คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน ทำไมลูกผมไม่ดีขึ้น

somsaktalk-16


      

      

      “ หมอครับ ลูกผมมารักษากับหมอหลายวันแล้ว ทำไมไม่ดีขึ้นเลย หมอรักษาลูกผมดีหรือเปล่าครับ ผมอยากพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลอื่น ๆ ครับ อาจจะดีขึ้นบ้าง อยู่กับหมอก็ไม่เห็นจะดีขึ้นเลย” ผมได้รับคำถามจากพ่อของผู้ป่วยคนหนึ่งด้วยข้อความข้างต้น เมื่อได้ฟังครั้งแรก ก็รู้สึกเสียใจและตกใจ แต่เมื่อตั้งสติได้ ก็ตอบพ่อผู้ป่วยไปว่า

      “ คุณพ่อครับ ลูกชายของพ่อนั้นเป็นไข้สมองอักเสบ ซึ่งโรคนี้มีผลการรักษาที่ไม่ค่อยสู้จะดี ตอนที่พามาพบผมก็อาการหนักมาก ไม่รู้สึกตัว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หมอก็รีบให้การตรวจรักษาอย่างเต็มความสามารถและรวดเร็วที่สุด เพราะผลการรักษาจะดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นกับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ถูกต้อง ให้ยาได้ถูกต้องและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเราก็ทำการรักษาอย่างเต็มที่แล้วครับ ที่อาการยังไม่ดีขึ้นนั้น ก็เพราะอาการที่รุนแรง และธรรมชาติของโรคครับ แต่ถ้าคุณพ่อยังไม่สบายใจ อยากพาลูกไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ผมก็ไม่ขัดข้องครับ” ดีครับ พ่อของผู้ป่วยพูดกับผมด้วยประโยคสั้นๆ ทำให้ผมเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของพ่อผู้ป่วย สุดท้ายผู้ป่วยก็ถูกย้ายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง

      “สวัสดีครับ ผมหมอสมศักดิ์ครับ เป็นหมอระบบประสาทที่ทางโรงพยาบาลได้ปรึกษาให้ผมมาร่วมดูแลผู้ป่วยครับ “ พอผมได้เห็นหน้าผู้ป่วย หน้าคุณพ่อ ผมก็จำได้ว่าเป็นคนไข้ที่ผมได้ดูแลที่โรงพยาบาล แต่ทางคุณพ่อของผู้ป่วยได้พาออกมารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะไม่สบายใจที่ลูกไม่ดีขึ้นเมื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐบาล

      “สวัสดีครับคุณหมอ เราก็เจอกันอีกแล้ว ผมไม่รู้จริงๆ ครับว่าคุณหมอเป็นหมอรักษาที่โรงพยาบาลนี้ด้วย ถ้าผมรู้แบบนี้ผมก็ไม่พาลูกมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายหรอกครับ และก็ต้องขอโทษคุณหมอด้วยครับที่ผมทำแบบนี้” ผมเข้าใจวิธีคิดและการกระทำของคุณพ่อ ที่ทำแบบนี้ทั้งหมดก็เพราะความรักลูก ต้องการให้ลูกมีอาการที่ดีขึ้น จึงยอมที่จะเสียค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน

      ถ้าเรามาลองนั่งนึกถึงสาเหตุให้ดีว่าทำไมผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยเชื่อใจหรือเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลของรัฐจะให้การรักษาที่ดี หรืออีกมุมหนึ่ง คือ ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในโรงพยาบาลเอกชนมากกว่ารัฐบาล ผมพอจะนึกออกถึงเหตุผลต่างๆ ดังนี้

      1. การรอคอยคิวตรวจที่นานมากกว่าโรงพยาบาลเอกชน

      2. การบริการของโรงพยาบาลของรัฐที่ไม่สะดวกสบายเท่ากับโรงพยาบาลเอกชน

      3. แพทย์และทีมสุขภาพมีเวลาในการพูดคุย อธิบายอาการเจ็บป่วยให้กับผู้ป่วยและญาติเป็นเวลาสั้นๆ ไม่ค่อยได้มีเวลาพูดคุยกันอย่างละเอียด

      4. การรักษาในโรงพยาบาลของรัฐไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงเข้าใจว่าการรักษาไม่ดี เพราะรักษาฟรี

      5. การแนะนำตัวของแพทย์ และทีมสุขภาพต่างๆ อย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจและรู้จักว่าแพทย์ผู้ทำการรักษาคือใคร มีความชำนาญในโรคที่รักษาโดยเฉพาะ

      อย่างไรก็ตามการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐนั้น ถึงแม้จะมีคิวการตรวจรักษาที่นาน มีความไม่สะดวกสบายเท่ากับโรงพยาบาลเอกชน หรือมีเวลาของแพทย์ที่จะอธิบายกับผู้ป่วยและญาติไม่นานนั้น แต่แพทย์ผู้ให้การรักษาและมาตรฐานในการรักษานั้นไม่ได้แตกต่างกับโรงพยาบาลเอกชน และในบางโรงพยาบาลของรัฐ ผมเชื่อมั่นว่ามีมาตรฐานสูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนด้วยครับ