เลือกอาหารเสริมอย่างไร? (How to choose dietary supplements?)

บทความที่เกี่ยวข้อง
เลือกอาหารเสริมอย่างไร

ปัจจุบัน ประชาชนนิยมบริโภคอาหารเสริมหรือการเสริมอาหาร (Dietary supplements) มากขึ้น เช่น วิตามิน โปรตีน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสสระ สมุนไพร พืช ผลผลิตจากสัตว์ สาหร่าย และ/หรือเห็ด โดยเฉพาะที่เป็นผลิตผลทางธรรมชาติ โดยมีความเชื่อว่าจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น หรือรักษาโรค หรืออาการบางชนิดได้ ทั้งนี้ในการจะเลือกบริโภคอาหารเสริมควรต้องตระหนักไว้เสมอว่า อาหารเสริมทุกชนิดเป็นสารเคมีซึ่งอาจเป็นจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหรือจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม ดังนั้นการบริโภคที่ไม่เหมาะสมจึงก่อผลข้างเคียงได้เสมอ

ผลข้างเคียงจากการบริโภคอาหารเสริมที่ไม่เหมาะสมกับวัย หรือสุขภาพร่างกาย หรือมาก เกินไป คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง วิงเวียน และเสียเงินโดยไม่ควร เพราะอาหารเสริมแต่ละชนิดราคาค่อนข้างสูง แต่ที่สำคัญคืออาจส่งผลต่อการทำงานของตับและไตที่มีหน้าที่กำจัดสารเคมีที่เป็นของเสีย หรือที่มากเกินควรออกจากร่างกาย

สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ได้ให้คำแนะนำในการ เลือกใช้อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พอสรุปได้ดังนี้

  • ควรเป็นอาหารเสริมที่ผ่านการรับรองจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง (ในประเทศไทยคือ องค์การอาหารและยาของไทย/อย.) ว่าเป็นอาหารเสริมหรือไม่ (ดูบนฉลากที่บรรจุผลิตภัณฑ์)
  • ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนบริโภคที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้
  • ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงอาหารเสริมชนิดนั้นๆก่อนบริโภค แต่ถ้ามีโรคประจำตัว และต้องใช้ยารักษาโรคต่างๆรักษาอยู่ ควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนบริโภคเสมอ
  • รู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆประกอบด้วยอะไรบ้าง ปริมาณเท่าไร มีประโยชน์โทษอย่างไร มีผลข้าง เคียงอะไรบ้าง ยิ่งมีตัวยา/สารต่างๆมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดโทษ/ผลข้างเคียง และมีปฏิกิริยาต่อ ยารักษาโรคต่างๆที่กำลังกินอยู่ได้สูงขึ้น ถ้าไม่ทราบตัวยา (ส่วนประกอบในอาหารเสริม) ไม่ควรบริโภค
  • บริษัทผู้ผลิตและกรรมวิธีที่ผลิตเชื่อถือได้หรือไม่ มีมาตรฐานในการผลิตหรือไม่ โดยเฉพาะ เมื่อมีชิ้นส่วนของสัตว์เป็นส่วนประกอบ เช่น เลือด เพราะเป็นบ่อเกิดของการติดเชื้อโรคสูง ซึ่งถ้าเชื่อถือไม่ได้หรือไม่ทราบข้อมูล ไม่ควรบริโภค
  • ผลิตภัณฑ์มีฉลากกำกับถูกต้องหรือไม่ ฉลากระบุตัวยา/ส่วนประกอบ และปริมาณชัดเจนหรือไม่ มีการระบุชื่อที่อยู่ของผู้ผลิตที่ติดต่อได้หรือไม่ รวมทั้งวันหมดอายุ ซึ่งถ้าไม่มี ไม่ทราบ ไม่ควรบริโภค
  • อาหารเสริมนั้นๆมีสรรพคุณที่เกินจริงหรือไม่ หรือเป็นตำหรับที่เป็นความลับ หรือความมหัศจรรย์หรือไม่ ซึ่งถ้าใช่ ไม่ควรบริโภค
  • ไม่ควรใช้อาหารเสริมหลายชนิดร่วมกัน เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นสาร เคมีหมด ถึงแม้จะเป็นพืชหรือสาร/อาหารออร์กานิค (Organic food) ก็ตาม
  • สังเกตอาการก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์เสมอ เมื่อผิดปกติ ควรต้องหยุดใช้ทันที
  • ไม่ควรบริโภคเมื่อจะต้องผ่าตัด ถอนฟัน อย่างน้อย 2 - 4 สัปดาห์ เพราะอาจมีผลกระทบทำให้เลือดหยุดช้าหรือแผลหายช้า ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ก่อนเสมอ และแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์อยู่
  • ไม่ควรบริโภคเมื่อเป็นโรคมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อนเสมอ
  • ไม่ควรบริโภคในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลถึงทารกได้ ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ไม่ควรใช้ในเด็กและในวัยรุ่น เพราะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงสูง เพราะตับและไตที่ทำหน้าที่กำจัดของเสียยังเจริญเติบโตทำงานได้ไม่เต็มที่
  • ไม่ควรบริโภคในปริมาณสูงและต่อเนื่อง
  • ไม่ใช้เมื่อผลิตภัณฑ์รักษาโรค/อาการได้ครอบจักรวาล เพราะเป็นไปไม่ได้
  • เมื่อผลิตจากพืช คุณสมบัติของพืชมักแตกต่างกันตามส่วนต่างๆ เช่น ดอก ผล ใบ ราก ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมาจากทุกส่วน (ทั้งต้น) ให้ระมัดระวัง เพราะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงสูงขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อต้องการกินอาหารเสริม ควรถามตนเองว่าทำไมจึงจะกินอาหารเสริม ถ้าคำตอบคือ กินอาหารได้ไม่ครบถ้วนในสารอาหาร กลัวขาดสารอาหาร ก็ควรแก้ไขที่สาเหตุคือ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกๆวัน เพิ่มผักและผลไม้ให้มากๆ

ถ้าคำตอบคือ ร่างกายอ่อนเพลีย ก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายพอควรกับสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ดังกล่าว และควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ เมื่อกังวลหรือกลัวว่าตนเองจะมีโรคภัยไข้เจ็บ

ถ้าคำตอบคือกินอาหารเสริมเพราะเชื่อว่ารักษาโรคต่างๆได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อกินเองเสมอ เพราะอาหารเสริมอาจมีผลต่อยารักษาโรคที่กำลังกินอยู่ได้

บรรณานุกรม

Dietary supplements how to know what is safe

http://www.cancer.org/Treatment/TreatmentsandSideEffects/ComplementaryandAlternativeMedicine/DietarySupplements/index [2014,Sept13]

Updated 2014, Sept 13