โรคขนคุด (Keratosis pilaris)

สารบัญ

บทนำ

โรคขนคุด (Keratosis pilaris หรือย่อว่า KP) พบได้สองลักษณะคือ

  • แบบที่ 1 เริ่มเป็นในเด็กเล็ก คือ ก่อนอายุ 2 ขวบและอาการดีขึ้นก่อนเข้าสู่วัยรุ่น
  • และแบบที่ 2 เริ่มเป็นในวัยรุ่น และอาการดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางคนในโรคนี้ อาการจะหายไปเองเมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ แต่มีส่วนหนึ่งที่อาการยังเป็นต่อไป

โรคขนคุด เป็นโรคที่พบได้บ่อย ประมาณ 50-80% ในเด็กและวัยรุ่นทั่วโลก และประ มาณ 40% ในผู้ใหญ่ทั่วโลกเช่นกัน ทั้งนี้พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชาย

อะไรเป็นสาเหตุและกลไกการเกิดโรคขนคุด?

โรคขนคุด

โรคขนคุด เกิดจากพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง (Keratiniza tion) ที่ส่งผลให้บริเวณรูขุมขน มีการอุดตันของรูขุมขนด้วยสารเคอราติน ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง เรียกว่า Keratin plug ส่งผลให้ขนไม่สามารถงอกทะลุรูขุมขนออกมาได้ เกิดเป็นขนคุดอยู่ใต้ผิวหนัง

เนื่องจากกระบวนการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเองโดยพื้นฐานความผิดปกติทางพันธุกรรมของการสร้างเซลล์ผิว โรคขนคุดจึงไม่ใช่โรคติดต่อ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคขนคุด?

โรคขนคุด เกิดในคนทุกอายุทุกเชื้อชาติ ทั้งเพศชายและเพศหญิง อาจเป็นโรคเดี่ยวๆ หรือพบร่วมกับโรคอื่น เช่น Atopic dermatitis (โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง), Ichthyosis (โรคผิว หนังเกล็ดปลา/ผิวหนังแห้งมากจนตกสะเก็ด) โดยมักพบในผู้ที่มีผิวแห้งมากกว่าผิวมัน และอา การจะเป็นมากขึ้นในฤดูหนาวที่มีอาการเย็นและแห้ง

อาการของโรคขนคุดเป็นอย่างไร?

จากการสะสมของโปรตีนเคอราติน อุดตันรูขุมขน ทำให้ขนไม่สามารถงอกพ้นผิวหนังออกมาได้ตามปกติ จึงเกิดเป็นตุ่มตามรูขุมขนมากมาย ทำให้ผิวหนังดูสากคล้ายกระดาษทราย หรือหนังไก่ บริเวณที่พบได้ คือ ต้นแขนด้านนอก ต้นขาด้านนอก บริเวณใบหน้าก็สามารถเกิดได้เช่นกันซึ่งมักพบในเด็ก และอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นสิว ตุ่มจากโรคขนคุดเหล่านี้ มักไม่มีอาการอื่น (เช่น คัน เจ็บ) และมีสีออกสีเนื้อ พบได้บ้างที่มีการอักเสบ ซึ่งจะทำให้มีรอยแดงรอบรูขุมขน และมีอาการคันร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของอาการ/ลักษณะตุ่มในแต่ละคนค่อนข้างมาก ตั้งแต่ตุ่มแดงอักเสบชัดเจน จนถึงมีอาการเล็กน้อย มีตุ่มไม่มาก และในเรื่องความสากของผิวหนัง

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่? แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างไร ?

หากมีอาการขนคุด หรือสงสัยว่าเป็นโรคขนคุด สามารถพบแพทย์ผิวหนังได้ (แพทย์ผิว หนังที่รักษาโรคผิวหนัง ไม่ใช่แพทย์โรคผิวหนังที่ดูแลรักษาผิวพรรณ)

การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคขนคุดหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติ การ หรือการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เนื่องจากโรคขนคุด มีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายก็เพียงพอ เว้นแต่มีข้อสงสัยแยกได้ยากจากโรคอื่นๆ ก็อาจต้องมีการตรวจ/การสืบค้นเพิ่มเติม (เช่น แยกจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง) แต่กรณีเช่นนี้พบได้ไม่บ่อยนัก

แพทย์รักษาโรคขนคุดอย่างไร? ใช้เวลาในการรักษาเท่าใด?

โรคขนคุด ไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่โรคก็มีโอกาสที่จะหายได้เองเมื่ออายุมากขึ้น การรักษาเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ หลักคือการใช้ยาทา เพื่อให้โปรตีนเคอราตินที่อุดตันรูขุมขนหลุดออก ซึ่งอาการมักกลับมา เมื่อหยุดการดูแลรักษา

ทั้งนี้ ผลการรักษาที่ดีขึ้น เริ่มสังเกตได้หลังการรักษาตั้งแต่ประมาณ 3-4 สัปดาห์จนถึง 2-3 เดือน

การรักษา มีขั้นตอนการดูแลปรับตามความรุนแรงของโรคเป็นลำดับ ดังนี้

  • ในรายที่อาการเป็นไม่มาก การรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังดังนี้ก็เพียงพอ โดย
    • ใช้สบู่อ่อน สำหรับผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่าย เช่น สบู่เด็กอ่อน ในการอาบน้ำในคนที่ผิวแห้งและกิจกรรมประจำวันไม่ได้มีกิจกรรมหนักหรือสกปรกนัก การฟอกสบู่ให้ฟอกเฉพาะลำ ตัว รักแร้ ขาหนีบ มือ เท้า คอ ที่มีเหงื่อไคลสิ่งสกปรก เว้นบริเวณแขน ขา ก็จะลดความแห้งคันของผิวลงได้
    • งดอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน, งดการขัด (Scrub) ผิว เนื่องจากจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
    • ทาโลชันให้ความชุ่มชื้นหลังอาบน้ำเช้า-เย็น และทาได้บ่อยขึ้นอีกบริเวณผิวที่แห้ง โดยโลชันควรมีส่วนประกอบของสารให้ความชุ่มชื้นและผลัดเซลล์ผิวอุดตัน (Keratolytic) เช่น 20% Urea, Lactic acid ,Alpha hydroxyl acid (AHA), Salicylic acid, และ/หรือ Glycolic acid

    อนึ่ง ข้อปฏิบัติเหล่านี้ คือ การปฏิบัติตัวเป็นประจำตลอดไป แม้ในช่วงที่อาการของโรคสงบ เพื่อลดการกำเริบของโรค

  • ในรายที่อาการมาก ยาทาที่แพทย์จะสั่งให้ใช้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการปฏิบัติตนดังกล่าวในกรณีที่เป็นไม่รุนแรง เช่น
    • อนุพันธุ์ของวิตามิน-เอ ชนิดทา (Topical Isotretinoin) ช่วยผลัดโปรตีนเคอราตินที่อุดตันออก แต่อาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการ ระคายเคืองต่อผิวหนัง และ/หรือผิวหนังอัก เสบ โดยใช้ทาก่อนนอน ทั้งนี้ให้เริ่มต้นจากยาที่มีความเข้มข้นต่ำก่อนเช่น 0.025%
    • ยาทาสเตียรอยด์ ใช้ในช่วงที่ตุ่มของโรคขนคุดมีอาการ แดง คัน อักเสบโดยให้ยาเพียงช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 2 สัปดาห์
    • การรักษาวิธีอื่นๆ เช่น เลเซอร์กำจัดขน ในทางทฤษฎีใช้เพื่อลดปริมาณตุ่มขนคุด จากขนที่ไม่สามารถงอกได้ตามปกติ แต่ยังไม่มีการศึกษาเป็นข้อมูลทางงานวิจัยออกมาว่าได้ผลจริงหรือไม่ อย่างไร

โรคขนคุดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคขนคุด ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ และความสวยงาม

โรคขนคุดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคขนคุด คือ โดยธรรมชาติของโรค ไม่มีการรักษาที่หายขาด จากการศึกษาโดยใช้การสังเกตพบว่า ผู้ที่เป็นโรคขนคุด อาการมักกำเริบในฤดูหนาว และ/หรือเมื่อมีผิวแห้ง และอาการมักดีขึ้น หรือหายขาดได้เอง ตามอายุที่มากขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

ดูแลตนเองอย่างไร?

หลักในการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคขนคุด คือ การรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังด้วยการทาโลชันให้ความชุ่มชื้น, การใช้สบู่อ่อนๆ (เช่น สบู่เด็กอ่อน), และงดอาบน้ำอุ่น ทั้งนี้เพื่อลดโอ กาสเกิดผิวแห้ง จึงลดการกำเริบของอาการ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วยโรคขนคุด หากมีตุ่มแดง เจ็บ เป็นหนอง ควรพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ เนื่องจากอาจไม่ใช่อาการของโรคขนคุด แต่เป็นการอักเสบติดเชื้อของรูขุมขน (Folliculitis) ที่จำเป็น ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ

ป้องกันโรคขนคุดได้อย่างไร?

เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคขนคุด มีพื้นฐานมาจากพันธุกรรม ดังนั้นจึงไม่สามารถป้อง กันโรคนี้ได้ แต่การรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังจะช่วยลดการเกิดของอาการได้

บรรณานุกรม

  1. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; seven edition ; Mc Grawhill medical
  2. Keratosis pilaris : medscape ; http://emedicine.medscape.com/article/1070651-overview [2013,Nov9].