คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: ยาเหลือเอาไปคืนโรงพยาบาลได้หรือเปล่า

talksomsak-38


      

      การรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยยานั้น บางครั้งเราเป็นโรคที่ต้องทานยาต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แพทย์ก็มักจะให้ยาเรามาทานต่อเนื่องหลายเดือน แต่โชคไม่ดี พอทานยาที่ได้มาเพียงแค่ไม่กี่วัน เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลแทรกซ้อนจากยารุนแรง ไม่สามารถทานยาดังกล่าวต่อได้ ยาจึงเหลือเป็นจำนวนมาก จึงเกิดคำถามว่าเราจะนำไปคืนโรงพยาบาลได้หรือไม่

      ก่อนอื่นต้องบอกว่าความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย การใช้ยาอย่างปลอดภัย จึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก การที่เราจะนำยาไปคืนให้โรงพยาบาลนั้น มี 2 ประเด็น คือ โรงพยาบาลต้องควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยด้านการใช้ยา และด้านค่ารักษาพยาบาล

      ด้านมาตรฐานความปลอดภัยการใช้ยา เราลองนึกดูว่ายาที่เราได้มานั้น เราเก็บที่ไหน ถูกแดดหรือเปล่า อุณหภูมิที่มาตรฐานการเก็บยาต้องเก็บไว้ที่ไหน ใครจะรับรองได้ว่าที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้ไปนั้น จะเก็บอย่างดี ไม่ชื้น ไม่เสริมคุณภาพ โดยเฉพาะยาฉีดอินซูลินรักษาโรคเบาหวานนั้น ต้องเก็บอย่างดี ดังนั้นการรับคืนยาเป็นเรื่องที่หน่วยงานด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล แนะนำว่าไม่ควรรับยาคืน

      ด้านค่ารักษาพยาบาล ปัจจุบันนั้นสิทธิ์รักษาพยาบาล 3 สิทธิ์การรักษานั้น ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเลย การนำยามาคืน ก็ไม่มีระบบที่จะคิดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร การเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็เรียกเก็บไปยังหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว ถ้ามีการนำยามาคืน ก็จะวุ่นวายในการคิดมูลค่าค่ารักษาพยาบาล แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน ที่ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง กรณีนี้ก็จะขึ้นกับระบบของโรงพยาบาลเอกชน ว่าจะรับคืนยา โดยต้องเน้นเรื่องชนิดของยาที่มีโอกาสการเสื่อมคุณภาพได้ยากมากๆ และอยู่ในสภาพดี ไม่มีร่องรอยที่จะเสื่อมคุณภาพ

      แล้วเราจะนำยาที่เหลือไปทำอะไรดี ผมเองเสนอว่าถ้าเราเก็บยาอย่างถูกวิธี และไม่หมดอายุ เราก็น่าจะนำยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้านทั่วๆ ไป ไปบริจาคให้สถานพยาบาล เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียน วัด เป็นต้น แต่ถ้าเป็นยาเฉพาะโรคที่เป็นโรครุนแรง ไม่ควรนำไปให้ใครใช้ครับ