ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 มกราคม 2557
- Tweet
- ทั่วไป
- ยาอะมิทริปไทลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะมิทริปไทลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะมิทริปไทลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะมิทริปไทลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะมิทริปไทลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิทริปไทลีนอย่างไร?
- ยาอะมิทริปไทลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะมิทริปไทลีนอย่างไร?
- ยาอะมิทริปไทลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
ทั่วไป
ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าทั้งในเด็กวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ และเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง วงการแพทย์จึงได้นำยานี้มาทำการรักษา และทำให้สุขภาพจิตของผู้ ป่วยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และโดยปกติแพทย์จะไม่ใช้ยานี้กับเด็กเล็ก
อะมิทริปไทลินจัดเป็นยาอันตราย จึงไม่สมควรซื้อยามารับประทานเอง การใช้ยาเพื่อการรักษา ควรต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาอะมิทริปไทลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะมิทริปไทลีน มีสรรพคุณใช้รักษาภาวะซึมเศร้า
ยาอะมิทริปไทลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะมิทริปไทลีนออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับ (เข้าสู่เซลล์ประสาท) ของสารสื่อประสาท Nora drenaline และ Serotonin ที่มีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย เป็นเหตุให้สารทั้ง 2 ตัวในสมองมีปริมาณเพิ่มขึ้น ด้วยผลดังกล่าว จึงทำให้ร่างกายเกิดความรู้สึกผ่อนคลายและลดภาวะซึมเศร้าในที่สุด
ยาอะมิทริปไทลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะมิทริปไทลีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้ คือ
- ยาเม็ดขนาด 10, 25 และ 50 มิลลิกรัม
ยาอะมิทริปไทลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะมิทริปไทลีน มีขนาดรับประทาน ดังนี้
ผู้ใหญ่ในช่วงเริ่มต้นของการรับประทานยา สามารถรับประทาน 75 – 150 มิลลิกรัมต่อวันโดยแบ่งรับประทาน จากนั้นให้รับประทาน 50 – 100 มิลลิกรัมต่อวันเป็นขนาดที่รับประทานเพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งรับประทานเช่นเดียวกัน
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาอะมิทริปไทลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก - มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยานี้อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะมิทริปไทลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาอะมิทริปไทลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะมิทริปไทลีน สามารถพบผลข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์ ดังนี้ คือ ปากแห้ง ท้องผูก ตามัว วิงเวียน ง่วงนอน อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก ชัก ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิทริปไทลีนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาอะมิทริปไทลีน ได้แก่
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มี โรคหัวใจ โดยเฉพาะ หัวใจล้มเหลว
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม MAOI (Monoamine Oxidase Inbihitor/ยาต้านซึมเศร้า) เพราะจะทำให้การหลั่ง Serotonin ลดลงจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ (เพราะอาจส่งผลให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้) และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะยาอาจปนออกมาในน้ำนม และอาจก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่เป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก ต้อหิน ท่อปัสสาวะตีบตัน ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้รุนแรงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุและในเด็ก เพราะผลข้างเคียงของยามักสูงขึ้นในคนกลุ่มนี้
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาอะมิทริปไทลีน) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอะมิทริปไทลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
การใช้ยาอะมิทริปไทลีนร่วมกับเครื่องดื่มที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลางหรือสมอง สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆเพิ่มขึ้นได้ เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ ขาดการควบคุมสติ เครื่องดื่มที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง ได้แก่ แอลกอฮอล์ ยาอะมิทริปไทลิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นมากกว่าหลายสิบรายการยา จนสามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงหลายอย่างติดตามมา จึงขอกล่าวอาการรวมๆที่อาจเกิดขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับยาดังต่อไปนี้ เช่น Barbiturates, Phenytoin, Carbamaze pine, Phenothiazines, Phenylpropanolamine, Erythromycin, Cimetidine, Estrogen, Sympathomimetic amines, Debrisoquine, Quanethidine, Clonidine, Bethanidine, และยาอื่นๆ ซึ่งอาการหรือผลที่ติดตามมาจากปฏิกิริยาระหว่างยาของยาตัวนี้กับยาดังกล่าว อาทิ เช่น ง่วงนอน ซึม วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มีอาการไข้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง เกิดอาการชัก ทั้งนี้เพราะยาเหล่านี้จะส่งผลให้ระดับยาอะมิทริปไทลินในเลือดเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้เกิดอาการต่างๆดังกล่าวได้ และยังมีอาการอื่นๆอีกที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งจะเห็นว่าการใช้ยานี้ มีความสุ่มเสี่ยงและอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก จึงไม่ควรใช้ยานี้ด้วยตนเอง ต้องได้รับคำสั่งใช้ยานี้จากแพทย์เท่านั้น
ควรเก็บรักษายาอะมิทริปไทลีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาอะมิทริปไทลีนในอุณหภูมิห้อง ควรเก็บให้พ้นแสงแดด และความชื้น และต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
ยาอะมิทริปไทลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นของยาอะมิทริปไทลีน และบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Amitec (อะมิเทค) | Utopian |
Amitryn (อะมิทรีน) | T. Man Pharma |
Amitryptyline GPO (อะมิทริปไทลีน จีพีโอ) | GPO |
Conmitrip (คอนมิทริป) | Condrugs |
Polybon (โพลีบอน) | Pharmasant Lab |
Polytanol (โพลีทานอล) | Pharmasant Lab |
Tripsyline (ทริปไซลีน) | Polipharm |
Tripta (ทริปทา) | Atlantic Lab |
Triptyline (ทริปไทลีน) | Medifive |
Tripzol (ทริปซอล) | Medicine Products |
Tryptanol (ทริปทานอล) | M & H Manufacturing |
บรรณานุกรม
- http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682388.html [2013,Dec24].
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=amitriptyline [2013,Dec24].
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Triptyline/?q=amitriptyline&type=brief [2013,Dec24].
- http://www.drugs.com/drug-interactions/amitriptyline.html [2013,Dec24].