พยาธิใบไม้เลือด (Schistosomiasis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคพยาธิใบไม้เลือด หรือ โรคติดเชิ้อพยาธิใบไม้เลือด (Schistosomiasis, ซิสโตโซมัยอะสิส) เป็นโรคติดเชื้อปรสิต(Parasite)ชนิด‘พยาธิใบไม้เลือด(Blood fluke หรือ Schistosome)ซึ่งเป็นพยาธิตัวแบนใน ‘สกุล Schistosoma (ย่อว่า S), วงค์ Schistosomatidae’ ที่อยู่ในหอยทากน้ำจืด และหอยฯนี้เป็นตัวปล่อยพยาธิ/ปรสิตนี้ลงสู่แหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นพยาธินี้จะไชเข้าสู่ร่างกายคนผ่านผิวหนังที่สัมผัส/แช่น้ำที่ปนเปื้อนพยาธินี้ ที่เป็นได้ทั้งผิวหนังปกติหรือผิวหนังที่มีแผล และหลังจากนั้น พยาธิฯจะไชเข้าไปอาศัยเจริญเติบโตและออกไข่ในหลอดเลือดดำขนาดเล็กๆของอวัยวะต่างๆ จึงได้ชื่อว่า ‘พยาธิใบไม้เลือด’

พยาธิใบไม้เลือดมีหลากหลายชนิดย่อย ที่ติดเชื้อได้ทั้งในคนและในสัตว์ต่างๆ(เช่น สุนัข แมว หมู วัว ควาย ม้า ควายน้ำ ลิง หนู) โดยพยาธิใบไม้เลือดที่ติดเชื้อในคนมี 5 ชนิด ชนิดที่พบบ่อย คือชนิด

  • S. Hematobium
  • S. mansoni
  • และ S. japonicum

ส่วน อีก 2ชนิดที่พบได้น้อย คือ

  • S. mekongi
  • และ S. intercalatum

โรคพยาธิใบไม้เลือด เป็นการติดโรคจาก “พยาธิตัวอ่อนระยะติดโรค/ระยะติดต่อ(Infective stage)”ของพยาธิใบไม้เลือดที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่เป็นน้ำนิ่งหรือน้ำไหลช้า เช่น แม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำในเขื่อน น้ำใน นา ในสวน และแหล่งน้ำจืดต่างๆตามธรรมชาติโดยเฉพาะที่เป็นน้ำนิ่ง โดยตัวอ่อนระยะติดเชื้อของพยาธินี้จะไชเข้าสู่ผิวหนังปกติ(ไม่จำเป็นต้องมีแผล)ของคนที่สัมผัสแหล่งน้ำอยู่นานประมาณ 30 วินาทีขึ้นไป(เช่น เล่นน้ำ ลุยน้ำ ว่ายน้ำ อาบน้ำ ล่องแพ ซักเสื้อผ้า ล้างภาชนะต่างๆในแหล่งน้ำที่มีพยาธิระยะติดเชื้อนี้) จากนั้นพยาธิตัวอ่อนระยะติดเชื้อนี้จึงไชเข้าสู่หลอดเลือดดำที่ผิวหนังเพื่อการเจริญเติบโตต่อไป

พยาธิใบไม้เลือด ฆ่าให้ตายได้ด้วย น้ำยาฆ่าเชื้อ ชนิด Sodium hypochlorite, 70% Alcohol, หรือ 2% Glutaraldehyde, และตายได้เมื่ออยู่นอกโฮสต์ในสถานที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15.4 องศาเซลเซียส(Celsius)ลงไป

โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้เลือด พบทั่วโลก โดยทั่วโลกพบได้ประมาณ 200ล้านคน ซึ่งประมาณ 85%อยู่ในอัฟริกา พบบ่อยในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศในเขตร้อนใน ทวีปอัฟริกา ทวีปเอเซีย (เช่น จีน ญี่ป่น ลาว กัมพูชา แต่พบน้อยในประเทศไทย) ตะวันออกกลาง และทะเลแคริบเบียน(Caribbian) โดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรมีอาชีพเกษตรกรรมเพราะมีแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติ โรคนี้พบในคนทุกเพศ ทุกวัย พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และพบสูงกว่า ในช่วงอายุ 10-19 ปี

อนึ่ง : ชื่ออื่นของโรคพยาธิใบไม้เลือด ได้แก่

  • ไข้หอยทาก(Snail fever): จากที่วงจรชีวิตของพยาธินี้มีหอยทากน้ำจืดเป็นโฮสต์ตัวกลาง (สิ่งมีชีวิตที่พยาธิอาศัยเพียงเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะต่างๆ)
  • โรคบิลฮาร์เซีย (Bilharzia หรือ Bilharziasis): โดยตั้งชื่อโรคตาม ศัลยแพทย์ชาวเยอรมัน นายแพทย์ Theodor Maximilian Bilharz ที่ทำงานในเมืองไคโร ประเทศอียิปต์ ที่รายงานโรค พยาธิใบไม้เลือด(ชนิด S. hematobium) ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1851 (พ.ศ. 2394)
  • ไข้กาตายามา(Katayama): ที่ใช้เรียกโรคนี้กรณีติดเชื้อเฉียบพลัน โดย Katayama เป็นชื่อตำบลในญี่ปุ่น ที่มีรายงานพบพยาธิใบไม้เลือดชนิด S. japonicum เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1904/พ.ศ. 2447

วงจรชีวิตของพยาธิใบไม้เลือดเป็นอย่างไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?

พยาธิใบไม้เลือด

พยาธิใบไม้เลือด มีคนเป็นรังโรคหรือเป็นโฮสต์จำเพาะ(Definite host, สิ่งมีชีวิตที่พยาธิอาศัยอยู่จนเจริญเติบโตเป็นตัวแก่/Adult ที่ผสมพันธได้ จนตัวเมียออกไข่เพื่อแพร่พันธ์ต่อไป) มี ’หอยทากน้ำจืด(Freshwater snail)’ เป็นโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host, สิ่งมีชีวิตที่พยาธิอาศัยเพียงเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะต่างๆ)

ทั้งนี้ พยาธิใบไม้เลือด เริ่มวงจรจากไข่พยาธิในอุจจาระและ/หรือในปัสสาวะของคนที่ติดพยาธินี้ ปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำจืด เมื่ออยู่ในแหล่งน้ำจืดได้ระยะหนึ่ง ไข่จะฟัก และให้ตัวอ่อนที่ชื่อ “Miracidia”

จากนั้นตัวอ่อน Miracidia จะไชเข้าไปอยู่ใน ”หอยทากน้ำจืด” และเจริญเติบโตในหอยทากน้ำจืดเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า “Sporocyst” และ Sporocyst จะเจริญอยู่ในหอยนี้อีกระยะหนึ่ง ได้เป็นตัวอ่อนระยะติดโรค(Infective larva)ที่เรียกตัวอ่อนระยะนี้ว่า “Cercariae” จากนั้น

ตัวอ่อน Cercariae จะถูกหอยทากฯปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ และเมื่อคนลงสัมผัสกับแหล่งน้ำ ตัวอ่อนCercariae จะไชเข้าสู่ผิวหนังคน เข้าไปยังหลอดเลือดดำที่ผิวหนัง และจะเกิดการเจริญเปลี่ยนแปลงไปเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า “Schistomule” ซึ่ง

Schistomule จะใช้ชีวิตอยู่ในหลอดเลือดดำผิวหนังหลายวัน ต่อจากนั้นจึงกระจายไปตามหลอดเลือดดำขนาดเล็กทุกอวัยวะทั่วร่างกาย(โดยทั่วไประยะกระจายในหลอดเลือดดำนี้ใช้เวลาประมาณ 5-7วัน) ต่อจากนั้นจะเข้าไปอยู่ในระบบหลอดเลือดดำของตับ (Hepatoportal circulation)ที่มันจะเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่และมีการผสมพันธ์กันระหว่างพยาธิตัวแก่ตัวผู้และตัวเมีย

ต่อจากนั้น พยาธิตัวแก่ที่ผสมพันธ์แล้ว จะกระจายไปอยู่ตามหลอดเลือดดำในอวัยวะต่างๆที่เป็นอวัยวะที่มันจะออกไข่ ซึ่งมักเป็น กระเพาะปัสสาวะ หรือ ลำไส้ใหญ่ขึ้นกับว่าเป็นพยาธิใบไม้ชนิดใด เช่น S. Mansoni จะไปอยู่ที่หลอดเลือดดำลำไส้ใหญ่ และ S. Hematobium จะไปอยู่ในหลอดเลือดดำของระบบทางเดินปัสสาวะ (โดยเฉพาะในกระเพาะปัสสาวะ) และระบบสืบพันธ์

โดยในหลอดเลือดดำของอวัยวะปลายทางเหล่านี้ ตัวแก่ตัวเมียที่ผสมพันธ์แล้ว จะออกไข่ จากนั้น

  • ไข่จะหลุดจากหลอดเลือดดำเข้าไปปนอยู่ในอุจจาระเมื่อพยาธิฯอยู่ในลำไส้ใหญ่
  • ส่วนเมื่อพยาธินี้อยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะ/กระเพาะปัสสาวะ ไข่ก็จะหลุดจากหลอดเลือดดำเข้ามาในปัสสาวะ

เมื่อ คนขับถ่าย ไข่พยาธินี้ จะปนไปในอุจจาระ หรือในปัสสาวะ(ขึ้นกับอวัยวะที่อยู่ของมัน) จึงเป็นอันครบวงจรของพยาธินี้ และเมื่อ อุจจาระ ปัสสาวะ ของคนที่มีไข่พยาธินี้ ปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำจืดที่มีหอยทากน้ำจืดอาศัยอยู่ ก็เป็นการเริ่มต้นวงจรชีวิตของพยาธินี้อีกครั้ง วนเวียนไปเรื่อยๆไม่จบสิ้น

อนึ่ง:

  • Cercariae หลังจากออกจากหอยทากน้ำจืด จะมีชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำนั้นๆได้ประมาณ 2 วัน
  • การเจริญเติบโตของพยาธิตัวอ่อนจนเป็นตัวแก่ที่ออกไข่ ในระบบหลอดเลือดดำในตับใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
  • อาการของโรคซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อไข่พยาธินี้ในหลอดเลือดดำ ของอวัยวะต่างๆ มักเกิดในช่วง 6-12 สัปดาห์หลังการไชของพยาธินี้เข้าผิวหนัง
  • ไข่ของพยาธินี้ มีขนาดประมาณ 150 micrometre ตัวแก่มีขนาด ยาวประมาณ 7-28 มิลลิเมตร(มม.) กว้างประมาณ 0.3-0.6มม. และพยาธิตัวแก่นี้สามารถมีชีวิตอยู่ในคนได้นานหลายๆปี มีรายงานอยู่ได้นานถึง 20-30 ปี และตัวแก่ตัวเมียที่ผสมพันธ์แล้วนี้ จะให้ไข่ต่อเนื่องได้หลายล้านฟอง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดพยาธิใบไม้เลือด?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคพยาธิใบไม้เลือด คือ

  • ผู้คนที่อาศัยอยู่ หรือนักเดินทางท่องเที่ยวในถิ่นที่มีแหล่งน้ำจืดที่เป็นที่อยู่อาศัยของหอยทากน้ำจืด และผู้คนมีการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ถูกสุขอนามัย เช่น ไม่ใช้ส้วม และคนได้สัมผัสกับแหล่งน้ำเหล่านั้น เช่น การทำเกษตรกรรม การอาบน้ำ ว่ายน้ำ ลุยน้ำ เล่นน้ำ ล่องแพ ซักล้างเคื่องอุปโภคและบริโภค

โรคพยาธิใบไม้เลือดมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคพยาธิใบไม้เลือด แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ อาการระยะเฉียบพลัน และอาการระยะเรื้อรัง

ก. อาการระยะเฉียบพลัน(Acute schistosomiasis): ซึ่งชื่ออื่น คือ Katayama syndrome หรือ Katayama fever (Katayama เป็นชื่อตำบลในญี่ปุ่น ที่มีรายงานพบพยาธิใบไม้เลือดชนิด S. japonicum เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1904/พ.ศ. 2447) ซึ่งอาการระยะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดกับผู้ป่วยที่ติดพยาธิใบไม้เลือดเฉพาะบางคนเท่านั้น โดยมักเกิดในผู้ติดพยาธินี้เป็นครั้งแรก ดังนั้น ประมาณ 85%ของผู้มีอาการระยะเฉียบพลันจึงเป็นนักท่องเที่ยว มักไม่พบอาการระยะเฉียบพลันในผู้ที่มีพยาธินี้เป็นพยาธิประจำถิ่น โดยอาการจะเกิดขึ้นได้เป็นวัน หรือเป็นหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือนหลังติดเชื้อพยาธินี้ โดยอาการจะเกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อพยาธินี้

อาการที่พบในระยะแรก(อาจมีหรือไม่มีอาการเหล่านี้ก็ได้) คือ

  • มีผื่นคันขึ้นตามตัวทั่วไป ที่ไม่รุนแรง ที่อาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากติดพยาธิจากแหล่งน้ำ และผื่นจะหายไปได้เอง
  • แต่หากมีการติดเชื้อพยาธิใบไม้เลือดชนิดเดิมซ้ำอีก จะเกิดผื่นซ้ำได้อีก แต่จะเป็นอาการผื่นที่รุนแรงกว่าเดิม

นอกจากนั้น หลังติดพยาธิฯเป็นสัปดาห์หรือ 1-2เดือน ผู้ป่วยจะมีอาการ

  • ไข้สูง
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว
  • ปวดท้อง
  • วิงเวียน
  • อาเจียน
  • อ่อนเพลียมาก
  • ท้องเสีย โดยมีอุจจาระเป็นเลือด และ
  • เมื่อตรวจเลือดซีบีซี/CBC จะพบมีเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil (เม็ดเลือดขาวชนิดที่เกี่ยวข้องกับภูมคุ้มกันต้านทานโรค/อาการแพ้ของร่างกาย สูงเกินค่าปกติ)

อนึ่ง อาการต่างๆดังกล่าวเหล่านี้ จะเป็นอยู่นานเป็นหลายสัปดาห์ และจะค่อยๆดีขึ้นเองด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาเรื่องอาการแพ้ อาจเสียชีวิตได้จากการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะระบบสำคัญ เช่น จากระบบหายใจล้มเหลว

ข. อาการระยะเรื้อรัง(Chronic Schistosomiasis): เป็นอาการพบเกิดกับผู้ติดพยาธิทุกคน แต่ลักษณะอาการจะแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นกับว่าไข่พยาธิจะก่อให้เกิดปฏิกิริยากับอวัยวะใด ก็จะเกิดอาการของการทำงานผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ โดยความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละคนจะต่างกัน เพราะขึ้นกับปริมาณไข่พยาธิในอวัยวะนั้น ทั้งนี้ ตัวพยาธิเองจะไม่ก่อให้เกิดอาการ และร่างกาย/อวัยวะต่างๆก็จะไม่สร้างปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อตัวพยาธิเอง

ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่อวัยวะต่างๆมีต่อไข่พยาธินี้ คือ

  • การอักเสบรุนแรงของเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ และ
  • ร่างกายจะซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่อักเสบด้วยการเกิดเป็นพังผืด ร่วมกับมีการจับของหินปูนในเนื้อเยื่อ/ในอวัยวะนั้นๆ จึงเกิดเป็นอาการผิดปกติของอวัยวะนั้นๆขึ้น และ
  • ถ้าเกิดพังผืดมาก ก็จะเกิดการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะนั้นๆมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นอวัยวะสำคัญ ก็อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น
    • ภาวะการหายใจล้มเหลวเมื่อปอดเกิดพังผืดมากจนเกิดเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่ถ้าโรครุนแรงมากก็จะส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว และ/หรือ
    • ภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย ที่เรียกว่าภาวะ “Cor pulmonale” ซึ่งทั้งสองภาวะดังกล่าว เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • นอกจากนี้ ในบางอวัยวะ การเกิดการอักเสบรุนแรงยังเป็นสาเหตุให้เซลล์ของอวัยวะนั้นๆกลายพันธ์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง ที่พบบ่อย คือ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และที่มีรายงานพบได้แต่น้อยกว่ามาก คือ มะเร็งตับ

ตัวอย่างอาการของอวัยวะสำคัญ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น

  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร(Gastrointestinal schistosomiasis): จะมีอาการเรื้อรังทางระบบอาหาร เช่น
    • ปวดท้อง
    • ท้องเสียร่วมกับมีอุจจาระเป็นเลือด
    • ความดันในระบบเลือดดำของตับสูง ส่งผลให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารได้สูง
    • มีม้ามโต
    • แต่ไม่ค่อยพบตับวาย ยกเว้นในผู้ป่วยที่มี ไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย และ
    • มีรายงานอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งตับได้
  • อาการทางระบบทางเดินปัสสาวะ(Urinary tract schistosomiasis): เช่น
    • ไตอักเสบ
    • ท่อทางเดินปัสสาวะตีบตันจากการเกิดพังผืดจนอาจส่งผลให้ไตวาย และ
    • การอักเสบเรื้อรังของกระเพาะปัสสาวะ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • อาการทางระบบหายใจ(Pulmonary schistosomiasis): จะเป็นอาการจากการเกิดพังผืดในปอดที่ส่งผลให้เกิดทางเดินหายใจอุดตัน จนเกิดเป็น
    • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว และ
    • ยังส่งผลให้ความดันหลอดเลือดปอดสูงขึ้น จนมีผลกระทบไปถึงการทำงานของหัวใจห้องขวาล้มเหลวจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
    • ซึ่งภาวะหายใจล้มเหลวและภาวะหัวใจล้มเหลว อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
  • อาการทางระบบประสาท(Central nervous system/CNS schistosomiasis):
    • ถ้าไข่อยู่ในเนื้อสมอง อาจส่งผลให้เกิดอาการชัก/โรคลมชัก หรือถ้าทำให้เนื้อสมองเกิดเป็นก้อนอักเสบ อาจทำให้มีแขนขาอ่อนแรง
    • แต่ถ้าไปเกิดที่ไขสันหลัง อาจส่งผลให้เกิดไขสันหลังอักเสบ จน ขา หรือ แขน ทั้งสองข้างอ่อนแรง ทั้งนี้ขึ้นกับระดับของไขสันหลังที่อักเสบว่าเป็นส่วนที่ควบคุมแขนหรือขา

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ และควรแจ้งแพทย์ถึงประวัติ การท่องเที่ยว เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถานที่/ประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาที่มักเป็นแหล่งอยู่อาศัยของพยาธิต่างๆจากการขาดสุขอนามัยพื้นฐานด้านการขับถ่าย

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้เลือดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้เลือดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการผู้ป่วย แหล่งที่พักอาศัย อาชีพ การเดินทาง การท่องเที่ยว โรคประจำตัวต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจปัสสาวะ และ การตรวจอุจจาระ ดูไข่พยาธิ
  • การตรวจเลือดดู การติดเชื้อต่างๆ เช่น การตรวจ CBC และดูจำนวนเม็ดเลือดขาว ขนิด Eosinophil
  • การตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทานโรคนี้ และสารภูมิต้านทานของโรคต่างๆที่แพทย์สงสัยอาจเป็นสาเหตุของอาการเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค
  • นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ และอาการผู้ป่วย เช่น
    • การเอกซเรย์ปอดเมื่อมีอาการทางปอด
    • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพอวัยวะต่างๆตามอาการ เช่น ปอด หรือ สมอง และ
    • อาจรวมไปถึง การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคในอวัยวะต่างๆเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคพยาธิใบไม้เลือดอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคพยาธิใบไม้เลือด คือ การรักษาสาเหตุ และ การรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: คือการให้ยารับประทานที่ฆ่าตัวพยาธิ/ยาถ่ายพยาธิ ได้แก่ยา Praziquantel ซึ่งพยาธินี้บางชนิดย่อย แพทย์อาจใช้ยาอื่นร่วมกับยา Praziquantel เพื่อเพิมประสิทธิภาพในการรักษา แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่นยา Artesunate และยา Mefloquine

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: ได้แก่ การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น

  • การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวกรณีเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย
  • การใช้ยาแก้แพ้กรณีเกิดผื่นคัน
  • การใช้ยาสเตียรอยด์ กรณีเกิดอาการแพ้รุนแรง
  • การให้ยากันชักกรณีเกิดอาการชัก/ โรคลมชัก เป็นต้น

โรคพยาธิใบไม้เลือดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากพยาธิใบไม้เลือดจะขึ้นกับว่า ไข่พยาธิไปอยู่ในอวัยวะใด ซึ่งจะก่อให้เกิดการอักเสบต่ออวัยวะนั้นๆ โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับปริมาณไข่ที่ไปอยู่ในอวัยวะนั้นๆ เช่น

  • โรคไตเรื้อรัง กรณีไข่ไปอยู่ที่ไต
  • โรคตับ กรณีไข่ไปอยู่ที่ตับ
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง จนถึงขั้นการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กรณีไข่ไปอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะ
  • ท้องเสียเรื้อรังร่วมกับอุจจาระเป็นเลือด กรณีไข่ไปอยู่ที่ลำไส้
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกรณีไข่ไปอยู่ที่ปอด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลว และภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ไส้ติ่งอักเสบ กรณีไข่ไปอยู่ในไส้ติ่ง และ/หรือ
  • อาการชัก/ลมชัก กรณีไข่ไปอยู่ที่สมอง
  • อัมพาต กรณีไข่ไปอยู่ที่ไขสันหลัง

โรคพยาธิใบไม้เลือดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในโรคพยาธิใบไม้เลือด กรณีที่ได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกของโรค ทั้งโรคในระยะเฉียบพลัน และในระยะเรื้อรังที่อวัยวะต่างๆยังไม่ถูกทำลายจนกลายเป็นพังผืดเรื้อรัง โรคจะสามารถรักษา ควบคุมให้หายได้

แต่ถ้ามาพบแพทย์ช้าจนอาการรุนแรง และ/หรืออวัยวะต่างๆถูกทำลายเสียหายจนกลายเป็นพังผืดไปหมดแล้ว โรคนี้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

อนึ่ง โรคนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำได้เสมอ เมื่อมีการติดเชื้อพยาธินี้ซ้ำใหม่อีก

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อทราบว่ามีการติดพยาธิใบไม้เลือด คือ

  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • ปฏิบัติ ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • มาพบแพทย์/ มาโรงพยาบาล และมารับการตรวจต่างๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจอุจจาระ ตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น มีไข้สูง ปัสสาวะเป็นเลือด
  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ท้องเสียมากขึ้น ปัสสาวะเป็นเลือดรุนแรงขึ้น
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน รุนแรง
  • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคพยาธิใบไม้เลือดอย่างไร?

สามารถป้องกันโรคพยาธิใบไม้เลือดได้ดังนี้ เช่น

  • เมื่ออยู่อาศัยในถิ่นของพยาธินี้ ควรพบแพทย์ เพื่อการตรวจอุจจาระ, การตรวจปัสสาวะ, และเพื่อกินยาป้องกันโรคนี้ ตามแพทย์สั่ง
  • เมื่อกลับจากการท่องเที่ยว และ/หรือ สัมผัสกับแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ ในประเทศกำลังพัฒนา/ประเทศที่เป็นแหล่งโรคนี้ ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อการกินยารักษา/ป้องกันโรคนี้
  • เมื่อไปท่องเที่ยวในประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่ควรสัมผัสกับแหล่งน้ำจืด โดยเฉพาะที่มีน้ำนิ่ง
  • เมื่อจำเป็นต้องสัมผัสกับแหล่งน้ำจืด ควรต้องสวมใส่เครื่องป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสน้ำนั้นโดยตรง
  • ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการกินยาป้องกัน กรณีต้องเข้าไปอยู่ในถิ่นของโรคนี้
  • ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมีสุขอนามัยในการขับถ่าย ต้องรู้จักการใช้ส้วม และมีส้วมที่ถูกหลักอนามัย ไม่ปล่อยปฏิกูลจากส้วมลงแหล่งน้ำ

บรรณานุกรม

  1. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/schistosoma-pathogen-safety-data-sheet.html[2019,May4]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Schistosomiasis[2019,May4]
  3. https://www.cdc.gov/parasites/schistosomiasis/[2019,May4]
  4. https://msu.edu/course/zol/316/ssppscope.htm [2019,May4]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/228392-overview#showall[2019,May4]