ภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส (Lactase deficiency / Lactose intolerance)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปัญหาการขาดหรือการพร่อง เอนไซม์ หรือน้ำย่อยแลคเตส (Lactase enzyme) พบได้บ่อย ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตสจะมีปัญหาเมื่อกินนม (นมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สำคัญ คือ นมวัว) เนื่อง จากนมมีส่วนประกอบสำคัญคือ น้ำตาลแลคโตส (Lactose) ต้องอาศัยเอนไซม์แลคเตสย่อยจึงจะดูดซึมเข้าไปในผนังลำไส้ได้ การขาดหรือพร่องเอนไซม์นี้ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ดังนั้นต้องหาสาเหตุเรื่องท้องเสียซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและท้องเสียมีสาเหตุได้หลายอย่าง

 

เอนไซม์แลคเตสมีหน้าที่อย่างไร?

ภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส

แลคเตส เป็นเอนไซม์ในกลุ่ม Disaccharidase ซึ่งพบในผนังลำไส้เล็กส่วนที่หยักยื่นจากผนังลำไส้ที่เรียกว่า Brush border โดยเป็นเอนไซม์ที่ย่อยน้ำตาลในกลุ่ม Disaccharide ซึ่งรวมถึง น้ำตาลแลคโตส

Disaccharide เป็นน้ำตาลที่มี 2 โมเลกุลของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide) เชื่อมกันอยู่ เมื่อถูกย่อยด้วยเอนไซม์ Disaccharidase จะได้น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งจะถูกดูดซึมที่ผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานที่สำคัญ

 

มีกลไกอย่างไรในการย่อยน้ำตาลแลคโตสและในการขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส?

แลคโตส เป็นน้ำตาลในกลุ่มน้ำตาล Disaccharide โดยประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส (Glucose) และของน้ำตาลกาแลคโตส (Galactose) พบในนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และในอาหารที่มีนมเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ การดูดซึมน้ำตาลแลคโตสเข้าสู่ผนังของลำไส้เล็กและเข้าสู่กระแสเลือด อาศัยเอนไซม์แลคเตส

ถ้าไม่มีเอนไซม์แลคเตส หรือมีเอนไซม์ลดลง น้ำตาลแลคโตสจะไม่ถูกย่อยและดูดซึม น้ำตาลที่ไม่ถูกดูดซึมนี้ จะผ่านลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดการหมัก (Fermentation) ของน้ำตาลแลคโตส ยังผลให้เกิดก๊าซจำนวนมากในลำไส้ ได้แก่ ก๊าซ ไฮโดรเจน (Hydrogen) คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) และมีเทน (Methane) จึงทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา

นอกจากก๊าซจำนวนมาก น้ำตาลที่ไม่ถูกดูดซึมและส่วนที่เป็นผลจากการบูดเปรี้ยว (การหมัก) ทำให้เกิดความดันในลำไส้ใหญ่สูงขึ้น เรียกว่า ความดันออสโมติก (Osmotic pressure)

ตามหลักวิทยาศาสตร์ จากความดันออสโมติกที่สูงขึ้นนี้ น้ำจะถูกดึงจากที่ที่มีความดันออสโมติกต่ำ ไปยังบริเวณที่มีความดันออสโมติกสูง ดังนั้นจึงมีการดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ใหญ่มากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีอาการท้องเสีย (Diarrhea) คือถ่ายเป็นน้ำออกมามาก

 

ผู้ที่มีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสมีอาการอย่างไร?

ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตส อาจไม่มีอาการหากได้รับนมที่มีแลคโตสปริมาณไม่มากนัก แต่เมื่อปริมาณของนมเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจึงจะมีอาการ ซึ่งได้แก่ อาการลมมากในท้อง ท้องลั่นโครก คราก มีการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน (ในเด็กโตมักมีอาการอาเจียน)

 

ผู้ที่ขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสเป็นโรคทางกรรมพันธุ์หรือเกิดภายหลัง?

ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตสนี้ มีหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นกรรมพันธุ์ และไม่เป็นกรรมพันธุ์

1. ผู้ที่ขาดเอนไซม์แลคเตสตั้งแต่เกิด (Congenital lactase deficiency) กลุ่มนี้พบน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อได้รับน้ำตาลแลคโตสในนม มีรายงานทั่วโลกน้อยกว่า 50 ราย ผู้ป่วยมีความผิดปกติที่ยีน/จีน (Gene) โดยได้รับยีนผิดปกติจากพ่อและแม่ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นสาเหตุนี้จึงเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

2. ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส (Primary adult type-hypolactasia) เกิดจากการลดลงของเอนไซม์หลังจากการหย่านมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ ซึ่งรวมทั้งในคน โดยปกติจะพบเอนไซม์แลคเตสในผนังของลำไส้เล็กในช่วงเด็กอยู่ในครรภ์ระยะแรกๆปริมาณน้อย ต่อมาเอนไซม์จะมากขึ้น และสูงสุดหลังคลอด จนถึงอายุ 3 ปี หลังจากนั้นเอนไซม์นี้จะลดลงตามอายุ การลดลงจะแตกต่างกันตามชาติพันธุ์ การขาดเอนไซม์ในลักษณะนี้พบได้ประมาณ 15% ในชนผิวขาว ประมาณ 40% ในผู้ใหญ่ชาวเอเชีย และประมาณ 85% ในคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งความผิดปกตินี้จะมีความผิดปกติในระดับยีนเช่นกัน จึงเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

3. การขาดเอนไซม์แลคเตสตามหลังการติดเชื้อ หรือการอักเสบเรื้อรังของลำไส้เล็ก (Secondary lactose intolerance) เนื่องจากมีการทำลายผนังลำไส้เล็ก พบได้ในโรคซีลิแอก (Celiac disease) หรือการติดเชื้อไวรัสโรตา อาการของผู้ป่วยจะเป็นชั่วคราวและจะดีขึ้นเมื่อลำ ไส้เล็กกลับสู่สภาพปกติ สาเหตุนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

 

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่ามีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส?

เนื่องจากเมื่อมีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส จะทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนมากในร่างกาย และอุจจาระมีสภาพเป็นกรด การวินิจฉัยคือ การวัดค่าก๊าซไฮโดรเจนที่มากขึ้นในลมหายใจ (Lastose hydrogen breath test) เมื่อได้รับน้ำตาลแลคโตส หรือการตรวจอุจจาระ ว่าอุจจาระมีภาวะเป็นกรดหรือไม่ ซึ่งวิธีหลังทำได้ง่าย เป็นวิธีตรวจในเด็กเล็ก ที่ไม่ทำให้เด็กเกิดอันตราย

ประวัติอาการกินนมที่มีแลคโตสแล้วถ่ายท้องเสียไม่หยุด พอหยุดนมที่มีแลคโตสแล้วอาการดีขึ้นก็เป็นการช่วยวินิจฉัยได้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงไม่จำเป็นต้องทำทุกราย แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

 

การขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสเหมือนกับการแพ้นมวัวหรือไม่?

การขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส และการแพ้นมวัว ทั้งสองโรค/ภาวะ (โรค อาการ ภาวะ) นี้ไม่เหมือนกัน กลไกการเกิดคนละอย่าง การแพ้นมวัวอาจมีผื่นแพ้ หรือมีอาการทางระ บบหายใจร่วมด้วย

 

รักษาภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส ได้แก่

1. ให้งดหรือลดนมที่มีน้ำตาลแลคโตส โดยให้ได้โปรตีนและแคลเซียมจากแหล่งอื่นแทน เช่น ให้นมที่ทำจากถั่วเหลือง นอกจากนั้น ควรทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่รับประทานมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบด้วยหรือไม่ หากมี มีมากน้อยเพียงใด โดยอ่านจากฉลากที่ติดไว้ เนื่องจากบางคนสามารถรับแลคโตสได้ปริมาณหนึ่งและไม่เกิดอาการ กลุ่มนี้ควรให้อาหารที่มีแลคโตสน้อยลง เช่น เนยแข็งบางชนิดมีปริมาณแลคโตสน้อย

2. การเพิ่มเอนไซม์แลคเตส อาหารบางชนิด เช่น โยเกิร์ตที่ใส่แบคทีเรียลงไปทำให้มีการสร้างเอนไซม์แลคเตสได้ส่วนหนึ่ง เมื่อรับประทานโยเกิร์ตนี้ ก็อาจช่วยให้มีเอนไซม์ย่อยน้ำ ตาลแลคโตสมากขึ้น นอกจากนี้ บางโรงพยาบาล มีเอนไซม์แลคเตสขาย โดยให้ผู้ป่วยกินก่อนได้รับอาหารที่มีน้ำตาลแลคโตส

 

อาหารอะไรบ้างที่มีแลคโตสเป็นส่วนประกอบ?

นอกจากนมที่เห็นชัดเจนแล้ว มีอาหารมากมายที่มีแลคโตสเป็นส่วนประกอบ ที่เราคุ้น เคย เช่น ซีเรียล (Cereal) ไอศกรีม น้ำสลัด ช็อคโกแลต อาหารเสริมของเด็ก เค้ก และเบเกอรี่ต่างๆ เป็นต้น

 

เมื่อไรควรไปพบแพทย์?

ควรพบแพทย์เมื่อ

1. ดื่มนมแล้ว มีอาการ ท้องเสีย อาเจียน มีลมแน่นท้อง ปวดท้อง

2. เมื่อมีอาการท้องเสียโดยไม่แน่ใจว่าเป็นอาการของการขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส หรือแพ้นมวัว หรือจากการติดเชื้อ ทั้งนี้เพราะ อาการท้องเสียเกิดได้จากหลายสาเหตุ และที่สำคัญคือ ผลตามมาจากการท้องเสียทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต(ตาย)ได้

 

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส คือ กรรมพันธุ์ และอาการท้องเสีย ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ผู้ที่ขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสเป็นโรคทางกรรมพันธุ์หรือเกิดภาย หลัง

เนื่องจากผู้ที่ขาดเอนไซม์จากความผิดปกติของยีน/จีน (Gene) ตั้งแต่กำเนิดพบน้อย ภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสที่พบได้บ่อยๆ มักเป็นผลตามจากการท้องเสียที่นำมาก่อน ดังนั้นภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสจึงมักเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ส่วนผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่เอนไซม์แลคเตสลดลง บางคนสามารถดื่มนมได้ปริมาณหนึ่ง เช่น วันละ 1 แก้ว โดยไม่เกิดอาการอะไร แต่ถ้าดื่มมากกว่านั้นแล้วเกิดอาการท้องเสีย ก็ควรจำ กัดปริมาณนมไว้ในขนาดที่รับได้ ขนาดที่ไม่ทำให้เกิดอาการ (ต้องค่อยๆทดสอบหาปริมาณที่เหมาะสมเอง เพราะจะแตกต่างกันในแต่ละคน) เพราะนมเป็นแหล่งโปรตีน แคลเซียม และวิตา มินหลายอย่างที่หาง่ายและสะดวก

 

ดูแลเด็กที่มีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสอย่างไร?

การดูแลเด็กที่มีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส คือ ให้ดื่มนมที่ไม่มีแลคโตส เช่น นมถั่วเหลือง ซึ่งเป็นนมที่แนะนำให้ใช้แทนนมวัวได้ หรือนมที่ทำจากข้าว (Rice milk) แต่นมจากข้าว ควรมีการเติม ธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินดีด้วย

 

ป้องกันการขาดแคลเซียมจากการดื่มนมไม่ได้ในเด็กและในผู้ใหญ่ได้อย่างไร?

แคลเซียมมีมากในพืชที่เติบโตจากดิน ซึ่งพืชดูดแคลเซียมมาจากดิน พบมากในงาดำ (มีแคลเซียมสุงกว่าในนมวัว) นอกจากนี้ยังพบมากใน ถั่วเหลือง ถั่วแดงหลวง เม็ดบัว และผลิต ภัณฑ์จากเมล็ดพืชเหล่านี้ เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว ซีอิ้ว

 

รายชื่อพืชที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูงสุด

รายชื่อพืชที่มีแร่ธาตุแคลเซียมสูง 10 อันดับแรก จากรายงานของสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คือ

  • ใบยอ (จ.ปัตตานี) 841 มิลลิกรัม/100กรัม
  • ใบชะพลู 601 มิลลิกรัม/100 กรัม
  • ผักแพว (จ.อุบลฯ) 573 มิลลิกรัม/100 กรัม
  • เห็ดลม 541 มิลลิกรัม/100 กรัม
  • ใบยอ 469 มิลลิกรัม/100 กรัม
  • มะขามสด 429 มิลลิกรัม/100 กรัม
  • แค (ยอด) 395 มิลลิกรัม/100 กรัม
  • ผักกะเฉด 387 มิลลิกรัม/100กรัม
  • สะเดา (ยอด) 354 มิลลิกรัม/100 กรัม
  • สะแล 349 มิลลิกรัม/100กรัม

 

ป้องกันการขาดวิตามินดีจากการดื่มนมไม่ได้ในเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างไร?

ร่างกายต้องการวิตามินดีวันละ 400-800 ยูนิต/หน่วย (Unit) เพื่อดึงแคลเซียมเข้ามาในกระดูกทำให้กระดูกแข็งแรง และช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แหล่งของวิตามินดี ได้แก่ น้ำ มันตับปลา เนื้อปลา และวิตามินดีเม็ด (อาหารเสริม)

นอกจากนี้ แสงแดดเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวิตามินดีที่ประหยัดและทำให้ร่างกายแข็ง แรง การออกกำลังกายโดยเปิดผิวหนังให้ได้รับแสงแดด ในช่วงที่แสงแดดไม่แรงมากจนทำอัน ตรายต่อผิวหนัง (เวลา 8.00-10.00 และ 15.00-17.00น) เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ร่างกายจะสามารถสร้างวิตามินดีได้ประมาณ 200 ยูนิต

บรรณานุกรม

  1. Lentze MJ, Branski D. Enzyme deficiencies. Klieyman: Nelson Textbook of Pediatrics, 19th ed.
  2. http://www.uptodate.com/contents/image?imageKey=PI/55938&topicKey=PI%2F16172&utdPo[2017,April15]
  3. http://www.uptodate.com/contents/lactose-intolerance-clinical-manifestations-diagnosis-and-management[2017,April15]
  4. ศุภศิลป์ สุนทราภา http://slideplayer.in.th/slide/2216317/[2017,April15]
Updated 2017,April15