ช่องคลอดมีกลิ่น อวัยวะเพศ (หญิง) มีกลิ่น (Vulvovaginal odor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ช่องคลอด หรือ อวัยวะเพศหญิงมีกลิ่น (Vulvovaginal odor) เป็น อาการหรือภาวะ ไม่ ใช่โรค โดยเป็นอาการ/ภาวะที่บริเวณอวัยวะเพศ และ/หรือบริเวณช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น

โดยทั่วไป ทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย ในบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่อเมือก (Mucosa เนื้อ เยื่อบุภายในอวัยวะต่างๆ) จะมีการสร้างสารคัดหลั่ง/น้ำเมือกเพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นต่อเนื้อเยื่อเมือกเหล่านี้ ซึ่งน้ำเมือกนี้ มักมีกลิ่นคาวเล็กน้อย ทั้งนี้รวมทั้งเยื่อเมือกของอวัยวะเพศและของช่องคลอด ดังนั้นในบริเวณนี้ของผู้หญิงทุกคน และทุกวัย จึงมีกลิ่นคาวอ่อนๆเป็นปกติเสมอ ซึ่งกลิ่นคาวนี้อาจแรงขึ้นบ้างในช่วงใกล้มี ประจำเดือนจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่ก่อให้เกิดการมีประจำเดือน โดยอาจเกิดร่วมกับการมีตกขาว สีขาวเหมือนแป้งเปียก หรือขาวใสเล็กน้อยพอติดกางเกงในได้ ซึ่งทั้งหมดจัดเป็นภาวะปกติ

แต่ถ้ามีกลิ่นจากอวัยวะเพศ และ/หรือช่องคลอดรุนแรงมากกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับ ตกขาวปริมาณมาก มีสีและลักษณะที่ผิดปกติ (เช่น เหลือง หรือเป็นมูก มูกปนเลือด หรือ เป็นเลือด) มีผื่นในบริเวณอวัยวะเพศ คัน แสบผิวหนังส่วนอวัยวะเพศ/ช่องคลอด เกิดการเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และ/หรือ ปวด/เจ็บ แสบเมื่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะขุ่น ถือว่า เป็นอาการผิดปกติ ที่ควรต้องพบแพทย์/สูตินรีแพทย์

อาการอวัยวะเพศ/ช่องคลอดมีกลิ่น เป็นอาการพบได้บ่อย มีการศึกษาพบว่า ประมาณ 1ใน 3 ของผู้หญิง ต้องเคยมีอาการนี้ อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต เป็นอาการพบได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้บ่อยในช่วงวัยมีประจำเดือน หรือวัยเจริญพันธุ์

ช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่นเกิดจากสาเหตุอะไร?

ช่องคลอดมีกลิ่น

กลิ่นผิดปกติของช่องคลอดเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย ได้แก่

ก. มีความผิดปกติของสมดุลของแบคทีเรียประจำถิ่นของช่องคลอด: โดยในภาวะปกติทั่วไป ช่องคลอดจะมีแบคทีเรียชนิดไม่ก่อโรคมากมายหลายชนิด ซึ่งอยู่กันอย่างมีสมดุล (แบคทีเรียประจำถิ่น) ภายใต้ความเป็นกรดอ่อนๆของช่องคลอด โดยจะมีจำนวนแบคทีเรียในกลุ่มของแบคทีเรีย Lactobacilli เป็นตัวหลักในการควบคุมสมดุลนี้ แต่ถ้ามีภาวะผิดปกติที่ส่งผลให้ปริมาณ Lactobacilli ลดลง จะส่งผลให้แบคทีเรียชนิดอื่นๆเจริญเติบโตเพิ่มมากกว่าปกติ ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้มักสร้างกลิ่น ที่ก่อให้เกิดภาวะช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่น และบ่อยครั้งจะเกิดร่วมกับการมีตกขาว ที่มีสีขาวเทาเล็กน้อย โดยการเกิดกลิ่นและตกขาวมักรุนแรงขึ้นหลังมีเพศ สัมพันธ์ ทั้งนี้ไม่จัดเป็นการติดเชื้อ เพราะไม่มีลักษณะของการอักเสบของช่องคลอด โดยเรียกภาวะขาดสมดุลของแบคทีเรียของช่องคลอดนี้ว่า “Bacterial Vaginosis”

ปัจจัยเสี่ยงต่อการที่ทำให้ปริมาณ/จำนวน แบคทีเรียกลุ่ม Lactobacilli ลดลงจนเกิด ภาวะ Bacterial vaginosis ได้แก่

  • การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ หรือกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะยาจะไปฆ่าทำลาย แบค ทีเรีย Lactobacilli
  • การสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้ช่องคลอดมีภาวะเป็นด่าง จำนวนแบคทีเรีย ที่สร้างกลิ่นจึงสูงขึ้น ในขณะที่ แบคทีเรีย Lactobacilli มีจำนวนลดลง
  • การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะกับคู่นอนหลายคน หรือเมื่อเปลี่ยนคู่นอนเป็นคนใหม่ (แพทย์ยังอธิบายเหตุผลไม่ได้ว่า ทำไม)
  • การตั้งครรภ์ เพราะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งส่งผลถึงการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิดในช่องคลอด
  • ภาวะ/วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเช่นกัน

ข. จากการติดเชื้อ: โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะเพศและของช่องคลอดซึ่งมีการบาดเจ็บและการตายของเซลล์ จึงก่อให้เกิดกลิ่นได้ โดยเฉพาะ การติดเชื้อราในช่องคลอด หนองในเทียม การติดเชื้อทริโคโมแนส (พยาธิช่องคลอด) การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน และการติดเชื้อในโพรงมดลูกจากการใส่ห่วงคุมกำเนิด

ค.รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศไม่ดีพอ: เช่น กางเกงใน หรือขนอวัยวะเพศ มีการหมักหมมของสารคัดหลั่ง และ/หรือของคราบประจำเดือน หรือกลิ่นช่วงมีประจำเดือนจากการไม่เปลี่ยนผ้าอนามัย และบางครั้งเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอด อาจลืมผ้าอนามัยไว้ในช่องคลอด

ง.จากการกินอาหารบางประเภทที่ให้กลิ่นปนมาในปัสสาวะ และปัสสาวะติดกางเกงใน หรือทำให้อุจจาระมีกลิ่นรุนแรงจึงติดมาถึงบริเวณอวัยวะเพศ: เช่น อาหารทะเลบางชนิด หัวหอม /ต้นหอม เครื่องเทศบางชนิด เป็นต้น

จ. ภาวะอับชื้นจากเหงื่อออกมากทั่วตัว หรือออกบริเวณอวัยวะเพศ: เช่น โรคอ้วน ใส่เสื้อผ้า กางเกงในรัดรูปมาก หรือเป็นวัสดุที่ระบายความร้อนได้ไม่ดี

ฉ. จากโรคมะเร็งของอวัยวะเพศ: เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือโรคมะเร็งอวัยวะเพศหญิง

ช. ที่พบได้บ้างประปราย: คือ มีการอักเสบเรื้อรังของทวารหนัก จนก่อให้ทวารหนักทะลุเข้าช่องคลอด/Rectovaginal fistula (ช่องคลอดอยู่ติดกับด้านหน้าของทวารหนัก) อุจจาระจึงออกมาทางช่องคลอดก่อให้เกิดกลิ่นได้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่น?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่น คือ

  • ชอบสวนล้างช่องคลอด
  • ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ หรือรักษาความสะอาดผิดวิธี โดยการทำ ลายสมดุลของแบคทีเรียประจำถิ่นของช่องคลอด เช่น การสวนล้างช่องคลอด การล้างอวัยวะเพศด้วยสบู่ที่รุนแรง
  • กินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
  • อ้วน
  • คนท้อง/การตั้งครรภ์
  • ชอบสวมเสื้อผ้ารัดรูป
  • โรคมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น

ช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่น มีอาการอื่นร่วมด้วยไหม?

ช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่น มักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ คือ

  • ตกขาวผิดปกติ เช่น ปริมาณมาก สีเหลือง ขาวขุ่น หรือเป็นแผ่นเหมือนฝ้านม หรือเป็นมูก หรือ เป็นเลือด
  • อาการคัน อวัยวะเพศ ปากช่องคลอด และ/หรือ คันทวารหนัก
  • ผื่นคันบริเวณอวัยวะเพศ
  • อาจแสบ ร้อน เจ็บ อวัยวะเพศ
  • เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ปวด/เจ็บ แสบเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น และ/หรือปัสสาวะเป็นเลือด

 

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่นอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่นได้จาก ประวัติอาการ ประวัติเพศสัมพันธ์ วิธีดูแลอวัยวะเพศ/ช่องคลอดของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาปฏิชีวนะ ประวัติประจำเดือน และ วิธีการคุมกำเนิดต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน อาจมีการตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่ง และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์

 

รักษาช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่นอย่างไร?

การรักษาภาวะช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่น คือ การรักษาสาเหตุและการรักษาประคับ ประคองตามอาการ

  • การรักษาตามสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันตามสาเหตุ เช่น เลิกการสวนล้างช่องคลอด ร่วม กับกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อกลิ่น (ยา Metronidazole) เมื่อโรคเกิดจากการขาดสมดุลของแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอด การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่ออาการมีสาเหตุจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้คันเมื่อมีอาการคัน และการปรับพฤติ กรรมต่างๆ เช่น เลิกการสวนล้างช่องคลอด รักษาความสะอาดกางเกงใน เปลี่ยนกางเกงในบ่อย ๆ เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำพออุ่นเป็นหลักร่วมกับใช้สบู่ที่อ่อน โยนมากๆ เช่น สบู่เด็กอ่อนที่ไม่ใส่น้ำหอม เป็นต้น

 

ช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่นรักษาหายไหม?

โดยทั่วไป เมื่อสามารถรักษา ควบคุม สาเหตุของการเกิดกลิ่นได้ กลิ่นก็จะหายไป แต่ก็จะย้อนกลับมาเกิดได้อึก ถ้ากลับมามีโรคที่เป็นสาเหตุอีก เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อควบคุมรักษาโรคไม่ได้ เช่น ในโรคมะเร็ง เป็นต้น

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่น โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับการมีอาการอื่นๆดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการร่วมอื่นๆ ควรพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เสมอ เพื่อหาสา เหตุเพื่อการรักษาที่เหมาะสม

เมื่อทราบสาเหตุของการเกิดกลิ่นแล้ว การดูแลตนเอง และการพบแพทย์ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • งด/เลิกสวนล้างช่องคลอด ยกเว้นเป็นการแนะนำจากแพทย์
  • รักษาความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำพออุ่น ร่วมกับสบู่ที่อ่อนโยน (ใช้สบู่แต่ภายนอก เพราะภายในช่องคลอด ร่างกายมีกลไกทำความสะอาดได้เอง) ตลอดไป
  • รักษาความสะอาดกางเกงใน สวมใส่กางเกงในที่ทำจากผ้าที่ระบายอากาศได้ดี (ผ้าฝ้าย 100%) และไม่รัดตึงมาก
  • เมื่อมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ลดโอกาสการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่กินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ควรเป็นการแนะนำจากแพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกร เท่านั้น
  • แพทย์บางท่านแนะนำการกินนมเปรี้ยว และ/หรือโยเกิร์ตที่มีแบคทีเรีย ชนิดที่มีแบคทีเรีย Lactobacilli เป็นการเสริมอาหาร
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ อาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดไปจากเดิม หรือเมื่อกัง วลในอาการ

 

ป้องกันช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่นอย่างไร?

การป้องกันช่องคลอด/อวัยวะเพศมีกลิ่น จะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • งด/เลิกไม่สวนล้างช่องคลอด ยกเว้นเป็นการแนะนำจากแพทย์
  • รักษาความสะอาดอวัยวะเพศดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง

บรรณานุกรม

  1. http://www.cdc.gov/std/bv/stdfact-bacterial-vaginosis.htm [2017,Jan7]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Vaginitis [2017,Jan7]
  3. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000897.html [2017,Jan7]
  4. http://emedicine.medscape.com/article/2188931-overview#showall [2017,Jan7]
Updated 2017,Jan7