หินปูนเยื่อตา นิ่วเยื่อตา (Conjunctival concretion)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 11 มกราคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นปัจจัย/สาเหตุทำให้เกิดหินปูนเยื่อตา?
- หินปูนเยื่อตามีอาการอย่างไร?
- ต้องแยกหินปูนเยื่อตาจากโรคอะไร?
- รักษาหินปูนเยื่อตาอย่างไร?
- หินปูนเยื่อตาก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- หินปูนเยื่อตามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์?
- ป้องกันหินปูนเยื่อตาอย่างไร?
บทนำ
หินปูนเยื่อตา (หินปูนเยื่อบุตา) หรือ นิ่วเยื่อตา (นิ่วเยื่อบุตา) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Con junctival Concretion หรือ Conjunctival lithiasis หรือ Ocular lithiasis เป็นตุ่มหรือเม็ดเล็กๆขนาดน้อยกว่า 1 มม.(มิลลิเมตร) ไปจนถึง 3 มม. ค่อนข้างแข็ง สีขาวอมเหลือง คล้ายผลึก (Crystal) ที่ทึบแสง อาจพบเม็ดเดียวหรือหลายเม็ดอยู่ที่เยื่อตา/เยื่อบุตา มักพบที่เยื่อตาที่บุเปลือกตา (Palpebral conjunctiva) หรือบริเวณร่องเยื่อบุตา (Fornix) ส่วนน้อยที่พบที่เยื่อบุตาบริเวณตาขาว (Bulbar conjunctiva) ตุ่มนี้ไม่มีหลอดเลือดล้อมรอบ (Avascular) มักจะอยู่ใต้ชั้นเยื่อบุผิวของเยื่อบุตา เป็นผลจากการเสื่อมของเซลล์เยื่อบุผิวของเยื่อบุตา ก่อให้เกิดเป็นถุง/ซีส (Cyst) ในตอนแรก เซลล์เยื่อบุผิวที่เสื่อม ตลอดจนสารเคอราทิน (Keratin) ที่เกิดขึ้นที่เยื่อบุผิวจะสะสมอยู่ภายในซีส บางซีสอาจมีแคลเซียมเข้ามาเติมเล็กน้อย ทำให้มีความแข็ง (ในความเป็นจริง เมื่อศึกษาทางส่วนประกอบพบแคลเซียมน้อยมากหรืออาจไม่มีเลย) การที่เรียกกันว่า หินปูน/นิ่ว (Lithiasis) คงเนื่องจากตุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง คล้ายมีเศษหินอยู่ในตา หาใช่เป็นเพราะมีแคลเซียมมาจับแต่อย่างใดไม่
หินปูนเยื่อตา เป็นโรค/ภาวะที่พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมาก พบเกิดได้ในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ พบได้ในทุกอายุ มีรายงานพบได้ตั้งแต่ในอายุ 13 ปี แต่ส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป มักพบเกิดกับตาข้างเดียว ตาซ้ายและตาขวา มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน
อะไรเป็นปัจจัย/สาเหตุทำให้เกิดหินปูนเยื่อตา?
ปัจจัย/สาเหตุที่ทำให้เกิดหินปูนเยื่อตา ได้แก่
- มีการอักเสบของเยื่อตา/เยื่อบุตาเรื้อรัง จึงมักพบในผู้ป่วยเป็นโรคริดสีดวงตาซ้ำๆ ตลอดจนผู้มีเยื่อบุตาอักเสบจากโรคภูมิแพ้ ที่มักเป็นแล้วเป็นอีก และในผู้ใช้คอนแทคเลนส์นาน ๆ ที่มักทำให้มีอาการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุตาเช่นกัน
- เป็นความเสื่อมของเยื่อบุตาตามอายุ จึงมักพบในผู้สูงอายุ การเสื่อมของเยื่อบุตาในผู้ สูงอายุ จะเริ่มจากเยื่อบุตาขุ่นขึ้น จากตัวเยื่อบุผิวเริ่มมีสารเคอราทิน (คนหนุ่มสาว เยื่อบุผิวมักไม่มีเคอราทิน), เนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิวหนาขึ้น, ขณะที่เนื้อเยื่อชั้นใต้เยื่อบุผิว คือ Substantia pro pia บางลง, และมีไขมันสะสมมากขึ้น, หลอดเลือดที่เยื่อบุตามีขนาดใหญ่ขึ้น คดเคี้ยว หงิกงอ ทำให้แลดูเยื่อบุตามีสีแดง, ตามด้วยการม้วนตัวลงของเยื่อบุผิว ก่อให้เกิดเป็นซีสที่ภายในมีสารเคอราทิน และมีเซลล์เยื่อบุผิวที่เสื่อม
- เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic)
อนึ่ง จากการศึกษาพบว่าตุ่มหินปูนนี้ ประกอบด้วย แผ่นเนื้อเยื่อที่เรียกว่า Granuloma membrane ที่ภายในมีเซลล์เยื่อบุผิวที่ตายแล้ว, เมือกจากต่อมน้ำตาของเยื่อบุตา, ไขมันชนิด Phospholipid, โปรตีนชนิด Elastin และคาร์โบไฮเดรตชนิด Polysaccharide บ้างเล็กน้อย แต่จะไม่พบคาร์โบไฮเดรตชนิด Glycogen, โปรตีนชนิด Amyloid หรือธาตุเหล็กเลย
หินปูนเยื่อตามีอาการอย่างไร?
ส่วนมากของผู้ป่วยที่มีหินปูนเยื่อตา จะไม่มีอาการผิดปกติเลย มีรายงานจากการศึกษาหนึ่งพบว่า มีอาการเพียง 7% ของผู้ที่มีหินปูนทั้งหมด
ผู้ป่วยส่วนน้อยที่ผิวของตุ่มนี้เกิดแผลถลอก (Conjunctival abrasion) ทำให้มีอาการระ คายเคืองบ้างเล็กน้อยเวลากระพริบตา โดยเฉพาะในรายที่ผิวถลอกหลุดออก ทำให้ตุ่มนี้ยื่นออกมามากจากเยื่อบุตา/เยื่อตา ทำให้เยื่อบุตาระคายเคือง และมีอาการคล้ายผงเข้าตา
ในผู้ป่วยบางราย ตุ่มนี้อาจทำให้เกิดกระจกตาถลอก ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดตา น้ำตาไหล
บางรายที่มีหินปูนมาก อาจทำให้ต่อมน้ำตา ชนิด Meibomian gland ทำงานไม่สะดวก (Dysfunctional of meibomian gland) จึงก่อให้เกิดอาการตาแห้ง และ/หรือเปลือกตา/หนังตาอักเสบได้
และเมื่อตรวจตา จะพบตุ่มขนาดเล็กดังกล่าวสีขาว เหลืองที่เยื่อบุตา
ต้องแยกหินปูนเยื่อตาจากโรคอะไร?
เมื่อพบมีตุ่มที่เยื่อตา แพทย์จะวินิจฉัยแยกโรค หินปูนเยื่อตา จากโรคต่างๆ ดังนี้
1. โรคถุงน้ำเยื่อตา (Epithelial inclusion cyst) ที่เป็นโรคของเยื่อบุผิวของเยื่อตา โดยจะเป็นตุ่มลักษณะใสกว่า ภายในตุ่มเป็นน้ำใส
2. Conjunctival follicle ซึ่งมักพบในเยื่อบุตาอักเสบ จากสาเหตุต่างๆ จะเป็นตุ่มเล็กๆ ที่มีหลอดเลือดล้อมรอบ ลักษณะตุ่มจะแลดูนุ่มกว่า
3. เศษผงเข้าตา
4. โรคความผิดปกติของสารโปรตีนที่เรียกว่า Amyloidosis ที่เกิดจากมีการสะสมของสารโปรตีนชนิด Amyloid ในเยื่อตา และในเนื้อเยื่อต่างๆนอกลูกตาด้วย ลักษณะของตุ่ม Amy loid เมื่อนำตุ่มฯมาย้อมด้วยน้ำยาพิเศษ และดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบลักษณะเฉพาะ 5 อย่าง ได้แก่
4.1 ให้สีแดงที่เรียกว่า Congo red
4.2 ให้การสะท้อนแสง ที่เรียกว่า Birefringence
4.3 ย้อมติดสีชนิด Crystal violet
4.4 จะเรืองแสงเมื่อส่องด้วยแสงยูวี (U V light/Ultraviolet light)
4.5 จากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด Electron microscope จะพบลักษณะเป็นเส้นใย (Filament) ชัดเจน
5. มีสารสีบางอย่างอยู่ใต้เยื่อตา ที่เป็นผลข้างเคียงจากยาหยอดตา เช่น Subconjunc tival tetracycline, หรือ Adenochrome pigment
6. กุ้งยิงระยะเริ่มแรก ที่อาจพบเป็นตุ่มเล็กๆ แต่กุ้งยิงจะต้องมีตาแดง มีการอักเสบของตุ่มที่เห็น โดยเป็นตุ่มหนองชัดเจน
รักษาหินปูนเยื่อตาอย่างไร?
ส่วนใหญ่ของหินปูนเยื่อตา ไม่ก่อให้มีอาการ ซึ่งถ้าไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องรักษา
หากมีอาการเล็กๆ น้อยๆ อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ช่วยลดอาการระคายเคืองตา หรือ ตาแห้ง
ถ้าตุ่มหินปูน มีผิวถลอก และโผล่ออกมานอกเยื่อตา รักษาโดยหลังจากหยอดยาชาแล้ว สะกิดออกด้วยเข็มเล็กๆที่ใช้ทางการแพทย์ ในบางรายอาจใช้ไม้พันสำลีฆ่าเชื้อ ปัดตุ่มฯออกได้ง่าย ซึ่งให้การรักษาได้ง่าย เพราะตุ่มหินปูนพร้อมที่จะหลุดออกอยู่แล้ว
หินปูนเยื่อตาก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
โดยทั่วไป หินปูนเยื่อตา ไม่ก่ออาการ ไม่มีผลข้างเคียง ยกเว้นด้านภาพลักษณ์สำหรับบางคน แต่หากตุ่มหินปูนโผล่ออกมาจากเยื่อตา อาจทำให้เยื่อตาหรือกระจกตาเกิดมีแผลถลอก และมีการติดเชื้ออักเสบของเยื่อตา หรือของกระจกตาตามมาได้
โดยทั่วไปขนาดของตุ่มหินปูนจะโตช้ามาก แต่อาจอยู่รวมกันหลายตุ่มฯ ติดๆกันจนดูเป็นตุ่มฯขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะโผล่ออกมานอกเยื่อตา ทำให้ต้องให้จักษุแพทย์สะกิดเอาตุ่มฯออกในที่สุด
หินปูนเยื่อตามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของหินปูนเยื่อตา คือ เป็นโรค หรือ ภาวะที่ไม่รุนแรง ตุ่มหินปูนมักโตช้ามาก และมักไม่ก่ออาการ ไม่ส่งผลต่อการมองเห็น หรือต่อสายตา ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง สามารถรักษาได้หายโดยการสะกิดออก (โดยจักษุแพทย์) แต่มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้หลังสะกิดออก
ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์?
หากพบตุ่มเล็กๆในเยื่อตา โดยไม่มีอาการ ก็คอยสังเกต ถ้ามีอาการระคายเคืองหรือตุ่มใหญ่ขึ้น หรือไม่แน่ใจว่าเป็นตุ่มหินปูน ควรปรึกษาให้จักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากพบว่าเป็นหินปูนเยื่อตา และมีอาการระคายเคือง ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อสะกิดออก
ป้องกันหินปูนเยื่อตาอย่างไร?
เนื่องจากปัจจัยหนึ่งของการเกิดหินปูนเยื่อตา เกิดจากเยื่อตาอักเสบเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีเยื่อตาอักเสบ ก็ควรต้องรีบรักษาเยื่อตาที่อักเสบให้หายโดยไว อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง