กินของดิบ เสี่ยงถูกพยาธิกิน (ตอนที่ 5)

parasite-5

      

      ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน ได้แก่

  • อายุ – ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี เพราะชอบเล่นกับสิ่งสกปรก
  • มีสุขอนามัยที่ไม่ดี (Poor sanitation) – เช่น ในประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้อุจจาระมีการปนเปื้อนในดิน

      กรณีที่มีอาการอ่อนมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้ามีการติดเชื้อมาก ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น

  • โตช้า – เพราะเบื่ออาหาร อาหารไม่ดูดซึม ทำให้ได้รับสารอาหารไม่พอเพียง
  • ลำไส้อุดตันและทะลุ (Intestinal blockage and perforation) – ทำให้ปวดท้องรุนแรงและอาเจียน เลือดออกในลำไส้ (Hemorrhage) หรือ ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) บริเวณตับหรือตับอ่อน

      การป้องกันโรคพยาธิไส้เดือนที่ดี ก็คือ การมีสุขอนามัยที่ดี ด้วยการ

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำก่อนกินอาหาร
  • ต้มน้ำดื่ม
  • หลีกเลี่ยงสถานที่อาบน้ำที่ไม่สะอาด
  • ปรุงผักให้สุก หรือปอกเปลือกผลไม้ออกก่อนกิน

      ในการวินิจฉัยโรค กรณีที่มีพยาธิไส้เดือนเป็นจำนวนมาก เป็นไปได้ที่เราจะพบตัวพยาธิในสิ่งที่ไอหรืออาเจียนออกมา หรือ พยาธิอาจออกมาทางอวัยวะที่มีลักษณะเป็นรู เช่น ปาก หรือ รูจมูก ก็ให้นำเอาตัวพยาธินี้ไปให้แพทย์ตรวจสอบว่าเป็นพยาธิชนิดใด เพื่อจะได้ทำการรักษาให้ถูกต้อง

      นอกจากนี้ อาจวินิจฉัยโรคด้วยการ

  • ตรวจอุจจาระ (Stool tests) ซึ่งจะต้องรอหลังการติดเชื้อไปแล้วอย่างน้อย 40 วัน จึงจะตรวจพบ
  • ตรวจเลือดเพื่อหาเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า Eosinophils ที่มีเพิ่มมากขึ้น
  • ภาพวินิจฉัย (Imaging tests) เช่น
  • การเอ็กซเรย์ – ซึ่งอาจจะทำให้เห็นถึงพยาธิไส้เดือนที่อยู่ในช่องท้อง หรือตัวอ่อนที่อยู่ในปอด
  • อัลตราซาวด์ – ที่อาจจะทำให้เห็นพยาธิในบริเวณตัวอ่อนหรือตับ
  • ซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอ – เพื่อดูการอุดตันของท่อที่ตับหรือตับอ่อน

      สำหรับการรักษานั้น ตามปกติจะรักษาเฉพาะกรณีที่ก่อให้เกิดอาการด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิที่นิยมใช้ ซึ่งได้แก่

  • ยา Albendazole
  • ยา Ivermectin
  • ยา Mebendazole

      โดยจะให้กินยาเป็นเวลา 1-3 วัน เพื่อฆ่าพยาธิ ทั้งนี้ อาจมีผลข้างเคียง คือ ปวดท้องหรือท้องเสีย

      ส่วนกรณีที่มีพยาธิเป็นจำนวนมากอาจจำเป็นต้องเอาพยาธิออกด้วยการผ่าตัดและซ่อมแซมอวัยวะบริเวณนั้น เช่น กรณีลำไส้อุดตันหรือทะลุ กรณีท่อน้ำดีอุดตัน และกรณีไส้ติ่งอักเสบ

แหล่งข้อมูล:

  1. Ascariasis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ascariasis/symptoms-causes/syc-20369593 [2018, May 24].
  2. Ascariasis.https://www.healthline.com/health/ascariasis [2018, May 24].