีพยาธิสภาพอย่างไร?เกิดได้อย่างไร?

ระบบทางเดินหายใจ เริ่มต้นจากจมูก ลงไปยังกล่องเสียงและท่อลม (Trachea) แล้วแตกแขนงออกเป็น หลอดลมประธาน 2 ข้าง คือซ้ายและขวา (Right and left main bronchus) จากนั้นแต่ละข้างก็แตกแขนงออกไปเรื่อยๆ (ซึ่งเรียกว่า Bronchus) จนกระทั่งเป็นหลอดลมขนาดเล็กสุด (Terminal bronchiole) และหลอดลมที่ใช้แลกเปลี่ยนก๊าซ (Respiratory bronchiole) จากหลอดลมนี้ ก็จะกลายเป็นท่อถุงลม (Alveolar duct) และสิ้นสุดเป็นถุงลม (Alveolar sac) ซึ่งมีหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีพยาธิสภาพตรงส่วนของหลอดลมที่ใช้แลกเปลี่ยนก๊าซ (Respiratory bronchiole) ท่อถุงลม และถุงลมเป็นหลัก นอกจากนี้จะมีพยาธิสภาพของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) ปนอยู่ด้วย

พยาธิสภาพของถุงลมโป่งพองเกิดจากผนังของ Respiratory bronchiole ท่อถุงลมและ/หรือถุงลมถูกทำลายหายไป ทำให้ท่อและถุงลมซึ่งอยู่ติดๆกันคล้ายพวงองุ่น กลายเป็นถุงลมขนาดใหญ่ หากสาเหตุเกิดจากการสูบบุหรี่ การโป่งพองจะเกิดตรง Respiratory bronchiole เป็นหลัก ซึ่งเรียกชนิดตามพยาธิสภาพนี้ว่า Centriacinar emphysema ถุงลมโป่งพองชนิดนี้มักจะเกิดที่กลีบปอดด้านบน หากเป็นโรคพันธุกรรมขาดเอนไซม์ การโป่งพองจะเกิดเท่าๆกัน ตั้งแต่ Respiratory bronchiole ไปจนสิ้นสุดที่ถุงลม เรียกว่า Panacinar emphysema ซึ่งมักจะเกิดที่กลีบปอดด้านล่าง หากคนที่เป็นโรคพันธุกรรมนี้สูบบุหรี่ ก็จะมีพยาธิสภาพปนๆกันไป นอกจากนี้ยังมีชนิดที่การโป่งพองเกิดที่ถุงลมเป็นหลัก เรียกว่า Paraseptal emphysema

ควันบุหรี่และมลภาวะต่างๆ เป็นตัวก่อสารก่ออนุมูลอิสระหลายชนิด ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดลมขึ้นมา และยังไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้หลั่งสารเคมีที่ดึงดูดให้เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆเข้ามารวมตัวกันมากขึ้น และปล่อยสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเพิ่มขึ้นอีก สารก่ออนุมูลอิสระและเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะไปทำให้เอนไซม์ Alpha-one antitrypsin ไม่ทำงาน โดยปกติเอนไซม์นี้จะถูกผลิตจากตับและปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไหลเวียนมาที่ปอดเพื่อมากดการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อ Elastase เมื่อเอนไซม์ Alpha-one antitrypsin ไม่ทำงาน เอนไซม์ Elastase จึงทำการย่อยสลายเส้นใยอิลาสติน (Elastin) ได้มากกว่าปกติ เนื่องจากเส้นใยอิลาสตินคือส่วนประกอบสำคัญของผนังหลอดลมที่ใช้แลกเปลี่ยนก๊าซ ท่อถุงลมและถุงลม เมื่อถูกย่อยสลาย ท่อถุงลมและถุงลมจึงถูกทำลายลง สำหรับในโรคพันธุกรรมชนิดขาดเอนไซม์ Alpha-one antitrypsin ผลคือทำให้เอนไซม์ Elastase ทำงานได้มากกว่าปกติ และตามมาด้วยพยาธิสภาพของถุงลมโป่งพองนั่นเอง

เมื่อหลอดลมที่ใช้แลกเปลี่ยนก๊าซ ท่อถุงลมและถุงลม เกิดการโป่งพอง จะสูญเสียความยืดหยุ่นในการหดตัวเพื่อบีบไล่อากาศออกจากท่อเมื่อเราหายใจออก ทำให้อากาศซึ่งมีปริมาณออกซิเจนต่ำเกิดการคั่งค้างอยู่ในปอดได้ ยิ่งผู้ป่วยมีการออกแรงใช้กำลัง ซึ่งจะทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซให้มากขึ้น อากาศก็จะยิ่งคั่งค้างมากขึ้น เพราะอากาศเก่ายังไม่ทันหายใจเอาออกได้หมด ก็ต้องหายใจเอาอากาศใหม่เข้าไป ในที่สุดก็จะทำให้ปอดมีปริมาตรเพิ่มขึ้น

อากาศที่คั่งค้างและมีปริมาณออกซิเจนต่ำนี้ ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซลดลง ผู้ป่วยก็จะมีปริมาณก๊าซออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่ายขึ้นมา การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ลดลงนี้ยังเกิดจากการที่ผนังของท่อถุงลมและถุงลมที่ถูกทำลาย ทำให้หลอดเลือดฝอยที่ผนังถูกทำลายไปด้วย เมื่อเลือดไหลเวียนมาที่ถุงลมลดลง การแลกเปลี่ยนก๊าซก็จะยิ่งลดลง

โรคถุงลมโป่งพองมีอาการอย่างไร?

ส่วนใหญ่อาการของโรคถุงลมโป่งพอง จะปรากฏเมื่ออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยจะเริ่มมีอาการไอ และมีเสมหะบ่อยๆ มักจะเป็นมากในช่วงเช้า ซึ่งเป็นอาการของการที่มีพยาธิสภาพของหลอดลมอักเสบร่วม แต่อาการจะไม่เด่นเท่าผู้ที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบ ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อยซึ่งจะค่อยๆรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากมีอาการเหนื่อยง่ายขึ้นเมื่อออกแรงใช้กำลัง ต่อมาแม้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าว ก็ทำให้มีอาการเหนื่อยได้แล้ว จนกระทั่งสุดท้ายแม้อยู่เฉยๆ ก็มีอาการเหนื่อยได้ อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาจมีหายใจเสียงดังวี๊ดๆได้ หรือรู้สึกเจ็บหน้าอกร่วมด้วยได้ ตรวจร่างกายจะฟังเสียงปอดได้ผิดปกติ อัตราการหายใจเร็วกว่าคนปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นมานานแล้ว ตรวจดูขนาดทรวงอกจะใหญ่กว่าปกติ เนื่องจากปริมาตรปอดที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยจะขยายออกทางด้านหน้า-หลังมากกว่าทางด้านข้าง ทำให้ทรวงอกมีรูปร่างเหมือนถังเบียร์หรือโอ่ง เรียกว่า Barrel chest อาจพบลักษณะการหายใจออกแบบห่อปาก (Pursed lip) ซึ่งเป็นท่าทางที่ช่วยในการหายใจเอาอากาศออก หรือท่ายืนเอนตัวไปด้านหลังและยืดแขนออก ตรวจดูเล็บอาจพบลักษณะเล็บปุ้ม/นิ้วข้อปลายมีลักษณะกลม (Clubbing finger) ซึ่งเป็นลักษณะที่สามารถพบได้ในโรคปอดเรื้อรังชนิดอื่นๆ ด้วย

อาการของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง อาจกำเริบขึ้นเป็นระยะ โดยเฉลี่ยมักจะเกิดขึ้นปีละ 1-2 ครั้ง ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยขึ้นมากกว่าปกติที่เป็นอยู่อย่างฉับพลัน/เฉียบพลัน หรือไอมากขึ้น มีเสมหะปริมาณมากขึ้น และมีลักษณะเป็นหนองมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในปอดแทรกซ้อน

ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง เมื่ออาการรุนแรงมากแล้ว จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดที่ไหลเข้าสู่ปอด ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ ผู้ป่วยก็จะมีอาการบวมตามแขน-ขา ตับโต ท้องมาน/มีน้ำในท้อง และยิ่งทำให้มีอาการเหนื่อยมากขึ้น สาเหตุของภาวะนี้เกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนต่ำลงจากการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดได้ลดลง ทำให้ไปกระตุ้นหลอดเลือดแดงให้เกิดการบีบตัวมากกว่าปกติ ส่งผลให้ความดันโลหิตของหลอดเลือดแดงสูงขึ้น นอกจากนี้การที่ท่อถุงลมและถุงลมถูกทำลาย ทำให้หลอดเลือดฝอยถูกทำลาย ปริมาณหลอดเลือดฝอยจึงลดลง ทำให้พื้นที่ปริมาตรเลือดลดลง เมื่อปริมาตรเลือดปลายทางลดลง แต่ปริมาตรเลือดต้นทาง ซึ่งคือหลอดเลือดแดงมีเลือดอยู่เท่าเดิม จึงเกิดแรงกดดันในหลอดเลือดแดงมากขึ้น ความดันโลหิตของหลอดเลือดแดงจึงสูงขึ้น

ในผู้ป่วยที่เป็นมานานแล้วจะพบอาการอื่นๆได้อีก เช่น น้ำหนักตัวลดอย่างมีนัยสำคัญ โดยในระยะท้ายๆ ผู้ป่วยจะผอมมาก เกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ ทำให้ไปกระตุ้นการหลั่งสารเคมีชื่อ Tumor necrosis factor-alpha สารเคมีนี้ทำให้ร่างกายใช้พลังงานสูงกว่าปกติ หากผู้ป่วยกินได้เท่าเดิม ก็จะผอมลงเรื่อยๆ ร่างกายที่มีออกซิเจนต่ำยังไปกระตุ้นให้ไตหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด ซึ่งทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ทำให้เกลือแร่ชนิดโซเดียมคั่งและร่างกายเกิดการบวมน้ำได้ ปริมาณออกซิเจนที่ต่ำยังไปกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูกให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อช่วยการขนส่งออกซิเจน ทำให้มีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดสูงกว่าปกติได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมี ภาวะ/โรคกระดูกพรุน และมีกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่แขนขาเล็กลงและกล้ามเนื้ออ่อนแรงลงด้วย

แพทย์วินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพองอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง ต้องอาศัยการตรวจพิเศษเท่านั้น โดยในเบื้องต้นแพทย์จะอาศัยประวัติอาการของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอาการเหนื่อยเรื้อรัง และใช้การเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะตรวจพบความผิดปกติได้ในผู้ป่วยที่เป็นมานานแล้ว คือเห็นอากาศในปอดมากกว่าปกติ กะบังลมอยู่ต่ำกว่าปกติ และหัวใจดูมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับพื้นที่ของปอด แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการมาไม่นาน ภาพถ่ายเอกซเรย์อาจไม่พบความผิดปกติใดๆ สำหรับการยืนยันการวินิจฉัยในผู้ป่วยที่มีภาพถ่ายเอกซเรย์ผิดปกติหรือในผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย แพทย์ก็จะใช้วิธีการตรวจสมรรถภาพของปอด (Spirometry) ซึ่งถือเป็นวิธีมาตรฐานของการวินิจฉัยโรคนี้ โดยการให้ผู้ป่วยหายใจเข้าให้เต็มที่แล้วเป่าลมหายใจออกอย่างรวดเร็วผ่านเครื่อง Spirometer แล้ววัดค่าปริมาณอากาศที่สามารถหายใจออกมาได้ใน 1 วินาที (เรียกว่าค่า FEV1/ Forced expiratory volume ใน 1วินาที) เทียบกับค่าปริมาณของอากาศที่วัดได้ เมื่อหายใจออกมาทั้งหมด (เรียกว่าค่า FVC/ Forced vital capacity) ซึ่งหากเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทั้งโรคถุงลมโป่งพองและโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จะวัดค่า FEV1/FVC ได้น้อยกว่า 70%

หากผู้ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองที่อายุน้อยกว่า 50 ปี สาเหตุอาจเกิดจากโรคพันธุกรรมขาดเอนไซม์ ซึ่งต้องตรวจหาปริมาณเอนไซม์ Alpha-one antitrypsin ในเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัย และนำบุคคลในครอบครัวมาตรวจด้วย

รักษาโรคถุงลมโป่งพองอย่างไร?

การรักษาโรคถุงลมโป่งพองประกอบด้วยการหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและการรักษาประคับประคองตามอาการ ซึ่งจะช่วยลดอาการต่างๆลง และชะลอการดำเนิน/การลุกลามของโรคให้ช้าลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ปอดกลับมาเป็นปกติได้ หากปอดมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นมาแล้ว

  • การหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค บางสาเหตุก็สามารถหยุดได้ เช่น การหยุดสูบบุหรี่ บางสาเหตุก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น สาเหตุจากพันธุกรรม บางสาเหตุก็อาจควบคุมไม่ได้แต่สามารถลดได้ เช่น มลภาวะของอากาศ
  • การรักษาประคับประคองตามอาการได้แก่ การให้ยาขยายหลอดลม ซึ่งมีทั้งในรูปแบบกินและรูปแบบพ่น โดยจะช่วยทำให้อากาศลงสู่ปอดได้มากขึ้น และง่ายขึ้นเวลาที่ผู้ป่วยหายใจเข้า การให้ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ เช่นยา Corticosteroid ส่วนใหญ่จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้ว ในผู้ป่วยที่วัดระดับออกซิเจนในเลือดได้ต่ำมาก การรักษาคือการให้ออกซิเจน โดยในแต่ละวันจะให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในหลอดเลือดแดงของปอดและภาวะหัวใจวายได้ ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดบริเวณของปอดที่มีการโป่งพองมาก เพื่อลดขนาดของปอดลง ทำให้ปอดส่วนที่เหลือหดตัวเวลาหายใจออกได้ดีขึ้นและทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมทำงานหดตัวช่วยในการบีบตัวของปอดได้ดีขึ้น แต่ผลของการรักษาเป็นแค่เพียงระยะสั้นๆ การรักษาแบบประคับประคองยังรวมไปถึงการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู โดยเลือกวิธีออกกำลังให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต่างๆโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหายใจ ทำให้ออกแรงงานใช้งานได้มากขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย การฝึกวิธีหายใจออกแบบห่อปาก เพื่อเพิ่มความกดดันภายในทางเดินหายใจและค่อยๆปล่อยลมหายใจออกมา ทำให้อากาศเก่าที่คั่งค้างอยู่ลึกๆ ไหลออกมาได้มากขึ้น และหายใจเข้าเอาอากาศใหม่ที่มีออกซิเจนสูงลงสู่ปอดได้มากขึ้น นอกจากนี้ ได้แก่ การดูแลด้านโภชนาการให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานจากอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ไม่ให้น้ำหนักลดลงเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ยิ่งเหนื่อย กล้ามเนื้อฝ่อลีบ รวมถึงการดูแลด้านจิตใจ เพราะผู้ป่วยที่มีอาการมานาน จะเกิดความวิตกกังวล และซึมเศร้าได้

นอกจากนี้ยังรวมถึงการรักษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม

สำหรับการรักษาที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด คือการผ่าตัดเปลี่ยนปอด โดยจะพิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้ว ซึ่งการรักษาวิธีการนี้ยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วไป โดยเฉพาะในบ้านเรา จากเทคนิคการรักษาที่ซับซ้อนและปัญหาเรื่องปอดเทียม หรือการบริจาคปอด

โรคถุงลมโป่งพองมีผลข้างเคียงและความรุนแรงของโรคอย่างไร?

ธรรมชาติของโรคถุงลมโป่งพองจะค่อยๆแย่ลงไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ และจะเสียชีวิต(ตาย)จากภาวะหายใจล้มเหลวในที่สุด การหยุดสาเหตุที่หยุดได้ โดยเฉพาะการหยุดสูบบุหรี่ จะทำให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่างๆได้นานขึ้นและมากขึ้น โดยมีอาการเหนื่อยน้อยลง การดำเนิน/การลุกลามของโรคช้าลง แต่ไม่สามารถทำให้ปอดที่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นแล้วหายเป็นปกติได้ ดังนั้นจึงจัดเป็นโรคที่มีความรุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

ดูแลตนเองและป้องกันโรคถุงลมโป่งพองอย่างไร?

การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคถุงลมโป่งพอง คือ

1. ในผู้ที่ยังไม่เป็นโรค ต้องหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และยาเส้น หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ หรือสถานที่มีควันบุหรี่

2. นอกจากการป้องกันโดยส่วนตัวบุคคลแล้ว การป้องกันยังต้องอาศัยจากสังคมร่วมด้วย ได้แก่ การควบคุมสิ่งแวดล้อมของอากาศ โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการในการจัดการกับฝุ่นละอองของสารต่างๆ ไม่ให้มีค่าสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด มีการระบายอากาศที่ดี มีการใช้หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองที่เหมาะสมกับชนิดของฝุ่นละออง มีการตรวจสุขภาพพนักงานเป็นประจำเพื่อคัดกรองโรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หากพบว่าเริ่มมีความผิดปกติของปอด ควรให้เปลี่ยนงาน

3. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคแล้ว หากสูบบุหรี่ หรือยาเส้นอยู่ ต้องหยุดสูบให้ได้ แม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ก็ตาม เช่น เป็นโรคทางพันธุกรรมอยู่ เพราะจะทำให้การดำเนินโรค/โรคลุกลามเร็วขึ้น รวมทั้งต้องไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่อีกด้วย

4. หากผู้ป่วยอาศัยอยู่ในเมืองที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศ พยายามอยู่แต่ในบ้านหรือในอาคาร เพราะจะมีฝุ่นละออง ควันพิษต่างๆ น้อยกว่าตามท้องถนน และควรรู้จักใช้หน้ากากอนามัย

5. ผู้ป่วยควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส) เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคนี้กำเริบ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ที่มีอาการเหนื่อยเวลาออกแรงใช้กำลัง ซึ่งค่อยๆเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเพื่อตรวจวินิจฉัย

บรรณานุกรม

  1. Eric G. Honig, Roland H. Ingram, Jr. Chronic bronchitis, emphysema, and airways obstruction, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald, Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001 [2017,Nov4]
  2. http://www.emedicinehealth.com/emphysema/article_em.html [2017,Nov4]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/298283-overview#showall [2017,Nov4]
Updated 2017, Nov4