ท้อง พุง (Abdomen) ช่องท้อง (Abdominal cavity)

ท้อง หรือบางคนเรียกว่า ช่องท้อง ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ ส่วนของร่างกายด้านหน้าตั้งแต่ลิ้นปี่จนถึงบริเวณ ต้นขา มีสะดืออยู่ตรงกลาง มีกระเพาะและไส้อยู่ภายใน, สวนคำว่า “พุง” หมายถึง ท้อง

ทางการแพทย์ ท้อง หรือ ช่องท้อง คือ ช่องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย อยู่ด้านหน้าของลำตัว เริ่มส่วนบนตั้งแต่ ลิ้นปี่ และกะบังลม ลงไปจนต่อกับส่วนบนของ อุ้งเชิงกราน /ท้องน้อย, ด้านหน้าสุดคือ ผนังหน้าท้องซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ปกคลุมภายนอกสุดด้วยผิวหนัง, ด้านหลังสุด เป็นกล้ามเนื้อหลัง กระดูกสันหลัง ที่ปกคลุมด้วยผิวหนังเช่นกัน

ช่องท้อง ทั่วไปแบ่งเป็น 2 ช่อง คือ ช่องด้านหน้า ที่ห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อที่เรียกว่า เยื่อบุช่องท้องที่ทำหน้าที่เป็นถุงขนาดใหญ่เพื่อช่วยพยุงอวัยวะต่างๆภายในช่องท้อง เรียกช่องนี้ว่า ‘ช่องเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneal cavity),’ และช่องที่อยู่ด้านหลังโดยอยู่นอกเยื่อบุช่องท้อง เรียกว่า ‘โพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง(Retroperitoneal space)

  • อวัยวะที่อยู่ใน ’ช่องเยื่อบุช่องท้อง’ ได้แก่ ตับ ม้าม ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่
  • อวัยวะที่อยู่ใน ’โพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง’ คือ ไต ท่อไต ต่อมหมวกไต ลำไส้เล็กส่วนบน (ดูโอดีนัม) ตับอ่อน หลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ และต่อมน้ำเหลืองรอบๆหลอดเลือดดังกล่าว

ทั้งนี้ ช่องทั้ง 2 นี้ มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อเกิดโรค โรคจะมีอาการและการลุกลามที่ต่างกัน

  • ถ้าเกิดโรคในอวัยวะที่อยู่ในช่องด้านหน้า/’ช่องเยื่อบุช่องท้อง’ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง และโรคจะลุกลามอยู่ในช่องท้องด้านหน้า/ช่องเยื่อบุช่องท้อง เป็นหลัก และถ้ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้น แพทย์มักคลำได้ก้อนชัดเจน
  • แต่ถ้าเกิดโรคกับอวัยวะในช่องด้านหลัง/‘โพรงหลังเยื่อบุช่องท้อง/ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลัง และโรคมักลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรอบๆหลอดเลือดดังกล่าว เป็นต้น และเมื่อเกิดมีก้อนเนื้อ แพทย์มักคลำได้ก้อนไม่ค่อยชัดเจน

โดยทั่วไป เพื่อสะดวกในการวินิจฉัยโรค แพทย์มักแบ่งช่องท้องเป็น 7 ส่วน คือ

  • เมื่อใช้สะดือเป็นจุดศูนย์กลาง จะแบ่งช่องท้องเป็น 2ส่วน คือ
    • ช่องท้องส่วนบน(ส่วนอยู่เหนือสะดือ) และ
    • ช่องท้องส่วนล่าง (ส่วนอยู่ต่ำกว่าสะดือ),
  • ซึ่งเมื่อร่วมกับการแบ่งช่องท้องตามยาว จากเส้นสมมุติกลางลำตัว ที่จะแบ่งช่องท้องเป็นซีกซ้าย และซีกขวา ที่สมมาตรกัน, ดังนั้น ช่องท้องจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ

1. ส่วนด้านซ้ายตอนบน

2. ส่วนด้านซ้ายตอนล่าง

3. ส่วนด้านขวาตอนบน และ

4. ส่วนด้านขวาตอนล่าง

  • และเพิ่มอีก 3 ส่วน คือ

5. ช่องท้องส่วนหรือบริเวณที่อยู่ใต้ลิ้นปี่ หรือ ยอดอก (Epigastrium)

6. บริเวณรอบสะดือ และ

7. บริเวณเหนือกระดูกหัวหน่าว (กระดูกตรงกลางด้านหน้า และอยู่ล่างสุดของช่องท้อง)

ซึ่งเมื่อมีอาการปวดท้องในตำแหน่งเหล่านี้ มักเป็นตัวชี้นำว่า น่ามีโรคของอวัยวะต่างๆที่อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น

  • เมื่อปวดท้องด้านซ้ายตอนบน อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้ คือ กระเพาะอาหาร ม้าม ลำไส้ ตับอ่อน และไตซ้าย โรคที่เป็นสาเหตุจึงอาจ เกิดจากกระเพาะอาหาร, ม้าม, ลำไส้ส่วนที่อยู่ในด้านซ้ายตอนบน, ตับอ่อน, และไตซ้าย
  • เมื่อปวดท้องด้านซ้ายตอนล่าง อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้ คือ ลำไส้ และในผู้หญิง จะมี ปีกมดลูกซ้าย หรือ ท่อนำไข่ซ้าย และรังไข่ซ้าย โรคที่เป็นสาเหตุ จึงอาจเกิดจากโรคของลำไส้ในส่วนด้านซ้ายตอนล่าง ปีกมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ซ้าย
  • เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนบน โรคอาจเกิดจาก ตับ ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี ลำไส้ส่วนที่อยู่ในช่องท้องด้านขวาตอนบน และไตขวา ซึ่งเป็นอวัยวะในช่องท้องส่วนนี้
  • เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนล่าง โรคอาจเกิดจาก ไส้ติ่ง ลำไส้ส่วนด้านขวาตอนล่าง ปีกมดลูก ท่อนำไข่ หรือ รังไข่ ด้านขวา ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้
  • เมื่อปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเกิดจากโรคกระเพาะอาหารที่เป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้
  • เมื่อปวดรอบๆสะดือ มักเกิดจากโรคของไส้ติ่ง เพราะโรคของไส้ติ่ง อาจก่อให้เกิดอาการปวดร้าวมารอบๆสะดือได้
  • เมื่อปวดบริเวณเหนือหัวหน่าว มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ หรือ ของมดลูก ทั้งนี้ อวัยวะในบริเวณหัวหน่าว มักเป็นอวัยวะในอุ้งเชิงกราน/ ท้องน้อย (ไม่ใช่ในช่องท้อง) ได้แก่ มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ตรง และทวารหนัก

โรคของอวัยวะต่างๆในช่องท้องเกิดได้เช่นเดียวกับในอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่น จากการอักเสบติดเชื้อ, จากอุบัติเหตุ, และจากโรคมะเร็ง

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Abdomen [2021,Fe6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Peritoneal_cavity [2021,Fe6]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Retroperitoneal_space [2021,Fe6]