คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: ตรวจเพิ่มเติมเพื่ออะไร

talksomsak-32


      

      การตรวจเพิ่มเติม คืออะไร ผมเชื่อว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่คงต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมมาเกือบทุกคน การวินิจฉัยโรคของแพทย์จะอาศัยข้อมูลการเจ็บป่วย โดยการสอบถามประวัติการเจ็บป่วยจากผู้ป่วยและญาติ หรือผู้เห็นเหตุการณ์ในการใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าสาเหตุการเจ็บป่วยนั้นคืออะไร ต่อมาคือการตรวจร่างกาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติม ประมาณร้อยละ 70 การใช้ข้อมูลเพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะบอกว่าเป็นโรคอะไร จะให้การรักษาอย่างไร แต่จะมีผู้ป่วยบางส่วนที่ต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติม จากการตรวจเพิ่มเติม (investigation) เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์เป็นต้น เราลองมาทำความรู้จักกับการตรวจเพิ่มเติมที่ทำกันบ่อยๆ จะได้เข้าใจดีขึ้นครับ

      1. การตรวจเลือด เป็นการตรวจที่พบบ่อย ใช้บ่อยที่สุด การตรวจเลือดนั้นจะบอกอะไรกับเราได้มากมาย ได้แก่

1.1 บอกสาเหตุของการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน ไขมันสูง ธัยรอยด์เป็นพิษ ติดเชื้อในกระแสโลหิต ภูมิคุมกันบกพร่อง เป็นต้น

1.2 บอกความรุนแรงของอาการผิดปกติ เช่น ระดับน้ำตาลสูงมากน้อยเพียงใด ไขมันสูงมากน้อยแค่ไหน การอักเสบของเลือดรุนแรงเพียงใด

1.3 บอกว่าผลการรักษาดีขึ้นหรือไม่ เช่น ระดับน้ำตาลหลังทานยาลดลงสู่ค่าปกติหรือยัง โปรตีนในปัสสาวะลดลงหรือไม่ ค่าธัยรอยด์เข้าสู่ภาวะปกติหรือยัง

1.4 ติดตามการรักษาโรคมะเร็งได้ เช่น ค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก ค่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ ค่ามะเร็งตับ เป็นต้น

      2. การตรวจปัสสาวะ ก็มีการตรวจแบบเก็บครั้งเดียว กับการเก็บ 24 ชั่วโมง นอกจากจะเป็นตรวจว่ามีความผิดปกติอะไรในปัสสาวะ มีการติดเชื้อหรือไม่ มีไข่ขาวรั่วออกมามากน้อยแค่ไหน ยังสามารถบอกสาเหตุของโรคได้ด้วย เช่น มีสารทองแดงในปัสสาวะมากน้อยแค่ไหน โปรตีนรั่วออกมามากเกินค่าปกติหรือไม่ รวมทั้งการตรวจสารพิษต่างๆ

      3. การตรวจทางรังสี การตรวจกลุ่มนี้มีมากมายจริงๆ ในสมัยนี้ จะสามารถบอกรายละเอียดในการดูอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดีมากขึ้น เรียกว่าชัดเหมือนดูด้วยตาจริงๆ เลยก็ว่าได้ ได้แก่

3.1 การตรวจเอกซเรย์ปกติ (plain film) เช่น เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์กระดูก เป็นต้น

3.2 การตรวจอัลตราซาวด์ เช่น อัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมด

3.3 การตรวจด้วยสารทึบแสง เช่น การกลืนแป้งตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน การสวนแป้งลำไส้ใหญ่ ตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

3.4 การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เช่น สมอง ช่องท้อง ปอด เป็นต้น

3.5 การตรวจเอ็มอาร์ไอ เช่น สมอง ไขสันหลัง ข้อต่อ เป็นต้น

3.6 การตรวจด้วยสารกัมมันตภาพรังสี เช่น การตรวจ PET scan การตรวจต่อมธัยรอยด์ การตรวจกระดูก

3.7 การตรวจหลอดเลือดด้วยการฉีดสีหรือสารทึบแสง

      4. การตรวจระบบหัวใจหลอดเลือด เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (echocardiogram) การวิ่งสายพาน การสวนและฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

      5. การตรวจด้วยการตัดชิ้นเนื้อออกไปตรวจทางพยาธิวิทยา

      6. การตรวจทางระบบประสาท เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจการนำกระแสไฟฟ้าเส้นประสาท เป็นต้น

      7. การตรวจอุจจาระ มักเป็นการตรวจหาพยาธิ หาว่ามีเลือดออกมาทางอุจจาระหรือไม่ และการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร

      8. การตรวจน้ำลาย เพื่อดูสารพิษ ระดับยา เป็นต้น แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม

      9. การตรวจเนื้อเยื่อในกระพุ้งแก้ม เป้นการตรวจหาทางพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่

      10. การตรวจเส้นผม เพื่อหาสารพิษ

      11. การตรวจเล็บ เพื่อหาสารพิษ

      การตรวจเพิ่มเติมแต่ละอย่างนั้น แพทย์จะเลือกส่งตรวจ ก็ขึ้นกับโรคหรือภาวะนั้นๆ มีความจำเป็นต้องส่งตรวจอะไรจึงจะได้คำตอบที่ดี การตรวจบางอย่างไม่เจ็บปวด การตรวจบางอย่างเจ็บ มีความเสี่ยง แต่การตรวจทุกอย่างต้องมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นการที่แพทย์จะเลือกส่งตรวจอะไรนั้น ต้องใช้ดุลยพินิจที่ดีและรอบครอบ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ