'ระนอง' ต้นแบบดูแล เด็กออ (ทิสติก) ครบวงจร (ตอนที่ 1)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 15 สิงหาคม 2556
- Tweet
"ออทิสซึม" (Pervasive Developmental Disorders ; PDD) หรือทั่วไป เรียกว่า ออทิสติก เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองล่าช้า 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดว่ามีเด็กไทยอายุ 0-18 ปี มีอาการออทิสติก188,860 คน และ สธ. ให้บริการรักษาผู้ป่วยในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุตัวเลขผู้ป่วยเข้ารับบริการ ผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นจาก 6,753 คน ในปี พ.ศ. 2553 เป็น 15,234 คนของไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2555 แต่ทั่วประเทศมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพียง 100 คน ปัญหาที่ยังเกิดขึ้น คือ เด็กที่ป่วยเข้าถึงบริการน้อยมาก
การจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงบริการ ต้องส่งเสริมการจัดเครือข่ายบริการที่เพียงพอ สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ปกครอง และครอบครัว ในการส่งเสริมพัฒนาการ เนื่องจากข้อจำกัดหน่วยบริการ สธ. และบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีพัฒนาการที่สมวัย
สปสช.ได้ร่วมมือกับหน่วยบริการ สธ. ใช้งบจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพบริการ สนับสนุนโรงพยาบาลที่มีการจัดบริการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า มีโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 42 แห่ง รวมถึง โรงพยาบาลระนอง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. และผลการดำเนินการประสบความสำเร็จจนสามารถเป็นต้นแบบได้เป็นอย่างดี
นายแพทย์ทินกร พงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรรพยาบาลระนอง เล่าว่า ทาง โรงพยาบาล ได้จัดตั้งคลินิกพัฒนาการเด็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 หลังจากพบข้อมูลจากการสำรวจว่า มีเด็กร้อยละ 11 ที่มีปัญหาพัฒนาการช้า นางปิยนุช อิสริยะวาณิช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการขั้นสูง การพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลระนอง อธิบายเพิ่มเติมว่า
"การให้บริการเด็กออทิสติกยากตรงที่ ต้องทำให้ผู้ปกครองยอมรับว่าลูกป่วยและพาเข้ารับการรักษา หากตรวจพบเร็วก่อนอายุ 3 ขวบ จะทำให้การพัฒนามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลจากการดำเนินงาน เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ใช้ชีวิต ประจำวันได้ สื่อสารได้ สามารถไปโรงเรียนและเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ในบางวิชา สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กปกติ"
เด็กออทิสติกมีอาการของโรคเป็น 3 ระดับ กล่าวคือ (1) ระดับน้อย ช่วยเหลือตัวเองได้ รักษาให้ดีขึ้นเกือบเป็นปกติได้ อาจไม่ต้องใช้ยาช่วย (2) ระดับปานกลาง พอจะดูแลตัวเองได้ พัฒนาได้ ส่วนมากต้องใช้ยาช่วย และ (3) ระดับรุนแรง กลุ่มนี้จะไม่สามารถดูแลตัวเองได้เลย
วิธีสังเกต อาการกลุ่มเด็กออทิสติก ก็คือ ในเด็กเล็ก จะพบว่าดูดนมได้ไม่ดี เงียบเฉยเกินไป ไม่สนใจให้ใครกอด ไม่แสดงท่าทางหรือส่งเสียงเรียก ไม่สนใจใคร หรืออาจติดคนมากผิดปกติก็ได้ โดยทั่วไป เด็กจะไม่สบตา ไม่สนใจที่จะให้ใครอุ้ม ไม่ตอบสนองทางด้านอารมณ์ ไม่ลอกเลียนแบบ ไม่ส่งเสียง ไม่อ้อแอ้ ชี้นิ้วไม่เป็น เรียกให้คนอื่นเล่นด้วยไม่เป็น ท่าทางเฉยเมยไร้อารมณ์ ไม่แสดงอาการดีอกดีใจให้เห็น และผูกพันกับสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ ถ้าดึงสิ่งของนั้นออก ก็จะร้องกรี๊ดอยู่นาน
ออทิสซึ่ม (Autism) เป็นลักษณะความผิดปกติของการพัฒนาทางระบบประสาทด้านการสื่อสารอย่างมีข้อจำกัดและการทำซ้ำๆ หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย ก็คืออาการจะเริ่มปรากฏก่อนเด็กอายุ 3 ปี ออทิสติกมีผลต่อการแปรผลข้อมูลในสมองโดยเปลี่ยนรูปร่างหรือลักษณะของเซลล์ประสาทและจุดประสานเซลล์ประสาท (Synapses) สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างไรนั้น ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันนัก
แหล่งข้อมูล:
- มาไวๆ...ถ้าสงสัยเด็กออ (ทิสติก) - http://www.komchadluek.net/detail/20130719/163752/มาไวๆ...ถ้าสงสัยเด็กออ%28ทิสติก%29.html#.Ugw6sZIvlqV [2013, August 14].
- Autism - http://en.wikipedia.org/wiki/Autism [2023, August 14].