โรคจิต (Psychosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คำว่า “โรคจิต” (Psychosis) มักถูกนำมาใช้เรียกคนที่ชอบทำอะไรไม่ค่อยดีนักเช่น ชอบแอบดูผู้หญิงอาบน้ำ ชอบโทรศัพท์ไปตื๊อขอเป็นแฟนดารา ชอบพ่นสีสเปรย์เป็นตัวหนังสือบนกำแพง ฯลฯ แท้จริงคนเหล่านี้ไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิต แต่ก็มีความผิดปกติทางจิตใจแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องความผิดปกติของบุคลิกภาพหรือที่แพทย์มักจะใช้คำว่า “บุคลิกภาพแปรปรวน” (Personality disor ders) มากกว่า แต่คนทั่วไปยังชอบเหมาว่าใครที่ทำอะไรไม่ชอบมาพากลคือ ผู้ป่วย “โรคจิต” แล้ว “โรคจิต” คืออะไร?

โรคจิตคืออะไร? มีอาการอย่างไร?

โรคจิต

“โรคจิต” คือการเจ็บป่วยทางจิตใจแบบหนึ่ง ความเจ็บป่วยทางจิตใจนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น เกิดจากความผิดปกติของความคิด ความจำ เกิดจากความผิดปกติของอารมณ์ หรือเกิดจากความผิดปกติของพฤติกรรม

“โรคจิต” เป็นโรคของ “ความคิดที่ผิดปกติ” ความผิดปกติของความคิดทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อ มีพฤติกรรม มีการกระทำ ที่ผิดไปจากคนปกติทั่วๆไป และความเชื่อนี้ไม่สามารถอธิบายได้ตามหลักของความจริงหรือตามหลักของความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมนั้นๆได้ แต่ผู้ป่วยก็เชื่ออย่างสนิทใจกับความเชื่อของเขากับเรื่องราวที่เกิดกับตัวเขา เราเรียกอาการแบบนี้หรืออาการประเภทนี้ว่า “การหลงผิด” หรือ “Delusion” หรือการเชื่ออย่างผิดๆและเชื่ออย่างฝังแน่น

ตัวอย่างเช่น หญิงสาวรายหนึ่งหลังจากอกหักจากชายคนรัก เธอก็ได้ลาออกจากบริษัทที่ทำ งานอยู่เดิมเพราะไม่ต้องการเจอหน้าผู้ชายหลอกลวงอีกต่อไป เธอไปสมัครงานที่บริษัทแห่งใหม่ แล้วเธอก็พบว่าพนักงานบริษัทแห่งใหม่นี้ “เป็นเครือข่ายของผู้ชายคนที่เคยหักอกเธอ” ทั้งสิ้น ทุกคนทำงานตามแผนของผู้ชายคนนั้นเพื่อที่จะ “จัดการเธอ” ให้พ้นๆไปในที่สุดเธอก็ต้องปฏิเสธงานของบริษัทแห่งใหม่นี้

และเมื่อเธอไปสมัครงานที่บริษัทอีกแห่งหนึ่งแล้วเธอก็พบกับเหตุการณ์แบบเเดิมอีก ผู้ชายคนนั้นได้ยึดครองบริษัทแห่งนี้ไว้อีกแล้วเช่นกัน เธอรู้สึกได้ทันทีว่าพนักงานทุกคนของบริษัทแห่งนี้ล้วนรับคำสั่งจากผู้ชายคนนั้นเพื่อจัดการกับเธอเช่นเดียวกับบริษัทที่ผ่านมา ความเชื่อว่าผู้ชายคนนั้นกำลังวางแผนเล่นงานเธอทำให้เธอไม่สามารถไปสมัครทำงานที่ไหนได้อีก เพราะเธอรู้สึกว่าชีวิตของเธอไม่มีความปลอดภัย มีเพื่อนพยายามที่จะอธิบายถึง “ความไม่เป็นเหตุเป็นผล” ของเรื่องที่เกิดขึ้นกับเธอ เพราะความเป็นไปได้ในการสั่งการให้คนรอบๆข้างทุกคนเล่นงานเธอโดยผู้ชายคนนั้นมันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลย แต่หญิงสาวก็ยืนยันว่าทุกสิ่งที่เกิดกับเธอเป็นเรื่องจริง (ตามความเชื่อของเธอ) เธอ “เชื่ออย่างหลงผิดและเชื่ออย่างฝังแน่น” หรือ “False Belief and Fix”

อีกกลุ่มอาการของ “โรคจิต” คือ อาการหูแว่ว (Auditory Hallucination), และอาการเห็นภาพหลอน (Visual Hallucination)

ก. อาการหูแว่ว (Auditory Hallucination): เป็นอาการที่เกิดกับผู้ป่วยโรคจิตได้บ่อย ผู้ป่วยจะได้ยินเสียงพูดโดยที่ไม่มีที่มาของเสียงพูด เนื้อหาอาจเป็นเสียงสั่ง เสียงเตือน เสียงตำหนิ นินทา ด่าทอ และบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการโต้ตอบกับเสียงเหล่านี้ด้วย เราจึงพบบ่อยที่ผู้ป่วยโรคจิตพูดคุยคนเดียวคล้ายๆกับกำลังโต้ตอบอยู่กับใครบางคน (ที่เรามองไม่เห็น) ซึ่งก็คือผู้ป่วยกำลังตอบโต้อยู่กับอาการหูแว่วของเขา

ข. อาการเห็นภาพหลอน (Visual Hallucination): ก็คล้ายๆกับอาการหูแว่วคือเป็นการมองเห็นภาพขึ้นมาเองของผู้ป่วย โดยที่ไม่มีภาพหรือเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นจริง ถ้าท่านได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Beautiful Mind ภาพยนตร์ที่สร้างจากประวัติของศาสตราจารย์จอห์น แนช แห่งมหาวิทยาลัยปริ๊นซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้ชายใส่ชุดดำที่คอยติดตามสั่งหรือพูดกับจอห์น แนช อยู่ตลอดเวลานั่นแหละคือภาพหลอนที่เกิดขึ้นกับเขา (ศาสตราจารย์ จอห์น แนช ป่วยเป็นโรคจิตเภทซึ่งเป็นโรคจิตที่มีอาการรุนแรงและเรื้อรังชนิดหนึ่ง และหนังสือ Beautiful Mind ก็มีฉบับแปลเป็นภาษา ไทยขายอยู่ในบ้านเรา)

อนึ่ง อาการผิดปกติของ วิธีคิด, การใช้เหตุผล ,และกระแสความคิดเหล่านี้, ผู้ที่ไม่มีความชำนาญในเรื่องโรคจิตมักจะมองความผิดปกติในเรื่องนี้ได้ค่อนข้างยาก หลักใหญ่ๆที่ใช้ตรวจสอบความผิด ปกติของความคิดนี้จะดูที่การใช้เหตุผล การโต้ตอบในการสนทนา ความต่อเนื่องของกระแสความคิดว่ามีความเป็นเหตุเป็นผลมีความต่อเนื่องหรือไม่

ตัวอย่างเช่น เมื่อถามผู้ป่วยว่าทำไมพระอาทิตย์จึงขึ้นทางทิศตะวันออก ผู้ป่วยตอบว่าเป็นเพราะ มีคนไปปิดทางขึ้นทางทิศตะวันตกไว้ พระอาทิตย์เลยต้องเปลี่ยนมาขึ้นทางทิศตะวันออก เป็นต้น

และที่สำคัญมากอีกอย่างของผู้ป่วยโรคจิตก็คือ การไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วยหรือไม่ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้น “ไม่เป็นความจริง” เขาจะเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าเรื่องราวทั้งหมดมันเป็นเรื่องจริง และความเชื่อตรงนี้แหละที่ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมแปลกๆไป เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาไม่ใช่เรื่องจริงนั่นแสดงว่าอาการผู้ป่วยกำลังเริ่มดีขึ้น

โรคจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร?

จนถึงปัจจุบันเรายังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า โรคจิตชนิดต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเพียงคำอธิบายกว้างๆในการอธิบายสาเหตุไว้ว่า

1. เกิดจากความกดดันหรือความเครียดที่รุนแรงของชีวิต: อย่างกรณีตัวอย่างหญิงสาวที่ถูกคนรักสลัดทิ้งก็อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยแบบนี้ขึ้นได้

2. เกิดจากความบกพร่องในการทำงานของระบบสมองและพันธุกรรม :อย่างกรณีในข้อหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าคนที่อกหักทุกคนจะต้องลงเอยด้วยการป่วยเป็นโรคจิต อาจจะมีเสียอกเสียใจ มีซึมเศร้าบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นจะต้องเป็นโรคจิตไปทุกคน เว้นเสียแต่ว่าสมองหรือพันธุกรรมของผู้ป่วยมีแนวโน้มว่าจะป่วยเป็นโรคนี้อยู่แล้ว พอมาเจอกับความเครียดที่รุนแรงแบบนี้ก็เลยเกิดอาการของโรคจิตขึ้นมา

3. เกิดจากยาหรือสารเคมีที่ผู้ป่วยเสพเข้าไป: ที่พบสุดฮิตในบ้านเราขณะนี้ก็คือ การเสพยาบ้า กัญชา สุรา ยาลดความอ้วน กาว และยาไอซ์ สารเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดการติดแล้วยังทำ ให้ระบบการทำงานของสมองแปรปรวนไปจนทำให้เกิดอาการหลงผิด หูแว่ว และประสาทหลอน ซึ่งเป็นอาการของโรคจิตขึ้นมาได้ เราจะได้พบเห็นอยู่เนืองๆที่ผู้เสพยาบ้าแล้วเกิดอาการประสาทหลอนและก่อคดีสะเทือนขวัญขึ้นมา เมื่อสร่างจากยาแล้วเขามักจะบอกว่าเขาเกิดความเชื่อขึ้นมาว่ามีคนจะฆ่าเขา ดัง นั้นเพื่อป้องกันตัวเองเขาจึงต้องฆ่าผู้อื่นก่อน

โรคจิตมีกี่ชนิด?

โรคจิตที่พบได้บ่อยมีอยู่ 4 ชนิดคือ

1. โรคจิตเภท (Schizophrenia): เป็นโรคจิตที่มีอาการรุนแรงที่สุด มีความเรื้อรังและทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสื่อมของบุคลิกภาพและความสามารถทั่วๆไปได้มากที่สุด ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มักจะต้องรับการรักษาตลอดไป อาการที่พบจะพบได้ทั้งอาการหลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน และความคิดที่ไม่เป็นระบบ

อนึ่ง: คำว่า “Schizophrenia” หมายความว่า Split of mind ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “จิตเภท” หรือจิตใจที่แตกแยกเป็นเสี่ยงๆซึ่งเป็นคำอธิบายถึงธรรมชาติของโรคนี้ได้ดีที่สุด

2. โรคหลงผิด (Delusional Disorder): อาการที่พบในโรคนี้ก็คือการมีความหลงผิดๆ ในบางเรื่องเช่น หลงผิดว่าถูกปองร้ายโดยใครบางคน แต่มักจะไม่พบความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ในโรคนี้บางครั้งเราจะดูลักษณะภายนอกของผู้ป่วยไม่ออกเพราะทุกอย่างจะดูปกติดี แต่เมื่อได้ฟังความ คิดในเรื่องที่ผู้ป่วยหลงผิดก็จะสามารถมองเห็นความผิดปกติได้ไม่ยาก

3. โรคจิตที่เกิดจากยาและสาร/ยาเสพติด: มักจะได้ประวัติของการเสพยาหรือสารเสพติด

4. โรคจิตที่เกิดจากความกดดันหรือความเครียดของชีวิต: มักจะเกิดขึ้นหลังจากมีเหตุ การณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรงในชีวิตของผู้ป่วย

แพทย์วินิจฉัยโรคจิตได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคจิตได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย
  • ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน
  • ปัญหาในชีวิตและครอบครัว
  • การกินยา/ใช้ยาต่างๆ รวมทั้งยาเสพติด
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจต่างๆทางร่างกายเพื่อแยกโรคของร่างกายที่อาจก่ออาการทางจิต เช่น
    • ตรวจเลือดวินิจฉัย
      • โรคซิฟิลิส
      • การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือ โรคเอดส์ หรือ
      • โรคขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเลือด
    • การตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือคลื่นแม่เหล็ก เอมอาร์ไอ
  • ที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจต่างๆด้านจิตเวชโดยจิตแพทย์

รักษาโรคจิตอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคจิตได้แก่

1. การใช้ยารักษาอาการทางจิต: ซึ่งมีอยู่หลายชนิด โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรจะใช้ยาชนิดใดและจะใช้เป็นเวลานานเท่าใด บางโรคอาจต้องใช้ยาตลอดไป บางโรคเมื่ออาการดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาลดยาและหยุดยาในที่สุดได้ การรักษาทางยาเป็นการรักษาที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง ดังนั้นการดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

2. การทำจิตบำบัด: โดยเฉพาะโรคจิตที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดและโรคจิตที่เกิดจากความเครียดของชีวิต เพราะอาการทางจิตเป็นเพียงผลของปัญหา การบำบัดทางจิตเพื่อขจัดต้นตอของปัญหาย่อมมีความจำเป็น แต่การทำจิตบำบัด จิตแพทย์จะให้การรักษาหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการทางจิตดีขึ้นแล้วและมักจะให้การรักษาร่วมกับการใช้ยาเสมอ

3. การทำครอบครัวบำบัด: คือ การทำให้ญาติมีความเข้าใจกับปัญหาและความเจ็บป่วยของผู้ป่วยมากขึ้น ช่วยทำให้ญาติสามารถจัดการกับปัญหาของผู้ป่วยได้ดีขึ้น มีความรู้สึกเครียดกับความเจ็บป่วยของผู้ป่วยน้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรักษาผู้ป่วยในระยะยาว

ญาติและครอบครัวสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยโรคจิตได้อย่างไร?

ญาติและครอบครัวสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยโรคจิตได้โดย

1. ในช่วงแรกๆผู้ป่วยมักจะปฏิเสธการรักษา ปฏิเสธการกินยา เพราะผู้ป่วยไม่คิดว่าตนเองป่วย ญาติจึงจําเป็นต้องดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ําเสมอ

2. ยารักษาอาการทางจิตโดยส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดอาการข้างเคียงคือ อาการตัวแข็ง ลิ้นแข็ง น้ําลายไหล และมักเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยไม่อยากกินยาต่อไปอีก การบอกเล่าอาการให้แพทย์ทราบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะช่วยทําให้ผู้ป่วยร่วมมือในการรักษามากขึ้น

3. โรคจิตบางชนิดมีอาการเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษานานหรืออาจจะตลอดชีวิต การให้กําลังใจ การให้คําแนะนําในเรื่องการรักษาตัวเองหรือแม้แต่ในเรื่องทั่วๆไป จะช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายเกิดกํา ลังใจที่จะต่อสู้กับความเจ็บป่วยต่อไป

4. ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและสม่ําเสมอ จะมีความสามารถในการทํางานได้ตาม ปกติ ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ทําหน้าที่ของตนเองต่อไป

ใครบ้างมีโอกาสเป็นโรคจิต?

เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคจิต จึงบอกได้ยากว่าใครคือคนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคจิต อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีบางเรื่องบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการทางจิต เช่น ความเครียดอย่างรุนแรง การใช้ยาหรือสารเสพติด สุรา ยาไอซ์ ฯลฯ

ดังนั้นหากจะสรุปว่าใครบ้างที่มีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตได้ คําตอบก็คือ

1. คนที่ใช้ยาเสพติด

2. คนที่มีความเครียดและความกดดันในชีวิตอยู่ตลอดเวลา

ป้องกันโรคจิตได้อย่างไร?

การป้องกันโรคจิตได้แก่

1. หลีกเลี่ยงยาหรือสารเสพติด

2. ออกกําลังกาย (การออกกำลังกาย) และพักผ่อนให้เพียงพอ

3. เรียนรู้วิธีผ่อนคลาย วิธีลดความเครียด และนํามาใช้เมื่อเกิดความเครียด

สรุป

โรคจิตก็คือ ความเจ็บป่วยที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ต่างจาก โรคเบาหวาน , โรคความดันโลหิตสูง, หรือ โรคหัวใจขาดเลือด (โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ) หากผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยและคนทั่วไปเข้าใจ และให้โอกาสผู้ป่วย การช่วยผู้ป่วยให้พ้นทุกข์และกลับมาใช้ชีวิตได้เช่นเดิมก็ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ยาก เย็นแต่อย่างใด

บรรณานุกรม

1. Carrie Arnold, At risk for Psychosis, Scientific American Mind, September/October 2011; 14-15
2. Mental health first aid www.mhfa.com.au [2020,March7]
3. Psychosis http://en.wikipedia.org/wiki/Psychosis [2020,March7]