คุยกับหมอสมศักดิ์ ตอน ช่วยแม่หนูด้วย

somsaktalk-13


      

      

      “คุณหมอค่ะ หนูมีเรื่องรบกวนคุณหมอค่ะ คือว่าแม่เรานอนรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ก่อนหน้านี้แม่ก็เป็นคนไข้ที่รักษากับคุณหมอ แต่อาการไม่ค่อยดี เพราะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย หมอก็แนะนำว่าให้กลับไปรักษาต่อใกล้บ้าน เพื่อการดูแลต่อเนื่องและสะดวกในการรักษา ซึ่งเวลาก็ผ่านมาเกือบปี อาการแม่ก็ค่อยๆ ทรุดลงตามที่หมอเคยบอกไว้ เมื่อวันก่อนอาการแม่ไม่ค่อยดี หายใจไม่ค่อยไหว ไข้ขึ้นสูง อาการไม่ดี พวกเราเป็นห่วงแม่ก็เลยพาไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แล้วก็วางแผนไว้ว่าจะรีบมาพบหมอ เพื่อให้ช่วยรับย้ายแม่จากโรงพยาบาลเอกชนมาที่โรงพยาบาลรัฐที่หมอทำงาน เพื่อดูแลต่อเนื่อง แต่พวกเราไปติดต่อแล้ว ปรากฏว่าเตียงเต็มไม่สามารถรับย้ายได้ ก็จึงต้องมารบกวน ขอร้องคุณหมอให้ช่วยพวกหนูด้วค่ะ เพราะค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนแพงมาก”

      ผมได้ฟังแล้วก็ได้แต่คิดในใจว่า เราจะทำอย่างไรดี เพราะคนไข้ก็ต้องนอนรักษาอีกนาน แต่เตียงในโรงพยาบาลของรัฐก็เต็ม และกรณีแบบนี้จะย้ายมา ก็ต้องเข้าห้อง ไอ ซี ยู เท่านั้น ซึ่งถ้าเตียงไม่มีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ผมจึงได้แต่ตอบลูกสาวผู้ป่วยไปว่า “ หมอเข้าใจและก็เห็นใจพวกเราทุกคนมากครับ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแม่ที่โรงพยาบาลเอกชน แต่หมอก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลยครับ เพราะถ้าเตียงเต็ม ไม่ว่างเลยก็ไม่สามารถย้ายมาได้ เนื่องจากมีอาการหนัก จะย้ายมาแทรกเตียงเหมือนคนไข้รายอื่นๆ ก็ไม่ได้ และยิ่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น หมอไม่ได้ไปรับปรึกษาผู้ป่วยด้วย ก็ไม่รู้จะแนะนำอะไรได้มาก ว่าอาการของแม่หนักแค่ไหน จะรักษาอย่างไร ผมคิดว่าเราน่าจะไปให้หมอที่รักษาอยู่ตอนนี้ สรุปประวัติการรักษาและไปจองเตียงที่โรงพยาบาลของรัฐไว้”

      เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าโรงพยาบาลเอกชนรักษาได้ดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ ยังไม่ไว้ใจโรงพยาบาลใกล้บ้าน และเชื่อว่าหมอในโรงพยาบาลของรัฐจะช่วยในการหาเตียงให้ผู้ป่วยได้ ซึ่งความจริงก็คือ การรักษาในโรงพยาบาลรัฐกับเอกชนนั้น ผมว่าไม่ได้มีความต่างกันในกรณีที่อาการไม่รุนแรง แต่ความสะดวกสบายคงมีมากกว่าที่โรงพยาบาลเอกชน กรณีอาการหนักก็คงขึ้นอยู่กับศักยภาพของสถานพยาบาล และทีมผู้ให้การรักษา โดยปกติโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัดจะมีหมอประจำไม่มากนัก และก็มักจะไม่มีหมอเฉพาะทางโดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องปรึกษาหมอเฉพาะทาง ก็จะปรึกษาหมอเฉพาะทางที่โรงพยาบาลจังหวัดมาร่วมรักษา ดังนั้นคงไม่กล้าสรุปว่ารักษาที่ไหนดีกว่ากัน คงขึ้นกับความพร้อมของโรงพยาบาล ของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค แล้วควรทำอย่างไรเมื่อเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาแน่ๆ

      ผมเห็นว่าสิ่งแรกคือต้องดูว่าเรามีความพร้อมด้านการเงินมากน้อยแค่ไหน ถ้าจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ถ้ามีความพร้อมหรือมีประกันชีวิตที่ครอบคลุมการรักษาโรคนั้นๆ ก็ไม่ต้องเป็นห่วง ถ้ามั่นใจว่าโรงพยาบาลเอกชนเหมาะกับเรามากกว่าก็เลือกเข้ารักษาได้เลย แต่ถ้าเราไม่พร้อมผมยังเห็นว่าโรงพยาบาลของรัฐในปัจจุบันก็มีการพัฒนาไปอย่างมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็มากขึ้น ความสะดวกสบายก็มีมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็ไม่ต้องเสีย เชื่อผมเถอะครับว่าโรงพยาบาลของรัฐยังเป็นที่พึ่งยามเจ็บป่วยได้ครับ