คุยกับหมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ตอน: ยาที่ได้มานั้น ต้องทานให้หมดเลยหรือไม่

talksomsak-16


      คำถามนี้เป็นสิ่งที่ผมพบบ่อยๆ มากอีกคำถามหนึ่งเวลาสั่งยาให้ผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่ายาที่ได้มานั้น ทานเพียงแค่อาการหายก็ให้หยุด แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็รู้มาว่าต้องทานยาที่แพทย์ให้มานั้นให้หมด มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาได้ ดังนั้นจะเห็นว่ามีผู้ป่วยทั้ง 2 แบบ และในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็มีคำตอบทั้ง 2 แบบครับ ลองติดตามดูครับว่าเราควรทำอย่างไร ในกรณีแบบไหนบ้าง

1. โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพาตหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยต้องทานยาที่รักษาอย่างต่อเนื่องระยะยาว หรือตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์ก็จะมีการปรับยาเป็นระยะ ถ้าผลการรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กรณีแบบนี้ก็ต้องทานยาให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะมีอาการของโรคนั้นๆ หรือไม่ ยกเว้นมีภาวะแทรกซ้อน แพ้ยาก็ต้องหยุดยาแล้วมาพบแพทย์ เพื่อทำการปรับเปลี่ยนแผนการรักษาใหม่

2. โรคที่ต้องรักษาครบระยะเวลา เช่น โรคติดเชื้อต้องทานยาให้ครบตามที่กำหนด โรคกระเพาะเป็นแผล โรคปวดศีรษะไมเกรนชนิดรุนแรง เป็นบ่อยๆ กรณีเหล่านี้ แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยทานยาให้ครบตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็น ดังนั้นก็ต้องทานยาให้หมดตามที่แพทย์ให้มา ยกเว้นแพ้ยา มีผลแทรกซ้อนจากยา ก็หยุดยาและมาแจ้งแพทย์เพื่อให้การปรับการรักษาใหม่

3. โรคหรืออาการผิดปกติ ที่เป็นเพียงความผิดปกติชั่วคราว เป็นๆ หายๆ เช่น ปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะนานๆ ครั้ง มีไข้จากเชื้อไวรัส ไข้หวัด น้ำมูก กรณีแบบนี้การรักษาก็ทานยาเฉพาะช่วงที่มีอาการเท่านั้น พออาการหายไปก็หยุดยาได้

      ทางที่ดีถ้าเราได้ยามาจากการพบแพทย์ ถ้าไม่มั่นใจว่าทานยาแบบไหน ทานยานานเท่าไหร่ก็ควรสอบถามจากแพทย์ หรือเภสัชกรให้แน่ใจ อย่าคิดเอง อย่าสอบถามจากเพื่อน หรือหาข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้ให้คำตอบโดยแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ ยาที่เหลือกรณีทานเฉพาะช่วงที่มีอาการเท่านั้น ก็ต้องเก็บให้ดี อย่าให้มีความชื้น อย่าถูกแดด เพราะเราสามารถนำมาใช้ได้อีก กรณีที่มีอาการแบบเดิมและไม่รุนแรง เป็นการทำให้เราดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดี ไม่ต้องเสียเวลาไปพบแพทย์อีก อาการก็ดีขึ้นเร็วด้วย