ขี้เทา (Meconium)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 กันยายน 2556
- Tweet
ขี้เทา ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง ขี้ที่ค้างอยู่ในลำไส้เด็กที่คลอดใหม่
ทางการแพทย์ “ขี้เทา” คือ อุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้ของทารกแรกเกิด โดยขี้เทาจะเป็นสิ่งต่างๆที่ทารกกลืนเข้าไปในช่วงอยู่ในท้องแม่ ขี้เทาประกอบด้วย เซลล์ผนังลำไส้ที่ตายแล้ว เมือกต่างๆ เศษผมและขนของทารกเอง น้ำคร่ำ น้ำดี น้ำ และมีแบคทีเรียบางชนิดอาศัยอยู่
ขี้เทา มีลักษณะ ไม่เหมือนอุจจาระทั่วไป โดยจะมีลักษณะ เหนียว เปียก เหมือนน้ำมันดิน (Tar) ไม่มีกลิ่น มีสีจากสีของน้ำดี จึงออกสีเขียว น้ำตาล และร่างกายทารกจะขับออกจากลำไส้หมดภายใน 2-3 วันหลังคลอด ต่อจากนั้นอุจจาระทารกจะเป็นจากส่วนประกอบของนม จะมีสีเหลือง และลักษณะเป็นอุจจาระทั่วไป
โดยปกติ ช่วงอยู่ในครรภ์ ทารกจะไม่ขับถ่ายขี้เทาออกมา น้ำคร่ำปกติจึงไม่มีขี้เทา ยก เว้นในภาวะทารกขาดออกซิเจน ดังนั้น ในขณะเจ็บท้องคลอดที่ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว การตรวจพบขี้เทาในน้ำคร่ำ แพทย์จะใช้เป็นตัวช่วยวินิจฉัยภาวะขาดออกซิเจนของทารกที่แพทย์จำเป็นต้องช่วยเร่งการคลอด อาจโดยการผ่าคลอด เป็นต้น นอกจากนั้น แพทย์ยังใช้การตรวจขี้เทาทางห้องปฏิบัติการ เพื่อบอกว่า ในขณะอยู่ในครรภ์ ทารกได้รับยา หรือสารพิษอะไรบ้าง ซึ่งช่วยวินิจ ฉัยหาสาเหตุของโรคต่างๆของทารกหลังคลอดได้เช่นกัน
บรรณานุกรม
- Meconium http://www.princeton.edu/~achaney/tmve/wiki100k/docs/Meconium.html [2013,Sept 10].