ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole)

สารบัญ

ทั่วไป

ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) มีคุณสมบัติยับยั้งและต่อต้านเชื้อราได้หลายชนิด เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างของยาเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ และถูกขับออกจากร่าง กายทางปัสสาวะและทางอุจจาระ

ในทางการแพทย์ ยาโคลไตรมาโซลถูกนำมาใช้ทั้งในรูปแบบของ ยาอม ยาหยอดหู ยาเหน็บช่องคลอด โดยเฉพาะยาครีมทาผิวหนังที่เป็นยาเดี่ยวสามารถใช้กับหญิงมีครรภ์ได้อย่างปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ห้ามใช้ชนิดที่เป็นยาอมรับประทานในหญิงมีครรภ์ด้วยก่อให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยาโคลไตรมาโซลยังถูกนำไปผสมกับยาอื่นเพื่อใช้เป็นทางเลือกสำหรับการรัก ษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาโคลไตรมาโซล ควรต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เท่านั้น

ยาโคลไตรมาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาโคลไตรมาโซล มีสรรพคุณรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก การติดเชื้อราในหู เชื้อราทางช่องคลอด และเชื้อราทางผิวหนัง

ยาโคลไตรมาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโคลไตรมาโซล ออกฤทธิ์ที่ผนังเซลของเชื้อรา ทำให้การลำเลียงสารอาหารของเชื้อราบกพร่อง จึงส่งผลให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด

ยาโคลไตรมาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลไตรมาโซล มักจัดจำหน่ายในรูปแบบของ

  • ยาครีมทาผิวหนัง ทั้งในรูปของยาเดี่ยวและยาผสมกับกลุ่มยาที่ใช้ต้านการอักเสบอย่างเช่น เบต้าเมทาโซน (Betamethasone)
  • ในรูปแบบยาเม็ด จะเป็นชนิดยาอมและยาเหน็บช่องคลอด
  • ส่วนยาน้ำ จะพบในรูปแบบของยาหยอดหู

ยาโคลไตรมาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดของยาโคลไตรมาโซล ที่รับประทานในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาโรคเชื้อราในช่องปากถูกออกแบบให้เป็นยาอมที่มีขนาดความแรง 10 มิลลิกรัมต่อเม็ด อม 5 ครั้งต่อวัน โดยอมต่อเนื่องไม่เกิน 14 วัน แพทย์ที่เป็นผู้รักษาเท่านั้นจะเป็นผู้แนะนำและสั่งจ่ายการใช้ยากับผู้ป่วย

ส่วนยาทา ยาเหน็บช่องคลอด และยาหยอดหูก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาชนิดรับประทาน แต่ก่อนใช้ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือ เภสัชกรเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้ง ยาโคลไตรมาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่น หายใจติดขัด หรือมีขึ้นผื่นผิวหนัง
  • การมีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลไตรมาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาโคลไตรมาโซล กับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านรก หรือปนมาในน้ำนม จึงเข้าสู่ทารกจนอาจก่อผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เฉพาะยารักษาเชื้อราในช่องปาก หากลืมอมยาโคลไตรมาโซล สามารถอมยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการอมยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องใช้ยาเป็นสองเท่า

ยาโคลไตรมาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคลไตรมาโซลมีผลไม่พึงประสงค์ คือ

  • ในรูปแบบยาทาผิวหนัง อาจก่อให้เกิดภาวะผื่นคัน และระคายเคืองผิวหนังได้
  • ในรูปแบบยาอม อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร รวมไปถึงในการขับถ่าย อาจเกิดปัสสาวะติดขัด เกิดภาวะซึมเศร้า อีกทั้งอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลไตรมาโซลอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ ยาโคลไตรมาโซล คือ

  • หลีกเลี่ยงการทายาที่ตาหรือบริเวณตา เพราะอาจก่อให้ตาเกิดการระคายเคืองได้
  • ห้ามใช้ยาชนิดอมในหญิงมีครรภ์
  • เพิ่มความระมัดระวังการใช้ยากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบด้วยอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง - ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ

ยาโคลไตรมาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

การใช้ยาโคลไตรมาโซล ร่วมกับยารักษาโรคไมเกรน สามารถทำให้หลอดเลือดหดตัวเป็นเวลานานมากขึ้นและอาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงตามมา ยารักษาโรคไมเกรน ที่กล่าวถึง เช่น เออร์โกตามีน (Ergotamine)

ควรเก็บรักษายาโคลไตรมาโซลอย่างไร?

ทุกรูปแบบของยาโคลไตรมาโซลให้เก็บภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส

ยาไตรแอมซิโนโลน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้าและบริษัทที่ผลิตยาไตรแอมซิโนโลน ในประเทศไทย เช่น

ชื่อการค้า ผู้ผลิต
Caginal (คาจินอล) Pond’s Chemical
Canasone (คานาโซน) Thai Nakorn Patana
Canazol (คานาซอล) T.O. Chemicals
Canazol Lozenge (คานาซอล โลเซน) T.O. Chemicals
Canazol Vaginal Tablet (คานาซอล วาจินอล แทปเลท) T.O. Chemicals
Candazole (แคนดาโซล) HOE Pharmaceuticals
Candex (แคนเดกซ์) Burapha
Candid (แคนดิด)) Glenmark
Candid Mouth Paint (แคนดิด เมาท์ เพนท์) Glenmark
Candinox Vaginal Tablet (แคนดินอกซ์ วาจินอล แทปเลท) Charoen Bhaesaj Lab
Canesten (คาเนสเทน) Bayer HealthCare Consumer Care
Cenecon (เซเนคอน) Pharmasant Lab
Chingazol (ชินกาซอล) Chinta
Clomaz (โคลแมซ) L.B.S.
Clotri V.T. (โคลไตร วี.ที.) Polipharm
Clotrimazole GPO (โคลไตรมาโซล จีพีโอ) GPO
Cotren (โคเทรน) Biolab
Defungo (ดีฟังโก) Siam Bheasacha
Dermaten (เดอร์มาเทน) Pharmasant Lab
Fango Cream (แฟงโก ครีม) Bangkok Lab& Cosmetic
Fungi Cream (ฟังจี ครีม) Patar Lab
Fungicon (ฟังจีคอน) Continental-Pharm
Fungiderm (ฟังจีเดอร์ม) Greater Pharma
Fungiderm V.T. (ฟังจีเดอร์ม วี.ที.) Greater Pharma
Gynestin (ไกเนสทิน) Kenyaku
Gynosten 500 (ไกโนสเทน 500) Bangkok Lab & Cosmetic
Hofra (ฮอฟรา) Pharmahof
Kenet (เคเนท) Patar Lab
Klamacin (คลามาซิน) B L Hua
Lamazone (ลามาโซน) Newcharoen Pharma
Mycoda (ไมโคดา) T. Man Pharma
Mycoril Spray (ไมโคริล สเปรย์) Remedica
Mycotopic (ไมโคโทปิค) Utopian
Mycozole –B (ไมโคโซล-บี)) Osoth Interlab
Myda-B (ไมดา-บี) T. Man Pharma
Nestic (เนสติค) Asian Pharm
P-Gyzole (พี-ไกโซล) Osoth Interlab
Taraten (ทาราเทน) Polipharm
Vagizole (วาจิโซล) Union Drug
Vamazole (วามาโซล) Nakornpatana
Vanesten (วาเนสเทน) Atlantic Lab
Zema Cream (ซีมา ครีม) Union Drug

บรรณานุกรม

  1. Drug Information Handbook 20th edition with Charles Flacy RPh. Ms, Pharm D FCSHP , Lora L.Armstrong RPh, PharmD BCPS , Morton P.Goldman, RPh, PharmD BCPS,FCCP , Leonard L. RPh. BSPharm
  2. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/clotrimazole/?q=clotrima&type=brief&mtype=generic