คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน ใบรีเฟอร์ (เอกสารส่งตัว)

somsaktalk-31


      

      การส่งต่อผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม หรือการรักษาที่ต่อเนื่องนั้นเป็นสิ่งที่แพทย์ทำกันเป็นประจำ กรณีผู้ป่วยย้ายสถานที่อยู่อาศัย การรักษาที่จำเป็นต้องส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้น หรือการส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เนื่องจากอาการผู้ป่วยดีขึ้น หรือเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัว การส่งต่อนั้นแพทย์จะใช้การเขียนประวัติ เริ่มตั้งแต่อาการผิดปกติ การตรวจร่างกายที่พบ ผลการตรวจเพิ่มเติมต่างๆ ที่สำคัญ การวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ได้ให้กับผู้ป่วย ผลการตอบสนองต่อการรักษา ยาที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งประวัติการเจ็บป่วย การรักษาในอดีตที่ผ่านมา ประวัติการแพ้ยา ซึ่งต้องบอกว่าการเขียนใบส่งต่อ หรือจดหมายส่งตัวนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะในเอกสารนั้นจะประกอบด้วยข้อมูลด้านการเจ็บป่วยทั้งหมด (แบบที่สรุปมาแล้ว ไม่ใช่การถ่ายเอกสารหรือถ่ายภาพเอกสารนั้นๆมา) อีกส่วนหนึ่งของเอกสาร คือ การส่งต่อด้านสิทธิ์การรักษา สิ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการส่งต่อ มีหลายประการ เพราะผมพบว่ามีการเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้อง ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัว และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการส่งต่อ ดังนี้

      1. สำหรับผู้ป่วย/ญาติ ถ้าแพทย์เขียนใบส่งต่อเพื่อรับการรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า เช่น จากโรงพยาบาลชุมชนไปยังโรงพยาบาลจังหวัด เพื่อให้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมนั้น ถ้าเป็นสิทธิ์การรักษาบัตรทอง ประกันสังคม ต้องนำเอกสารที่ได้นั้นไปผ่านหน่วยงานของโรงพยาบาลที่ออกเอกสารนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ลงทะเบียนและออกเอกสารการส่งต่อที่มีผลต่อการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพราะบางครั้งแพทย์ที่สรุปประวัติการรักษาเพื่อให้มารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลจังหวัด อาจไม่ได้แนะนำเรื่องนี้ ต้องอย่าลืม เพราะเอกสารการส่งต่อถ้าไม่ได้รับการลงทะเบียน หรือประทับตราของหน่วยงานนั้นๆ ก็จะไม่มีผลด้านค่ารักษาพยาบาล จะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อ แต่ถ้าเป็นการส่งต่อกลับไปยังสถานพยาบาลที่เป็นต้นสังกัดของการรักษาพยาบาลเราอยู่แล้ว กรณีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องประทับตราหรือลงทะเบียนเพิ่มเติม

      2. สำหรับผู้ป่วย/ญาติเมื่อมาถึงโรงพยาบาลปลายทาง ต้องไปเริ่มต้นที่แผนกรับส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ด้านหน้าโรงพยาบาลใกล้ๆ กับแผนกเวชระเบียนที่รับทำบัตรผู้ป่วยใหม่ ซึ่งผู้ป่วย/ญาติต้องประสานงานต่างๆ ที่หน่วยงานนี้ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มทำการรักษาพยาบาล เพื่อความสะดวกในขั้นตอนต่างๆ ต่อมา แต่ถ้าเป็นกรณีเจ็บป่วยรุนแรง หรือกรณีฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่แผนกฉุกเฉินได้เลย

      3. สำหรับผู้ป่วย/ญาติถ้ามีแผ่นซีดีที่บันทึกภาพเอกซเรย์ ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าต้องนำแผ่นซีดีนั้นไปลงข้อมูลที่แผนกเอกซเรย์ก่อนหรือไม่ในระหว่างรอพบแพทย์ เพราะบางครั้งแผ่นซีดีที่นำมานั้น ไม่สามารถเปิดดูได้ที่ห้องตรวจของแพทย์ เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์มีความแตกต่างกัน หรือไม่สามารถเปิดแผ่นดูได้ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ไม่มีระบบการเปิดแผ่นซีดี

      4. สำหรับผู้ป่วย/ญาติการขอถ่ายเอกสารประวัติการรักษาของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำมาให้แพทย์ที่มาพบใหม่ดูนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการสรุปประวัติของแพทย์ เนื่องจากเอกสารที่ถ่ายเอกสารมานั้นเป็นการบันทึกข้อมูลของพยาบาล แพทย์ที่อาจไม่ได้มีข้อมูลด้านการรักษาที่เพียงพอ และเอกสารที่นำมานั้นก็อาจไม่มีประโยชน์เลยในด้านการรักษาต่อ อยากเน้นว่าเอกสารที่แพทย์ต้องการคือเอกสารที่แพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นผู้สรุปจะดีที่สุด

      5. สำหรับแพทย์ กรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยมารับการรักษาต่อนั้น ควรสรุปข้อมูลให้ชัดเจน ตรงประเด็นทั้งประวัติการเจ็บป่วย ผลการตรวจที่เกี่ยวข้อง และข้อสรุปด้านการวินิจฉัย การรักษาที่ได้ทำมา และประเด็นปัญหาที่ต้องการให้การรักษา หรือตัดสินใจต่อ ควรเขียนให้อ่านได้ง่าย ถ้าพิมพ์ได้ก็จะยิ่งดีที่สุด เพราะปัญหาการอ่านลายมือแพทย์ก็เป็นปัญหาที่พบบ่อย ควรลงชื่อเพื่อให้แพทย์ที่รับรักษาต่อสามารถติดต่อกลับ สอบถามข้อมูลได้สะดวก ถ้าแบบฟอร์มที่มีอยู่เขียนไม่พอ ก็สามารถเขียนหรือพิมพ์เพิ่มในเอกสารได้ เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลด้านการส่งต่อ และอย่าลืมแนะนำให้ผู้ป่วย/ญาตินำเอกสารการส่งต่อนั้นไปลงทะเบียนที่หน่วยการส่งต่อ ถ้าต้องเกี่ยวข้องกับสิทธิ์การรักษาพยาบาล และกรณีไม่เร่งด่วนควรแนะนำผู้ป่วยให้มาตรวจตรงกับวันที่จะพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยก็จะดีมาก มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกเมื่อผู้ป่วยมารับการรักษา

      6. สำหรับแพทย์ กรณีที่ผู้ป่วย/ญาติขอให้แพทย์ส่งต่อ แต่ทางแพทย์เห็นว่าสามารถให้การรักษาได้ ไม่มีความจำเป็นในการส่งต่อนั้น ก็ควรมีการพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน หรือประสานให้ผู้ป่วยพบแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลจังหวัด เพื่อก่อให้เกิดความั่นใจต่อผู้ป่วยและครอบครัวว่าได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้ว

      7. สำหรับแพทย์ การตอบกลับเอกสารการส่งต่อเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของแพทย์ การรักษาที่ต่อเนื่องส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการรักษา

      การส่งต่อมีความสำคัญกับระบบการรักษาอย่างมาก ถ้าทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ แพทย์ผู้ดูแล แพทย์ผู้ร่วมดูแล พยาบาล ทีมสุขภาพต่างๆ ทุกสาขา ผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย และหน่วยงานของโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อให้ความสำคัญ และร่วมมือกันอย่างดี ก็จะก่อให้เกิดผลดีต่อการรักษาผู้ป่วย