คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน การสร้างเครือข่ายการให้บริการ

somsaktalk-24


      

      ในปัจจุบันการที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาให้ได้เป็นไปตามมาตรฐานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้จะมีแนวทางของมาตรฐานการรักษาที่ได้กำหนดไว้ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ก็ตาม แต่อุปสรรคที่สำคัญ คือ ความพร้อมของสถานพยาบาลที่ไม่เท่ากัน ความพร้อมและประสบการณ์ของแพทย์และทีมผู้ดูแล ความพร้อมด้านการเข้าถึงของประชาชน และในบางโรคก็มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่มีช่วงเวลาในการรักษาให้ได้ผลดีนั้นสั้นมากๆ เช่น ทางด่วนโรคอัมพาต (stroke fast track) มีช่วงเวลาที่จำกัด (golden period) เพียง 270 นาที และยิ่งเร็วยิ่งดี ดังนั้นการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการ จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาและรวดเร็ว ได้ผลการรักษาที่ดี

      เครือข่ายการรักษาพยาบาล คือ การสร้างทีมในการรักษาพยาบาลให้ได้มาตรฐานในการรักษาโรค เพื่อให้การเข้าถึงระบบบริการนั้นเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีคุณภาพ ความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด ขั้นตอนการสร้างเครือข่ายที่สำคัญมีดังนี้

1. สำรวจข้อมูลความพร้อมในการให้บริการว่าในพื้นที่ที่จะพัฒนาเครือข่ายนั้นมีความพร้อม ความไม่พร้อมอย่างไร ทั้งในส่วนของบุคลากร ระบบและเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อนำมาวางแผนในการสร้างเครือข่าย

2. เมื่อได้ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าพบผู้บริหารที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน เพื่อขอคำปรึกษาและการสนับสนุนในด้านนโยบาย

3. ลงพื้นที่ไปพบทีมงานของโรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับรู้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จริง และพยายามหาสาเหตุของปัญหา ความไม่พร้อม ความต้องการต่างๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำมาวางแผนในการพัฒนาเครือข่าย

4. เมื่อได้ข้อมูลจากพื้นที่จริง และได้รับนโยบาย การสนับสนุนแล้ว ก็ถึงเวลาเชิญทุกทีมมาร่วมปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความเห็นและลงมือทำตามแนวทางที่เกิดจากการพูดคุยและได้ข้อสรุปมาทำจริง

5. การลงมือทำทันทีเมื่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นและทำอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญ

6. การกระตุ้นให้ทุกทีมเริ่มลงมือทำให้เร็วที่สุด โดยพยายามเริ่มทำถึงแม้จะยังไม่พร้อมอย่างเต็มที่ ให้ลงมือทำและแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

7. มีการประชุมทีมเป็นระยะๆ เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหา เรียนรู้ร่วมกันจากทุกๆ ทีม และมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อการทำงานที่เป็นระบบและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

8. การค่อยๆ ขยายเครือข่ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยให้ทุกทีมกำหนดตนเองว่าเป็นลูกข่ายและแม่ข่ายไปด้วยเสมอ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในแนวกล้างและแนวลึก เพิ่มศักยภาพของทีมและเพิ่มศักยภาพของเครือข่าย

การสร้างเครือข่ายบริการด้านสุขภาพที่ยั่งยืนนั้นผมใช้หลัก ดังนี้

1. สอนให้เขาเป็น

2. อยู่ให้เขาเห็น

3. ทำให้เขาเย็นใจ

      1. สอนให้เขาเป็น: เนื่องจากการเริ่มต้นทำงานด้านการรักษาพยาบาลนั้น องค์ความรู้ด้านวิชาการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึงต้องเริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมด้านการสร้างความรู้ให้ทีมในเครือข่าย เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่จำเป็นนั้นเท่าๆ กันก่อน ชี้ประเด็นที่สำคัญ ข้อผิดพลาดที่อาจพบได้บ่อย ประเด็นอ่อนไหวต่างๆ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

      2. อยู่ให้เขาเห็น: คือ การให้เครือข่ายสามารถติดต่อ ปรึกษาหารือ หรือรับ consult ได้ตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำเครือข่ายเกิดความมั่นใจ และผู้ป่วยก็ได้รับผลดีในการรักษา แม่ข่ายเองก็จะได้เบาแรงในการดูแลผู้ป่วยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลดลงได้ ที่เน้นเรื่องนี้คือ ทีมจะมั่นใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยและเป็นการยืนยันว่าเราทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในระบบการรักษาด้วยเช่นกัน

      3. ทำให้เขาเย็นใจ: คือ การพร้อมในการร่วมมือกันในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าการดูแลผู้ป่วย การให้คำปรึกษา การช่วยเหลือกันเมื่อเกิดปัญหาใดๆ การวางแผนร่วมกัน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน การจัดหางบประมาณสนับสนุนเครือข่าย และพร้อมที่จะรับดูแลผู้ป่วยที่เกิดปัญหาในการดูแล รวมทั้งการดูแลทีมที่ทำงานร่วมกัน ให้มีความรู้สึกว่าเราเป็นพี่เป็นน้องกัน มิใช่หัวหน้ากับลูกน้อง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือระหว่างกันในทุกๆ เรื่อง ได้ตลอดเวลา